เทศกาลกินเจปี 2564 นี้ตรงกับ ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม – 14 ตุลาคม 2564 รวมเป็นเวลา 9 วัน ซึ่งบางท่านอาจจะล้างท้องวันที่ 5 ตุลาคม รวมเป็น 10 วันก็ได้ ทำไมเราต้องกินเจ กินเจแล้วได้อะไร แล้วเทศกาลกินเจถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร Sanook Health จะเล่าให้ฟังค่ะ
เทศกาลกินเจ
คำว่า “เจ” ในภาษาจีนทางพระพุทธศาสนา หมายถึง “อุโบสถ หรือการรักษาศีล 8” ของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ที่จะมีการรักษาอุโบสถศีล ไม่บริโภคอะไรหลังเที่ยงวันตามหลักศีล 8 ข้อ และไม่บริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นการไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต ช่วงหลังจึงเรียกคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ว่า “กินเจ” ไปด้วย แต่ถึงกระนั้นการกินเจไม่ใช่เพียงแต่งดเนื้อสัตว์ อาหาร และเครื่องปรุงที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ แต่ยังรวมถึงการรักษาศีล ประพฤติตัวเป็นคนดีทั้งกาย วาจา ใจ อีกด้วย
ช่วงเวลาเทศกาลกินเจ
ช่วงเทศกาลกินเจของทุกปี ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน ตรงกับเดือน 11 หรือเดือนตุลาคมของไทย ตามปฏิทินสากล รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 9 วัน 9 คืน
เทศกาลกินเจ เริ่มตั้งแต่วันที่เท่าไหร่?
เริ่มวันที่ 6 ตุลาคม – 14 ตุลาคม 2564 บางท่านอาจจะล้างท้องตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคมในมื้อเย็น ก็สามารถทำได้
ทำไมเราต้องกินเจ?
- กินเจ เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะอาหารเจถือเป็นอาหารชีวจิตอย่างหนึ่ง ช่วยปรับสภาพร่างกายให้สมดุล ล้างพิษในร่างกาย รวมถึงช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะคนจีนเชื่อว่า เนื้อสัตว์เป็น “หยิน” และผักผลไม้เป็น “หยาง” โดยธรรมชาติคนเรามักทานเนื้อสัตว์เยอะกว่าผักผลไม้ การงดทานเนื้อสัตว์จึงเป็นการปรับให้หยินและหยางสมดุลมากยิ่งขึ้นด้วย
- กินเจ เพื่อทำบุญ เพื่อชำระล้างใจให้ใสสะอาด ไม่เบียดเบียนสัตว์โลก ทำให้จิตใจเราผ่องใสมากขึ้น เมื่อเราทราบว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องที่ดี ก็จะส่งผลต่อจิตใจที่เบิกบาน เป็นสุขขึ้น
- กินเจ เพื่อละเว้นกรรม ที่เกิดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือแม้กระทั่งการจ้างฆ่าเพื่อการบริโภค หากเราทราบว่าการงดบริโภคเนื้อสัตว์ เป็นการช่วยชีวิตสัตว์นับพันนับหมื่น เราก็จะช่วยลดกรรมของเราได้มากขึ้น
ทำไมต้องล้างท้อง?
การล้างท้องหมายถึง เริ่มกินเจก่อนถึงวันเริ่มต้นเทศกาลจริง 1-2 วันเพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ปรับสภาพ และทำความคุ้นเคยกับการกินเจได้ดียิ่งขึ้น
ธงเจ มีความหมายอย่างไร?
- ตัวอักษรภาษาจีน อ่านว่า “ไจ” หรือ “เจ” หมายถึง “ของไม่มีคาว”
- ตัวอักษรสีแดง หมายถึง ความเป็นสิริมงคลในชีวิต พื้นหลังสีเหลือง หมายถึง สีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล
- ธงเจจึงเป็นสัญลักษณ์ของการกินเจ และเป็นเครื่องยืนยันย้ำเตือนพุทธศาสนิกชนให้หันมาเตรียมตัวร่วมเทศกาลกินเจด้วยกัน
นอกจากเนื้อสัตว์แล้ว ห้ามกินอะไรบ้าง?
- ผักที่มีกลิ่นฉุน 5 อย่าง ได้แก่ กระเทียม (ไม่ดีต่อหัวใจ), หอมใหญ่ แดง ขาว ต้นหอม (ไม่ดีต่อไต), หลักเกียว ผักของจีน มีลักษณะคล้ายกระเทียมโทน (ไม่ดีต่อม้าม), กุยช่าย (ไม่ดีต่อตับ) และ ใบยาสูบ (ไม่ดีต่อปอดเมื่อใช้สูบ) นอกจากนี้ผักชนิดไหนที่มีกลิ่นฉุนก็ไม่ควรทานระหว่างช่วงกินเจด้วย
- นม เนย น้ำมัน และผลิตภัณฑ์จากสัตว์
- อาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นเค็มจัด หวานจัด เปรี้ยวจัด หรือเผ็ดจัด
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ใครที่กินเจจริงจัง ห้ามทานอาหารบนภาชนะที่ใช้ร่วมกับผู้ที่ไม่ได้กินเจ และต้องทานอาหารที่ปรุงจากคนที่กินเจด้วยกันเท่านั้น
ถึงแม้การกินเจจะดูเป็นเรื่องยากสำหรับคนชอบทานเนื้อสัตว์ แต่เราเชื่อว่าหากคุณได้ลองกินเจแล้ว นอกจากสุขภาพที่จะดีขึ้นอย่างทันตาเห็นแล้ว ยังอิ่มบุญอิ่มใจจากการถือศีล และหากออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย ยังได้ผิวพรรณที่ดี และหุ่นสวยหล่อเพอร์เฟ็คแน่นอน ใครยังไม่เคยก็ลองกินเจปีนี้เป็นปีแรกกันดูนะคะ รับรองว่าจะต้องติดใจจนไม่อยากหยุดกินเจแน่นอน
อ่านเรื่องราวเทศกาลกินเจ เพิ่มเติมได้ที่
- “กินเจ” ได้บุญจริงหรือไม่? แล้วทำไมถึงได้บุญ!
- เคาะประตูสวรรค์สักการะ “กิ้วอ๊วงฮุกโจ้ว” (ขุนพล 9 พระองค์) แห่งเทศกาลกินเจ
- กินเจอย่างไร ให้ได้บุญสูงสุด
- ข้อห้ามการกินเจ การกินเจที่ถูกต้อง และผักฉุนที่ห้ามกิน
- บทสวดมนต์ขอพรเจ้าแม่กวนอิม “ช่วงเทศกาลกินเจ” สิริมงคลแก่ชีวิต
- “หมอช้าง” แนะ 9 วันกินเจ รับพลังดวงดาวทั้ง 9
- ไขข้อสงสัย ทำไมม้าทรงต้องทรมานร่างกายช่วงกินเจ
- เทศกาลกินเจ 2564 การปฏิบัติตัว แนะนำอาหารเจ
- จริงหรือไม่? กินเจห้ามออกกำลังกาย
- กินเจ อะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้บ้าง?
- “กินเจ” ตามราศีเพื่อเสริมดวง อิ่มใจและสุขภาพดีถึงขีดสุด
- รวมเมนูอาหารเจ ไม่จำเจ ทำเองได้ ไม่ง้อร้าน
- กินผัก 5 สีให้ “เจ” นี้ไม่จำเจ
- เทศกาลกินเจ 2564 เตรียมตัวให้พร้อมกับเทศกาลกินเจ
- 5 วิธีกินเจแบบผิดๆ เสี่ยงโรคไต-โรคหัวใจ
- กินเจอย่างไรไม่ให้อ้วน และไม่ขาดสารอาหาร
- ผักดิบ ทานมากเกินไปก็อันตรายต่อร่างกาย