เบนาย VS เบียตาร์ : สงครามตัวแทนระหว่าง "ปาเลสไตน์-อิสราเอล" บนสนามฟุตบอล

Home » เบนาย VS เบียตาร์ : สงครามตัวแทนระหว่าง "ปาเลสไตน์-อิสราเอล" บนสนามฟุตบอล

อิสราเอล กับ ปาเลสไตน์ จัดเป็นสองชาติคู่อริที่มีความขัดแย้งต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 7 ทศวรรษ นับตั้งแต่ที่ อิสราเอล ก่อตั้งขึ้นประเทศขึ้นในปี ค.ศ. 1948 ที่ประเทศอิสราเอลก่อตั้งขึ้น โดยขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่

สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือ ความเปราะบางที่ทำให้เกิดสงครามของสองเชื้อชาติ ที่พร้อมมีชนวนให้ปะทุกันได้ตลอดเวลา ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน

ความขัดแย้งไม่ได้หยุดแค่บนสนามรบ แต่แผ่อิทธิพลมาถึงสนามฟุตบอล ที่กลายเป็นพื้นที่ปะทะของอุดมการณ์ ระหว่างชาวอาหรับที่เรียกร้องความเป็นธรรม กับชาวยิวขวาจัดที่ต้องการทำลายศัตรูให้สิ้นซาก

เบนาย ซัคนิน และ เบียตาร์ เยรูซาเล็ม จึงกลายเป็นดาร์บี้แมทช์ดุเดือดที่สุดของอิสราเอล  เพราะนัยหนึ่งการต่อสู้ของสองทีมเปรียบเสมือนสงครามตัวแทนขนาดหย่อมของสองเชื้อชาติบนผืนหญ้า

กำเนิดอิสราเอล 

หากจะขุดให้ถึงต้นตอของเรื่องราวความบาดหมางระหว่างอิสราเอล กับปาเลสไตน์ กินเวลามายาวนาน ซึ่งต้องย้อนไปถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 19

ช่วงเวลานั้น ชาวยิวในทวีปยุโรปได้รวมกลุ่มกัน เรียกร้องขอดินแดนที่เรียกว่า “ปาเลสไตน์” อันเป็นพื้นที่ขนาดเล็กประมาณ 20,000 ตารางกิโลเมตร มาตั้งเป็นประเทศของคนนับถือศาสนายิว


Photo : nationsonline.org

 

เหตุผลที่ชาวยิวต้องการพื้นที่ตรงนี้ เพราะเชื่อว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากเป็นแหล่งที่ตั้งของ “เยรูซาเล็ม” เมืองต้นกำเนิดของศาสนายิว (ยูดาห์) 

โครงการเรียกคืนแผ่นดินมาตุภูมิของชาวยิว ไม่ได้เกิดขึ้นแบบสนุก ๆ แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่จริงจัง มีแผนการชัดเจน ทั้ง การปลุกอุดมการณ์ความรักในเชื้อชาติยิวให้กระจายไปทั่วยุโรป

สร้างองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่งคนไปแทรกอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอำนาจจะจัดการชิงพื้นที่นี้ มาคืนให้กับชาวยิว

พื้นที่ปาเลสไตน์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (ประเทศตุรกี ปัจจุบัน) แต่หลังจากประเทศที่เกรียงไกรที่สุดของชาวอิสลาม พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถูกยึดดินแดนจำนวนมาก แผ่นดินแห่งนี้ก็เปลี่ยนมือตกอยู่ใตอาณานิคมของอังกฤษ 

เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษเปิดฉากต่อสู้กับจักรวรรดิออตโตมันอย่างหนัก จนกลายเป็นความแค้นฝังลึกระหว่างสองชาติ ซึ่งผู้ชนะจากยุโรปตะวันตก ต้องการจะปิดฉากไม่ให้คู่ปรับเก่าฝั่งตะวันออก คิดเหิมเกริมกลับมาเป็นหอกข้างแคร่ได้อีก

 

อังกฤษ เลือกใช้วิธีบ่อนทำลายออตโตมัน ด้วยวิธีการทางศาสนา นั่นคือส่งยิวไปสู้กับอิสลาม ด้วยการลงนามสนธิสัญญาส่งชาวยิวที่อาศัยอยู่ในยุโรป ไปตั้งรกรากในพื้นที่ปาเลสไตน์ โดยทหารจากแดนผู้ดีจะให้การคุ้มครองว่า จะไม่มีเจ้าถิ่นเดิมกล้ามาทำร้ายคนยิวอพยพแน่นอน


Photo : flashbak.com

นับตั้งแต่ปี 1920 ถึง 1948 ที่อังกฤษครอบครองปาเลสไตน์ มีชาวยิวกว่า 500,000 คนทั่วโลก เดินทางตั้งรกรากในพื้นที่นี้ โดยเฉพาะยิ่งภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนาซีกวาดล้างยิวจนล้มตายไปกว่า 6 ล้านคน ยิ่งปลุกให้คนยิวต้องการดินแดน เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยของตนเองมากขึ้นกว่าเดิม

ปี 1947 สหประชาชาติมีมติลงความเห็นว่าจะยกพื้นที่ปาเลสไตน์ให้กับชาวยิวโดยสมบูรณ์ อนุญาตให้กลายเป็นรัฐปกครองตัวเอง ตั้งประเทศขึ้นมาได้ 

เหตุผลที่มาสนับสนุนการตั้งประเทศของชาวยิว ไม่ใช่เพราะชาติมหาอำนาจโลก เห็นอกเห็นใจความโชคร้ายที่คนยิวต้องเจอในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เป็นเพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชาวอาหรับตั้งตนเป็นศัตรูกับโลกตะวันตก

 

ทั้งการเปิดสงครามกับทหารอังกฤษ ในช่วงปี 1936-1939 เพื่อชิงพื้นที่อาณานิคมของชาวอาหรับคืน ไปจนถึงการที่ชาติในเอเชียตะวันออกกลาง ไม่ให้ความร่วมมือแก่ฝั่งสัมพันธมิตร ระหว่างรบต่อสู้กับนาซี ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แถมมีแนวคิดฝักใฝ่รัฐเผด็จการอีกด้วย

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ชาติตะวันตกที่กำชัยชนะจึงคิดหาทางเอาคืน พร้อมกับหารัฐกันชนคอยควบคุมเหล่าชาติอาหรับ ซึ่งคำตอบที่ดีที่สุดคือการชิงดินแดนมาให้ชาวยิว


Photo : aymplaying.wordpress.com

สหประชาชาติ ได้ส่งกองกำลัง ขับไล่ชาวอาหรับทุกคนออกจากดินแดนปาเลสไตน์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1947 เกิดเป็นสงครามกับกลุ่มนักรบท้องถิ่นชาวปาเลสไตน์ ที่ต้องการรักษาบ้านเกิดของตัวเองเอาไว้

“น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ” การรบครั้งนั้นชัยชนะตกเป็นของโลกตะวันตก ชาวยิวได้ของรางวัลเป็นดินแดนแห่งนี้ ตั้งประเทศของตัวเองขึ้นมาในชื่อ “อิสราเอล” ในวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 ส่วนชาวอาหรับพื้นถิ่นเดิม จากดินแดนปาเลสไตน์กลายเป็นผู้ลี้ภัย เพราะไม่เหลือสิ้นบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง

 

สงครามระหว่างอิสราเอล กับชาวปาเลสไตน์ดั้งเดิม จึงเกิดขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา เพื่อแย่งชิงดินแดนที่ทั้งสองฝ่ายเรียกว่า “บ้าน” และไม่มีฝั่งไหนยอมเลิกรา จนกว่าจะตายสิ้นกันไป

ทีมตัวแทนชนกลุ่มน้อยอาหรับ 

ความขัดแย้งระหว่างคนทั้งสองชนชาติ ฝังรากลึกมายาวนานกว่า 70 ปี ด้วยปัญหาความแตกต่างด้านเชื้อชาติและศาสนา จึงไม่แปลกที่ประเด็นเหล่านี้ จะลามออกจากเวทีการเมือง สู่วงการกีฬา โดยเฉพาะ ฟุตบอล

เพราะความแตกต่างทางสังคม คือสิ่งถูกปากของเกมลูกหนัง ดึงเรื่องราวเหล่านี้มาสร้างเป็นคู่ปรับ (Rivals) ทำให้การเจอกันของ 2 ทีม ที่อาจแตกต่างกันด้วย ชนชั้น, ภูมิศาสตร์ที่ตั้งสโมสร, ศาสนา, ฯลฯ สามารถกลายเป็นเกมดาร์บี้ที่ดุเดือดเลือดพล่าน ในโลกฟุตบอล


Photo : outsideoftheboot.com

วงการลูกหนังอิสราเอล จึงไม่มีดาร์บี้แมทช์คู่ไหนจะเดือดไปกว่า “เบนาย ซัคนิน” ทีมฟุตบอลของชาวอาหรับ ปะทะกับ “เบียตาร์ เยรูซาเล็ม” สโมสรของคนยิวคลั่งชาติ

รากฐานของทั้งสองสโมสรต่างกันโดยสิ้นเชิง … สำหรับ เบนาย ซัคนิน ก่อตั้งขึ้นในปี 1991 ที่เมืองซัคนิน พื้นที่ของผู้แตกต่าง อันเป็นถิ่นอาศัยของชาวอาหรับในอิสราเอล

ด้วยเหตุนี้ สโมสรจึงได้รับการสนับสนุนจากชาวอาหรับ เป็นความภูมิใจของคนนับถือศาสนาอิสลามผ่านเกมลูกหนัง กลายเป็นหนึ่งในทีมที่แฟนบอลติดตามมากทีมหนึ่งในอิสราเอล

ความสัมพันธ์อันดี ระหว่างสโมสรกับชาวอาหรับ ทำให้ เบนาย ซัคนิน กลายเป็นมิตรกับชาวปาเลสไตน์ไปด้วย ถึงขั้นที่ว่าทีมเปิดรับพร้อมดึงนักฟุตบอลฝีเท้าดีชาวปาเลสไตน์เข้าสู่ทีม โดยไม่เกรงกลัวปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา

อุดมการณ์ที่ชัดแน่วแน่ กับการต่อสู้เพื่อชนกลุ่มน้อย สิทธิของชาวอาหรับในอิสราเอล ส่งผลให้ เบนาย ซัคนิน กลายเป็นพันธมิตรกับ เอฟซี ซังค์ เพาลี สโมสรฟุตบอลซ้ายจัดแห่งเยอรมนี ผ่านความสัมพันธ์อันดีระหว่างแฟนบอลทั้งสองทีม

เบนาย ซัคนิน คือสโมสรฟุตบอลที่มีอุดมการณ์ยืนอยู่ฝั่งซ้าย ไม่ใช่เรื่องแปลกหาก เบียตาร์ เยรูซาเล็ม จะเป็นทีมคู่ปรับของพวกเขาโดยตรง เพราะสโมสรแห่งนี้มีแนวคิด ขวาจัดของชาวยิวชาตินิยม พร้อมจะเล่นงานคนอาหรับให้ไม่มีที่ยืน แม้กระทั่งในโลกฟุตบอล


Photo : footballrepublik.com

เบียตาร์ เยรูซาเล็ม ก่อตั้งในปี 1936 ก่อนประเทศอิสราเอลถือกำเนิดด้วยซ้ำ โดยเป็นการรวมกลุ่มของชาวยิวที่อพยพมาอาศัยในเมืองเยรูซาเล็ม 

ช่วงแรกเริ่มของสโมสร เบียตาร์ ได้แสดงถึงความหัวรุนแรงทางการเมือง เพราะนักเตะของทีมมักก่อเรื่องเป็นประจำ ยามต้องเจอกับคู่แข่งที่มีเชื้อสายไม่ใช่ชาวยิว พวกเขามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มยิวใต้ดิน ซึ่งปฏิบัติการใช้ความรุนแรง เล่นงานชาวอาหรับ ในช่วงก่อนประเทศอิสราเอลจะก่อตั้งขึ้น

แนวคิดสุดโต่งของ เบียตาร์ แปรเปลี่ยนกลายเป็นวัฒนธรรมของสโมสรที่ฝังรากลึก พวกเขาไม่เคยเซ็นสัญญานักเตะที่เป็นชาวอาหรับเลย 

กระทั่งในปี 2013 เบียตาร์ ยอมแหวกธรรมเนียมของตัวเอง เพราะเจ้าของใหม่ลูกครึ่งรัสเซีย-อิสราเอล นามว่า อาคาดี กายดามัก มีไอเดียที่อยากเปิดตลาดใหม่ จึงจัดการเซ็นสัญญา 2 ผู้เล่นมุสลิมเชื้อสายเชซเนียร์อย่าง ซาอุร์ ซาดาเยฟ กับ กาเบรียล คาดิเยฟ มาร่วมทีม 

ดีลดังกล่าวสร้างความไม่พอใจอย่างแก่แฟนบอลอย่างมาก กระแสต่อต้านรุนแรงตั้งแต่ช่วงปรีซีซั่น  พวกเขารวมตัวกันไปเกาะรั้วสนามซ้อม ตะโกนด่าทอ 2 นักเตะมุสลิมรายใหม่ ใช้คำพูดเหยียดหยามสารพัด รวมถึงข่มขู่ว่าต้องการสงคราม 

ตลอดช่วงที่ค้าแข้งให้กับ เบียตาร์ ทั้ง ซาดาเยฟ กับ คาดิเยฟ ไม่เคยเป็นที่รักของแฟนบอลเลย แม้แต่ในช่วงฤดูกาลแข่งขัน มีนัดหนึ่ง ซาดาเยฟ ทำประตูให้ทีมขึ้นนำคู่แข่ง แต่แทนที่ทุกคนในสนามจะเฉลิมฉลอง แฟนบอลจำนวนมากกลับเดินออกจากอัฒจันทร์ พร้อมตะโกนคำสาปแช่ง

สุดท้าย 2 ผู้เล่นมุสลิมก็ไม่อาจอยู่กับต่อไปได้ โดยเรื่องราวนี้เคยถูกนำมาทำเป็นสารคดีเรื่อง Forever Pure ลงทาง Netflix ด้วย 

นอกจากนี้ แฟนบอลของเบียตาร์ขึ้นชื่ออย่างมากกับการไล่กระทืบแฟนบอลชาวอาหรับ “ความตายสำหรับพวกอาหรับ” คือสโลแกนของแฟนบอลทีมนี้ และพวกเขาภูมิใจอย่างมากกับการถูกสื่อยกให้เป็น สโมสรฟุตบอลที่เหยียดเชื้อชาติมากที่สุดของอิสราเอล

ขณะที่ เบนาย ซัคนิน เป็นทีมฟุตบอลของชนกลุ่มน้อย เบียตาร์ เยรูซาเล็ม คือสโมสรที่ทรงอำนาจมากที่สุดในประเทศ เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ของอิสราเอล รวมถึง เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอิสราเอล ก็เป็นแฟนบอลเดนตายของทีมยิวขวาจัดด้วยเช่นกัน

ชาวยิวจำนวนไม่น้อยชื่นชอบแนวคิด “เลือดบริสุทธิ์” ที่เบียตาร์นำมาใช้ ไม่ยอมให้คนอาหรับเข้ามาเล่นในทีม ด้วยเหตุนี้ การเหยียดเชื้อชาติผ่านเกมฟุตบอลที่อิสราเอล จึงเกิดขึ้นโดยไม่ได้รับการแก้ไข

เบียตาร์ เยรูซาเล็ม จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับ เบนาย ซัคนิน เพราะขณะที่ทีมหนึ่งต้องการจะแสดงให้เห็นความภูมิใจของชาวอาหรับ อีกฝั่งเต็มใจที่จัดการให้คนต่างเชื้อชาติ และศาสนา ไม่มีที่ยืนแม้กระทั่งในเกมฟุตบอล

เป็นมากกว่าฟุตบอล

นับตั้งแต่ปี 2004 ที่ เบนาย ซัคนิน เลื่อนสู่ลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร เบียตาร์ เยรูซาเล็ม ประกาศตัวเป็นคู่แค้นไม่เผาผีทันที การทะเลาะวิวาทระหว่างแฟนบอลทั้งสองทีมคือเรื่องที่เห็นได้บ่อยครั้ง แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่า ไม่ใช่การต่อสู้กันผ่านเกม ฟุตบอลแต่เป็นเรื่องนอกสนาม


Photo : twitter.com/France24_fr

เบียตาร์ เยรูซาเล็ม เคยกุมอำนาจสื่อ และมวลชนเอาไว้ในอดีต แนวคิดอนุรักษ์นิยมทางเชื้อชาติทำให้สโมสรมีอำนาจมากเหนือเกมฟุตบอล กระทำเรื่องแย่ ๆ ทั้งการเหยียดเชื้อชาติ ในและนอกสนามแข่ง, ล็อบบี้สื่อให้ลงข่าวโจมตีใครก็ตามที่เป็นชาวอาหรับ ที่มีความเกี่ยวข้องกับฟุตบอลอิสราเอล

รวมถึงทำร้ายร่างกาย แฟนบอลชาวอาหรับ หรือใครก็ตามที่ทำให้พวกเขาขัดใจ แต่ก็ทีมยังคงอยู่โดยไม่เคยเจอการลงโทษขึ้นร้ายแรง 

“ผมไม่เคยแปลกใจเลยว่า เหตุใดเบียตาร์คือสโมสรยอดนิยมแห่งเยรูซาเล็ม เพราะทีมนี้ดำรงไว้ซึ่งคุณค่าที่ต่างจากทีมอื่น นั่นคือความรักในผู้คน และประเทศอิสราเอล นี่คือทีมที่ควรได้รับการชื่นชม” 

นี่คือคำพูดจากปาก อาวิกดอร์ เลียบอร์แมน นักการเมืองขวาจัดชื่อดังของอิสราเอล ผู้เคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีถึง 8 ครั้ง กล่าวชื่นชมทีมรัก ไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใดแฟนบอลของเบียตาร์จึงสามารถทำตัวกร่างนอกสนามได้ขนาดนี้

ขณะที่ เบนาย ซัคนิน ไม่ใช่ทีมรักของคนส่วนใหญ่ในอิสราเอล แต่พวกเขาหันไปผูกมิตรกับชาวอาหรับนอกประเทศ ถึงขั้นที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรง จากรัฐบาลของประเทศกาตาร์ สร้างสนามเหย้าให้กับสโมสรแห่งนี้ และตั้งชื่อว่า โดฮา สเตเดียม อันเป็นชื่อเมืองหลวงของประเทศกาตาร์ ตั้งแต่ปี 2006

สืบเนื่องจากเวลานั้น กาตาร์มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับอิสราเอลที่ไม่สู้ดีนัก จึงใช้ เบนาย ซัคนิน เป็นเครื่องมือต่อสู้กับ ชาติของชาวยิวโดยตรง ซึ่งในอดีตทีมบอลของชาวอาหรับถือว่ามีแฟนบอลที่แสบพอตัว ต่อยตีกับแฟนทีมอื่นไปทั่วเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป หลังจาก เบนาย ซัคนิน หันมาหาการเป็นสโมสรฟุตบอลที่ถูกต้อง ด้วยการจับมือกับชาวปาเลสไตน์ หันมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคม แสดงให้เห็นว่า ถึงจะแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา แต่คนอิสราเอล และชาวอาหรับ สามารถอยู่ร่วมกันได้ ผ่านเกมฟุตบอล

เบนาย ซัคนิน ต้องการให้ตัวเองกลายเป็นทีมที่มีแฟนบอล ทั้งคนอาหรับ, ชาวยิว และผู้นับถือศาสนาคริสต์ แนวทางของเบนาย ทำให้สโมสรแห่งนี้ เป็นที่นิยมมากขึ้นในอิสราเอล 

ผู้คนหัวสมัยใหม่สนับสนุนในสิ่งที่เบนายได้ทำ หันมาติดตาม ให้กำลังใจมากขึ้น รวมถึงมีชาวต่างชาติมาเป็นแฟนบอลของทีม รวมถึงชาวยิวหัวสมัยใหม่ที่อาศัยในโลกตะวันตกด้วย

นอกจากนี้ เบนายเป็นหนึ่งในต้นแบบ ให้สโมสรฟุตบอลอื่นในอิสราเอล กล้าดึงผู้เล่นชาวอาหรับมาร่วมทีม จนกลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในฟุตบอลอิสราเอล ยกเว้นแต่ เบียตาร์ เยรูซาเล็ม ที่ยังยึดมั่นในวิถีดั้งเดิม

ขณะที่ เบียตาร์ เยรูาเล็ม หลังจากเป็นทีมจอมเหยียดมาอย่างยาวนาน กำลังเจอปัญหาครั้งใหญ่ เนื่องจากราชวงศอาบูดาบี แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าซื้อหุ้น 50 เปอร์เซนต์ ในช่วงปลายปี 2020 จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของสโมสร 


Photo : news360world.com

แฟนบอลเบียตาร์ต้องช็อคตาตั้ง จากที่เกลียดชาวอาหรับมาทั้งชีวิต แต่ต้องมามีคนนับถือศาสนาอิสลามคุมสโมสร ซึ่งดีลนี้เกิดขึ้น ด้วยเรื่องของการเมืองล้วน ๆ เนื่องจากอิสราเอล ตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จนนำมาซึ่งการซื้อสโมสรฟุตบอลชื่อดัง เพื่อให้ยูเออีเข้ามามีอำนาจในดินแดนชาวยิว 

ในมุมของแฟนบอลเบียตาร์ นี่คือความพ่ายแพ้ของพวกเขา เพราะทางสโมสรประกาศออกมาแล้วว่า จะหันมาสนับสนุนความเท่าเทียม ระหว่างชาวยิว และอาหรับ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคม

นโยบายกีดกันเชื้อชาติยาวนานกว่า 80 ปีของเบียตาร์ กำลังจะจบลง แต่ไม่ได้หมายความว่า ชาวปาเลสไตน์จะได้ผลดี กับการเริ่มมีอำนาจของคนอาหรับในดินแดนอิสราเอล แต่ตรงกันข้ามทุกอย่างแย่กว่าเดิม

จากที่เคยให้ความช่วยเหลือ ผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ หลังจากจับมือกับอิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ล้มเลิกการช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกอาหรับทันที หรือถ้ายังรับไว้ ก็เป็นการดึงคนกลุ่มนี้ มาเป็นแรงงานทาสในประเทศ

การโจมตีครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นของอิสราเอล ต่อกลุ่มคนปาเลสไตน์ จนมีผู้เสียชีวิตระดับหลักร้อย สหรัฐอาหรับเอมิเรต์ และชาติอาหรับอื่น ไม่ออกมาโจมตีอิสราเอลแม้แต่น้อย เพราะพวกเขาล้วนเป็นพันธมิตรกับรัฐยิวแห่งนี้ไปหมดแล้ว

โลกฟุตบอลอาจแสดงให้เห็นภาพที่ดีขึ้น เบนาย ซัคนิน และ เบียตาร์ เยรูาเล็ม หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียม ระหว่างคนในสังคม ต้องการลดความขัดแข้งระหว่างชาวยิว และอาหรับ

หากแต่โลกความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น สงครามระหว่างอิสราเอล กับปาเลสไตน์ ยังคงดำเนินต่อไป คนยิว และคนอาหรับ ยังคงหันอาวุธเข้าใส่กัน แม้แต่การมีอำนาจมากขึ้นของศาสนาอิสลามในดินแดนของชาวยิว ก็ไม่สามารถช่วยแกปัญหาอะไรได้ และการเพิกเฉยที่เกิดขึ้น อาจทำให้ทุกอย่างแย่ลงหลังจากนี้ 



แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ