เทียบชัดๆ น้ำท่วม 2554 และ 2564 เกิดอะไรและรัฐไทยทำอะไรบ้าง

Home » เทียบชัดๆ น้ำท่วม 2554 และ 2564 เกิดอะไรและรัฐไทยทำอะไรบ้าง
เทียบชัดๆ น้ำท่วม 2554 และ 2564 เกิดอะไรและรัฐไทยทำอะไรบ้าง

สถานการณ์น้ำท่วมครั้งล่าสุดในปีนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ ทั้งยังสร้างความหวาดหวั่นให้กับหลายๆ คน ด้วยภาพความเสียหายที่ทำให้ผู้คนย้อนระลึกถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ที่ไม่เพียงแต่กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลสะเทือนไปถึงระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อย่างภัยธรรมชาติเช่นนี้ ยังเป็นอีกหนึ่ง “มาตรวัด” ความสามารถและภาวะผู้นำของรัฐบาลในการนำพาประเทศชาติให้รอดพ้นวิกฤต ซึ่งไม่ใช่แค่รอดหรือไม่รอด แต่หมายถึงสถานภาพของประเทศในอนาคตด้วย

นับตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เวียนกลับมาอีกครั้งในอีก 10 ปีให้หลัง มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และรัฐบาลไทยมีแนวทางในการรับมือวิกฤตนี้อย่างไร เทียบกันชัดๆ ตรงนี้เลย

สาเหตุของน้ำท่วม

เหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 มีสาเหตุหลักมาจากหลายปัจจัย ประกอบด้วย

ปัจจัยทางธรรมชาติ ได้แก่ ปรากฏการณ์ลานีญา บวกกับในปีนั้น ประเทศไทยเผชิญกับพายุถึง 5 ลูกด้วยกัน นั่นคือ พายุโซนร้อนไหหม่า พายุนกเตน พายุไห่ถาง พายุเนสาด และพายุนาลแก รวมทั้งร่องมรสุมและลมประจำท้องถิ่น ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ส่งผลให้ฝนมาเร็วกว่าปกติ ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2554 สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 35% และปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ต้นปีในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีค่าสูงที่สุดอีกด้วย นอกจากนี้ ขณะที่ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น การระบายน้ำกลับมีข้อจำกัด เนื่องจากท่วมในพื้นที่ท้ายเขื่อน และน้ำทะเลหนุนบริเวณอ่าวไทย ทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างล่าช้า

ปัจจัยทางกายภาพ ได้แก่

  • ป่าไม้และคุณภาพป่าไม้ลดลง
  • โครงสร้างน้ำไม่มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับสถานการณ์ฝน
  • ระบบโครงสร้างป้องกันน้ำท่วมมีประสิทธิภาพลดลง จากการทรุดตัวของพื้นที่ การขาดการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนไป
  • มีศักยภาพการป้อนน้ำเข้าสู่ระบบสูบและอุโมงค์ระบายน้ำของกรุงเทพมหานครไม่สมดุลกับศักยภาพของระบบสูบและอุโมงค์
  • สะพานหลายแห่งเป็นปัญหาต่อการระบาย จากตอม่อขนาดใหญ่ และช่องสะพานขวางทางน้ำ
  • สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ

ปัจจัยทางด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่

  • พื้นที่หน่วงน้ำในภาคเหนือตอนล่าง เช่น บึงบอระเพ็ด และบึงสีไฟ ขาดการดูแลและถูกรุกล้ำ ทำให้ความจุหน่วงน้ำลดลง
  • การผันน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างไม่เต็มศักยภาพสูงสุด
  • ปริมาณน้ำระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ไหลมายังเขื่อนพระรามหก ไม่ได้ผันเข้าสู่คลองระพีพัฒน์แยกใต้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้น้ำส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่ อ.พระนครศรีอยุธยา
  • คลองระพีพัฒน์ไม่สามารถผันน้ำเข้าทุ่งตะวันออกได้ แต่เรือกสวนไร่นาในทุ่งตะวันออกกลับสูบน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์
  • ปัญหาการบริหารการระบายผ่านแนวรอยต่อที่มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ
  • ประชาชนและองค์กรส่วนย่อย สร้างพนังและคันกั้นน้ำของตัวเอง ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำในภาพรวมได้

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 สาเหตุหลักของน้ำท่วมมาจากพายุ 1 ลูก นั่นคือ พายุเตี้ยนหมู่ ซึ่งแม้จะอ่อนกำลังลงแล้ว แต่ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายต่างๆ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำหลายแห่งยังคงมีมาก และเอ่อล้นเข้าท่วมในหลายพื้นที่

ความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม

ปี 2554 สถานการณ์น้ำท่วมส่งผลให้มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 77 จังหวัด 87 อำเภอ 6,670 ตำบล คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 69.02 ล้านไร่ มีผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน ประชาชนได้รับผลกระทบถึง 4,039,459 ครัวเรือน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 2,329 หลัง เสียหายบางส่วน 96,833 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 11.20 ล้านไร่ และถนนเสียหาย 13,961 สาย

ขณะที่ในปี 2564 รายงานสถานการณ์สาธารณภัยจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน จนถึงปัจจุบัน มีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 31 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม ส่วนรายงานจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 27 กันยายน ระบุว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอยู่ที่ 2,088,263 ไร่ มีผู้เสียชีวิต 7 ราย สูญหาย 1 ราย และประชาชนได้รับผลกระทบ 227,470 ครัวเรือน

 

ปฏิกิริยาของรัฐและแนวทางเฉพาะหน้า

ในปี 2554 ซึ่งตรงกับรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อราวเดือนกรกฎาคม รัฐบาลในขณะนั้นมีแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์ดังนี้

  1. ประกาศภาวะภัยพิบัติฉุกเฉินทั่วประเทศ
  2. กลางเดือนสิงหาคม เริ่มปฏิบัติการเฝ้าตรวจและบรรเทาสาธารณภัยอุทกภัยแบบรวมศูนย์
  3. นายกรัฐมนตรีเดินทางเยี่ยมจังหวัดที่ประสบอุทกภัยในเดือนสิงหาคม และมอบหมายให้สมาชิกคณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาเยี่ยมราษฎรที่ได้รับผลกระทบ
  4. จัดตั้งศูนย์สนับสนุนการอำนวยการบริหารสถานการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ภายใต้กำกับของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
  5. จัดสรรงบประมาณบรรเทาอุทกภัยเพิ่มเติมให้แก่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ
  6. นายกรัฐมนตรีให้คำมั่นว่าจะลงทุนในโครงการป้องกันระยะยาว
  7. จัดเรือหลายร้อยลำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อขับดันน้ำด้วยใบจักร เพิ่มการไหลของน้ำลงสู่ทะเล ทว่าวิธีการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเสียเวลาเปล่า
  8. การประปานครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการผ่อนผันการชำระค่าประปาและค่าไฟฟ้า
  9. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้เบิกจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อครอบครัว โดยมี 62 จังหวัดเข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา

ส่วนในปี 2564 ซึ่งตรงกับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม ดังนี้

  1. นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนป้องกันและรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินจากอุทกภัยในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
  2. สั่งการให้คณะรัฐมนตรีผลัดเปลี่ยนกันลงพื้นที่ เพื่อให้กำลังใจและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
  3. แนะนำให้ประชาชนรู้จักเรียนรู้และปรับตัวเพื่อประกอบอาชีพต่อไป
  4. มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทาน เร่งระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบน เข้าพื้นที่ลุ่มต่ำและแม่น้ำยม

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมใน จ.สุโขทัย อย่างยั่งยืน โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น เน้นการพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ระยะกลาง เน้นการปรับปรุงลำน้ำที่ตื้นเขิน การปรับปรุงคลองระบายน้ำรอบเมืองสุโขทัยอย่างต่อเนื่อง และระยะยาว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะขับเคลื่อนการปรับปรุงคลองหกบาท คลองยม-น่าน ให้สามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น พัฒนาแก้มลิงทะเลหลวง และแก้มลิงวังทองแดง รวมทั้งการเติมน้ำใต้ดินจากน้ำท่วมขังบริเวณบางระกำ

แผนการจัดการอุทกภัยในระยะยาว

หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2554 คลี่คลาย รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้เสนอ แผนโครงการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 ซึ่งประกอบด้วย 8 แผนงาน วงเงินรวม 324,606 ล้านบาท ได้แก่

  1. การฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่าและดิน
  2. การบริหารจัดการน้ำและอ่างเก็บน้ำหลัก และการสร้างอ่างกักเก็บน้ำอย่างเหมาะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก
  3. การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อม พื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัดและของประเทศ
  4. การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานพิษณุโลก (เหนือนครสวรรค์) และโครงการเจ้าพระยาใหญ่ (เหนืออยุธยา) ให้เป็นแก้มลิงแม่น้ำเพื่อเก็บกักน้ำชั่วคราวในฤดูน้ำหลาก
  5. การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำของแม่น้ำสายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน ฯลฯ
  6. การจัดหาทางน้ำหลาก (floodway) และหรือทางผันน้ำ (flood diversion channel) เพื่อรับอัตราการไหลน้ำหลากส่วนเกินจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก ไปทางฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งใดฝั่งหนึ่ง รวมทั้งจัดทำทางหลวง (ระดับประเทศ) ไปพร้อม ๆ กัน
  7. การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์ และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ ทั้งหลากและแห้ง
  8. การปรับปรุงองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำสั่งการ กำกับ ดูแล ติดตาม พร้อมทั้งปรับปรุง/เพิ่มเติมกฎหมาย และกำหนดวิธีการเยียวยาที่เหมาะสม รวมทั้งการมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ยกเลิกการดำเนินการตามแผนโครงการดังกล่าว และให้ใช้แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี พ.ศ. 2558-2569 ) แทน

สำหรับการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลปัจจุบัน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และได้มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยแนวทางการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย อยู่ในด้านที่ 3 ของแผนแม่บท มีเป้าประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การจัดระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง การจัดการพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ชะลอน้ำ รวมทั้งการบรรเทาอุทกภัยในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ในระดับลุ่มน้ำและพื้นที่วิกฤต (Area based) ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ลุ่มน้ำสาขา/ลดความเสี่ยงและความรุนแรงลงไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60

นอกจากนี้ ยังมีแผนเตรียมการในเชิงป้องกัน 10 มาตรการ ประกอบด้วย

  1. การคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง
  2. การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อรองรับน้ำหลาก
  3. การทบทวนและปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลางและเขื่อนระบายน้ำ
  4. การซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำและสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน
  5. การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ
  6. การขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา
  7. การเตรียมความพร้อมและวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ
  8. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ
  9. การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อม
  10. การติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยตลอดระยะเวลาฤดูฝน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ