หากนักเตะระดับพรีเมียร์ลีก หยิบกล้อง GoPro ขึ้นมาถ่าย Vlog ระหว่างซ้อม ตอนแข่ง และในช่วงเวลาว่างของเขา มันจะเป็นอย่างไร?
ไม่ต้องจินตนาการนึกภาพกันให้นาน เพราะว่า เบน ฟอสเตอร์ เจ้าของช่อง “Ben Foster – The Cycling GK” ที่มีผู้กดติดตามเกือบ 8 แสนคน เขาได้ทำสิ่งนั้นมาแล้วตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าตัวกำลังเป็นผู้รักษาประตูอาชีพให้กับสโมสร วัตฟอร์ด ลงเล่นใน ลีกแชมเปี้ยนชิพ จนเลื่อนชั้นมาสู่ลีกสูงสุดได้สำเร็จในฤดูกาลนี้
มาย้อนดูชีวิตอันพลิกผันของนายด่านวัย 38 ปี จากอดีตตัวตายตัวแทนของ เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ สู่การเป็นยูทูบเบอร์ ผู้มียอดติดตามมากกว่าช่องอย่างเป็นทางการของสโมสรเสียอีก
ว่าที่มือหนึ่งทีมชาติ
เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 2006 ว่า “เบน จะเป็นโกลมือหนึ่งของทีมชาติอังกฤษ ไม่เร็วก็ช้า”
ฟอสเตอร์ ถูกดึงตัวจาก สโต๊ก ซิตี้ เข้ามาสู่รั้วโอลด์ แทรฟฟอร์ด เมื่อปี 2005 ด้วยค่าตัว 1 ล้านปอนด์ หลังจากฟอร์มของโกลดาวรุ่งวัย 21 ปีในตอนนั้น ไปเข้าตาบิ๊กบอสแห่ง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ระหว่างถูกยืมตัวมาเล่นให้กับ เร็กซ์แฮม ทีมในลีกระดับสามของประเทศ ที่เผอิญมี ดาร์เรน เฟอร์กูสัน ลูกชายของท่านเซอร์อยู่ในทีมด้วยพอดี
ในฤดูกาลแรกกับทัพปีศาจแดง ฟอสเตอร์ ถูกส่งไปลับคมกับ วัตฟอร์ด ทีมในระดับ ลีกแชมเปี้ยนชิพ ที่เจ้าตัวโชว์ฟอร์มได้อย่างน่าประทับใจ ถึงขั้นที่ ไอดี้ บูธรอยด์ ผู้จัดการทีมในตอนนั้นเคยบอกว่า “เขาเก่งกว่า เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ ผู้รักษาประตูมือ 1 คนปัจจุบันของ แมนฯ ยูไนเต็ด เสียอีก”
ฟอสเตอร์ ได้รับโอกาสพิสูจน์ฝีมือในเวที พรีเมียร์ลีก เป็นครั้งแรก หลังเป็นส่วนหนึ่งในการพาทัพแตนอาละวาด เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดได้สำเร็จ แม้ว่าเจ้าตัวจะโดนรับน้องจากลูกยิง 80 หลาของ พอล โรบินสัน ผู้รักษาประตู ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ ที่กะเปิดยาว แต่บอลเด้งพื้นลอยข้ามหัวเข้าประตูไปเมื่อเดือนมีนาคม 2007 แต่ ฟอสเตอร์ ก็ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ จนรับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมของสโมสร และถูกดึงตัวกลับสู่ แมนฯ ยูไนเต็ด เพื่อหวังปั้นขึ้นมาทดแทน ฟาน เดอร์ ซาร์ ที่กำลังโรยราลงไป
น่าเสียดายที่เจ้าตัวโดนอาการบาดเจ็บเอ็นหลังหัวเข่าขวาเล่นงานทันทีที่กลับมาถึงแมนเชสเตอร์ จนต้องพักไปนานกว่า 8 เดือน ก่อนจะค่อย ๆ ได้กลับมาลงเล่นให้กับทีมสำรอง เพื่อเรียกจังหวะฟุตบอลให้กลับมาอีกครั้ง
แม้จะถูกวางแผนระยะยาวไว้ให้ขึ้นมาเป็นตัวตายตัวแทนของมือกาวชาวดัตช์ แต่ทั้งอาการบาดเจ็บที่คอยรุมเร้า กอปรกับความผิดพลาดในช่วงต้นฤดูกาล 2009-10 ทำให้ท่านเซอร์ตัดสินใจดัน โทมัสซ์ คุสซ์แซค กับ เบน เอมอส ขึ้นมาใช้งานแทน
ทำให้ ฟอสเตอร์ ต้องตามหาโอกาสลงเล่นอีกครั้ง ด้วยการย้ายไปร่วมทีม เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ตามด้วยการยึดตำแหน่งมือหนึ่งของ เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน มานานกว่า 7 ฤดูกาลเต็ม ก่อนที่จะถูก วัตฟอร์ด ดึงตัวมาร่วมทีมอีกครั้ง และกลายเป็นสังกัดล่าสุดของเจ้าตัว
ถึงเจ้าตัวจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน กับการเป็นนายทวารตัวจริงของทีมชาติอังกฤษ แต่ ฟอสเตอร์ ก็ได้ลงเล่นกับทัพสิงโตคำรามไปทั้งสิ้น 8 นัด ซึ่งรวมถึงโอกาสลงเล่นในฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้ายไป 1 นัด โดยเจ้าตัวไม่อาจยึดตำแหน่งมือหนึ่งได้เหมือนกับที่ท่านเซอร์คาดหวังไว้ และยังคงอยู่ใต้ร่มเงาของผู้เล่นอย่าง โจ ฮาร์ท, เดวิด เจมส์, โรเบิร์ต กรีน จนตัดสินใจยุติบทบาทกับทีมชาติไป หลังฟุตบอลโลกครั้งดังกล่าวจบลง
เจ้าพ่อนวัตกรรม
แม้เส้นทางในฐานะผู้เล่น อาจไม่เป็นที่จดจำมากนัก แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมา เจ้าตัวได้กลายเป็นผู้นำเทรนด์ด้านเทคโนโลยีประจำลีกมาโดยตลอด
เริ่มจากนัดชิงชนะเลิศลีกคัพกับ ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ เมื่อเดือนมีนาคม 2009 ฟอสเตอร์ ได้รับความไว้วางใจจาก เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ให้ออกสตาร์ตเป็นผู้รักษาประตูตัวจริง และเจ้าตัวก็ตอบแทนโอกาสดังกล่าว ด้วยการเก็บคลีนชีต พร้อมกับเซฟลูกโทษของ เจมี่ โอฮาร่า ได้สำเร็จ จนช่วยให้ แมนฯ ยูไนเต็ด สามารถคว้าแชมป์ถ้วยลีกคัพมาได้หลังชนะในการดวลจุดโทษ
ฟอสเตอร์ ถูกจับภาพได้ว่าเจ้าตัวกำลังใช้ iPod ช่วงก่อนเริ่มการยิงลูกโทษ ซึ่งมีการเปิดเผยในภายหลังว่า อีริก สตีล โค้ชผู้รักษาประตูของทีม ได้นำภาพการยิงจุดโทษของผู้เล่น สเปอร์ส โหลดลงใน iPod เครื่องดังกล่าว ก่อนจะช่วยให้มือกาวรายนี้กลายเป็นฮีโร่ได้สำเร็จ
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2009 เป็นยุคที่ iPhone ยังเป็นนวัตกรรมที่ใหม่มาก ๆ และ iPad ยังไม่ถือกำเนิดขึ้นมา จึงแทบเรียกได้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนร่วมกับฟุตบอลระดับอาชีพเลยก็ว่าได้
ด้วยความเป็นผู้นำเทรนด์ด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว จึงแทบไม่แปลกใจเลยเมื่อเจ้าตัวได้ตัดสินใจเริ่มเปิดช่องยูทูบของตนขึ้น ระหว่างที่ COVID-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วทวีปยุโรป อันส่งผลให้ฟุตบอลลีกจำต้องหยุดพักไปอย่างไม่มีกำหนด
เดือนตุลาคม 2020 ช่อง “Ben Foster – The Cycling GK” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ และที่เหลือก็คือตำนานที่ยังดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน
ยูทูบเบอร์ระดับพรีเมียร์ลีก
ยูทูบ คือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สโมสรฟุตบอลทั้งหลายต่างพยายามสร้างคอนเทนต์ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มคนดูมานานพอสมควรแล้ว
ไฮไลต์การแข่งขัน บทสัมภาษณ์นักเตะและผู้จัดการทีม ไปจนถึงภาพเบื้องหลังแบบ Exclusive ต่างเป็นกลวิธีที่แต่ละทีมนำมาใช้ เพื่อช่วยในการกระจายเนื้อหาของพวกเขาออกสู่สายตาคนดูให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม นักฟุตบอลอาชีพอย่าง ฟอสเตอร์ ได้ตัดสินใจเปิดช่องยูทูบของตน พร้อมกับเป็นผู้รับผิดชอบเนื้อหาส่วนมากด้วยตนเอง โดยเฉพาะด้านการถ่ายทำ ที่เจ้าตัวเป็นคนเก็บฟุตเทจเกือบทั้งหมดในช่อง ผ่านกล้อง GoPro คู่ใจของตน เพื่อให้แฟนบอลที่ไม่อาจเดินทางมาชมเกมในสนามจากสถานการณ์ COVID-19 เมื่อปี 2020 ได้รับชมบรรยากาศเบื้องหลังจากหน้าจอที่บ้านได้ ซึ่งถือเป็นมุมมองอันแปลกใหม่ สำหรับวงการฟุตบอลอาชีพอย่างแท้จริง
ก่อนหน้านี้ เรื่องราวชีวิตของนักฟุตบอล มักถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะอย่างจำกัด นอกจากผลงานในสนาม ภาพการฝึกซ้อม กับการสิ่งที่อยากโพสต์บนโซเชียลมีเดียแล้ว ก็แทบไม่เคยมีใครได้รู้จักกับกิจวัตรประจำวันหรือบรรยากาศการเตรียมตัวก่อนวันแข่งขันของพวกเขามาก่อนเลย
การได้เห็นภาพจากหลังโกลประตู ควบคู่ไปกับการสัมผัสเสียงต่าง ๆ ในสนาม ทั้งคำสั่งจาก ฟอสเตอร์ ต่อผู้เล่นแผงหลัง หรือรีแอ็กชันจากผู้เล่นเกมรุกขณะกำลังทำเกมขึ้นมาลุ้นประตู ไปจนถึงภาพเบื้องหลังการเดินทางมาสู่สนาม อาหารมื้อเช้าในวันที่ลงแข่งขัน กลายเป็นคอนเทนต์รูปแบบใหม่ ที่สามารถเข้าถึงคนดูได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ GoPro จากมุมหลังโกล ก็ต้องแลกมาด้วยการทำข้อตกลงกับทางฟุตบอลลีกอังกฤษ หรือ EFL ผู้ควบคุมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพระดับรอง (ลีกแชมเปี้ยนชิพ, ลีกวัน, ลีกทู) ที่มอบสิทธิ์การถ่ายทำฟุตเทจดังกล่าวให้กับนายทวารรายนี้ แลกกับการต้องนำรายได้จากคลิปในยูทูบ ไปบริจาคให้กับ MIND หน่วยงานการกุศลด้านสุขภาพจิตของทาง EFL แทนการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ หรือโดนยิงคลิปให้ปลิวนั่นเอง
ทีนี้ คำว่า “Cycling GK” ต่อท้ายอยู่หลังชื่อช่อง ก็เป็นการระบุถึงความชอบส่วนตัวของโกลวัย 38 รายนี้ ที่อาศัยการปั่นจักรยาน เป็นทั้งการออกกำลังกายยามว่าง ฟื้นฟูสภาพร่างกายจากอาการบาดเจ็บหนัก และเยียวยาจิตใจของตน เมื่อต้องเผชิญทั้งช่วงขึ้นและลงของชีวิตการค้าแข้ง จนได้หล่อหลอมมาเป็นกิจวัตรประจำวันของเขา แถม ฟอสเตอร์ ยังมีแอบเปรยไว้ว่านี่อาจเป็นเส้นทางอนาคตของตน ในวันที่อำลาวงการลูกหนังไปด้วย
เมื่อนำปัจจัยความดึงดูดของเนื้อหา มารวมเข้ากับนิสัยส่วนตัวของ ฟอสเตอร์ ที่ดูมีความเข้าถึงได้ง่าย จึงไม่แปลกที่เจ้าตัวจะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยมียอดผู้ติดตามมากกว่า 782,000 คน และมีการดูมากกว่า 43 ล้านครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 12 กันยายน 2021) หลังจากเปิดช่องมาได้ไม่ถึง 1 ปีเลยด้วยซ้ำ
ตัวเลขดังกล่าว ยังแซงหน้าช่องอย่างเป็นทางการของสโมสรวัตฟอร์ด ที่แม้จะมีอายุมานานกว่า 9 ปีแล้ว ก็ยังมียอดผู้ติดตามอยู่ที่ 131,000 คน กับการดูรวม 26 ล้านครั้งเท่านั้น จนกลายเป็นมีมล้อเลียนกันว่า “ไม่มีใครใหญ่กว่าสโมสร ยกเว้นช่อง The Cycling GK ของ ฟอสเตอร์” เลยทีเดียว
แม้เส้นทางการค้าแข้งของ ฟอสเตอร์ อาจไม่ได้โด่งดังเป็นพลุแตก หรือก้าวขึ้นไปเป็นนายด่านแถวหน้าของโลก จากการต้องต่อสู้กับเอ็นร้อยหวายฉีกขาดถึง 3 ครั้งในช่วงวัยรุ่น แต่ในช่วงบั้นปลายของชีวิตนักฟุตบอลอาชีพ เจ้าตัวก็ได้ค้นพบกับเส้นทางใหม่ของตน ที่สามารถดำเนินควบคู่ไปกับอาชีพในฝันของตัวเองได้
คงเหลือเวลาอีกไม่นาน ก่อนที่ผู้รักษาประตูวัย 38 ปีนี้ จะต้องแขวนถุงมือของเขา และก็คงอีกไม่นานเช่นกัน ที่ ฟอสเตอร์ จะมีปุ่มทอง สัญลักษณ์ยอดผู้ติดตามในยูทูบ 1,000,000 คน มาประดับบ้านเขา เคียงข้างกับปุ่มเงิน สัญลักษณ์ยอดผู้ติดตามในยูทูบ 100,000 คน และเหรียญรางวัลต่าง ๆ ตลอดชีวิตการค้าแข้งของตนได้สำเร็จ