นครราชสีมา เปลี่ยนวิกฤตภัยแล้งสร้างโอกาส ชาวบ้านตำบลสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย ใช้เวลาว่างออกแหย่ไข่มดแดง สร้างขายได้สูง กิโลกรัม 500 บาท
26 เมษายน 2565 – ชาวบ้านตำบลสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ได้ออกแหย่ไข่มดแดงตามถนนในหมู่บ้าน หลังจากว่างเว้นการทำนาปรังช่วงหน้าแล้ง
นางสุนัน พิมพ์คราม อายุ 53 ปี ชาวบ้านต.สัมฤทธิ์ กล่าวว่า ไข่มดแดงที่จำหน่ายในท้องตลาดมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 500-700 บาท ช่วงหน้าแล้ง มดแดงมักจะสร้างรังอยู่บนต้นไม้เป็นจำนวนมาก
ชาวบ้านจึงพากันตระเวนออกหาแหย่ไข่มดแดงไปขาย ซึ่งราคาไข่มดแดงจะสูงตามขนาดของไข่ เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด บางวันหาได้มากสุด 2-5 กิโลกรัม คิดเป็นเงินประมาณ 1,000 – 1,500 บาท
ส่วนอุปกรณ์ใช้แหย่ไข่มดแดง จะเป็นไม้ไผ่ลำยาวๆ ผูกติดกับถังน้ำหรืออุปกรณ์อื่นๆ ตามแต่ถนัด ก่อนแหย่ให้รังมดแดงแตก ไข่มดแดงจะร่วงหล่นลงมาในถัง ส่วนการคัดแยกจะใช้วิธีใส่แป้งมันไปในสวิง เพื่อให้แม่มดแดงที่หวงไข่วิ่งหนี
ช่วงนี้ไข่มดแดงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก เพราะหารับประทานได้ยาก และร้านอาหารป่ามักนำไปปรุงเป็นเมนูต่างๆ เช่น ก้อยไข่มดแดง แกงผักหวานใส่ไข่มดแดง ไข่เจียวไข่มดแดง และอีกสารพัดเมนู แล้วแต่จะนำไปดัดแปลง
ในช่วงหน้าแล้งนี้ จึงทำให้ตนและครอบครัว มีรายได้จากการแหย่ไข่มดแดงขายได้เป็นอย่างดี