ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย และการมาของ COVID-19 เป็นตัวเร่งให้มนุษย์พยายามเซฟตัวเองโดยการออกไปนอกบ้านให้น้อยที่สุด นั่นหมายความว่า เมื่อเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่อยากไปโรงพยาบาล เพราะรู้สึกว่าเชื้อโรคเยอะ เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรให้เราได้พบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการป่วย โดยไม่ต้องออกจากบ้าน
Virtual Care หรือบริการดูแลรักษาเสมือนผ่านทางออนไลน์ โดยใช้เทคโนโลยีหลายอย่างบูรณาการเข้าด้วยกัน ทั้ง 5G เพื่อการสื่อสารที่รวดเร็ว AI อุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ ที่สามารถพกติดตัวไปไหนมาได้ โดยทำหน้าที่เก็บข้อมูลสุขภาพ และประมวลผลปัญหาสุขภาพพื้นฐานแทนแพทย์ ซึ่งจะสามารถคัดกรองอาการของผู้ป่วยว่าจำเป็นต้องพบแพทย์หรือไม่ หรือถ้าจำเป็นต้องพูดคุยปรึกษาปัญหากับแพทย์ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล
นอกจากนี้ Virtual Care ยังรวมถึงการใช้วิดีโอคอลพูดคุยกับแพทย์เพื่อปรึกษา ขอคำแนะนำ ฟังผลตรวจเลือด หรือติดตามอาการของผู้ป่วยเรื้อรังที่จำเป็นต้องกินยาต่อเนื่อง โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยเดินทางมาโรงพยาบาลให้เสียเวลา และเสี่ยงกับการติดเชื้อโรค แม้ว่าจะไม่ได้พบกับแพทย์โดยตรง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็น่าจะดีกว่าการพึ่งหมอกูเกิล ที่ไม่ว่าจะเจ็บป่วยด้วยอาการอะไรก็กลายเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็งได้หมด
AI กับเทคโนโลยีทางการแพทย์
หากพูดถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) หรือที่เรียกว่า AI ได้เริ่มขยายการใช้งานครอบคลุมเกือบทุกวงการแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวงการวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ เช่นเดียวกันกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็นำเอา AI มาใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน
เพราะความสามารถของ AI สามารถทำงานเลียนแบบสมองของมนุษย์ได้ มีความสามารถในการใช้เหตุผลตามข้อมูลที่เคยป้อนเข้าไป เพียงแต่ยังคิดสร้างสรรค์เองไม่ได้เท่านั้น AII จึงสามารถเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลได้จำนวนที่มากขึ้น เก็บข้อมูลเพื่อศึกษาโรคหายากได้มากขึ้น ยังรวมถึงการสร้างภาพทางการแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรค ซึ่งจะมีบทบาทอย่างมากในการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ
บริการทางการแพทย์แบบ Virtual Care เป็นหนึ่งในการทำงานของ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล ก็นำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วย ในการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วย ประวัติการรักษา และประมวลผลข้อมูลของผู้ป่วยส่วนบุคคลมาวางแผนรักษาให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ รวมถึงการแนะนำ ให้ความรู้ด้านสุขภาพที่ตรงกับความต้องการของผู้ป่วย เพื่อยกระดับการรักษาผู้ป่วยเฉพาะบุคคลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อดีของการใช้งาน Virtual Care
การใช้งานการแพทย์แบบ Virtual Care สามารถใช้งานที่ใดก็ได้ที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึง ช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประหยัดเวลาทั้งเวลาในการเดินทาง ไม่เหนื่อยเดินทาง และลดเวลาการรอพบแพทย์ไปได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังที่แพทย์ต้องนัดติดตามอาการบ่อย ๆ บ่อยครั้งเป็นการติดตามเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลก็ได้ ก็ยังได้รับการบริการทางการแพทย์ที่สะดวกจากบ้านของตนเอง
นอกจากนี้ Virtual Care ยังลดโอกาสที่ผู้ป่วยไม่สามารถไปพบแพทย์ตามนัดเนื่องจากเหตุสุดวิสัย แต่แพทย์ก็ยังติดตามอาการผู้ป่วยได้จากบ้านของผู้ป่วย และการที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ก็ช่วยลดความแออัดลง หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อโรคที่โรงพยาบาล ก็สามารถพูดคุยกับแพทย์ผ่านวิดีโอคอล ขอคำปรึกษาสุขภาพทางไกลได้
Virtual Care จึงเป็นการนำเอาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารมาช่วยเพิ่มศักยภาพ ประสิทธิภาพ การดูแลรักษาผู้ป่วยได้ในหลายมิติ โดยเฉพาะมิติที่มีข้อจำกัดของการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ เพิ่มความเท่าเทียมให้ผู้ป่วยทุกระดับ
ข้อจำกัดของการใช้งาน Virtual Care
เช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่น ๆ การดูแลเสมือนมีข้อดีและข้อเสีย หนึ่งในข้อจำกัดที่สำคัญ คือ แพทย์ไม่สามารถตรวจร่างกายผู้ป่วยได้ เนื่องจากบ่อยครั้ง การให้คำวินิจฉัยหรือคำแนะนำทางการแพทย์ แพทย์จำเป็นต้องฟังเสียงปอด ฟังเสียงหัวใจ ส่องดูลำคอ หรือดูโพรงจมูก เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค แต่เมื่อแพทย์และผู้ป่วยสื่อสารกันผ่านทางออนไลน์ แพทย์จึงไม่สามารถบริการการรักษาได้สมบูรณ์ ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้อาจต้องพึ่งเทคโนโลยีอื่นเพื่ออุดช่องโหว่ แต่นั่นทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามมา
ข้อจำกัดต่อมา คือ ความไม่คุ้นเคยของแพทย์ในการใช้เครื่องมือสื่อสารเพื่อให้คำปรึกษาออนไลน์ แพทย์อาวุโสหลายท่านทำงานแบบพบผู้ป่วยแบบตัวต่อตัวมาตลอดชีวิต การที่ต้องมาใช้เทคโนโลยีทันสมัยเหล่านี้ แรก ๆ อาจสะดุด ติดขัด ไม่ถนัดในการใช้งาน ไปไม่เป็น พูดไม่ถูก แต่ปัจจุบันก็มีคอร์สที่เปิดสอนการใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทักษะในการซักประวัติ วิธีให้คำปรึกษาออนไลน์ วิธีการตรวจร่างกายผ่านออนไลน์ ที่แพทย์สามารถเข้าอบรมเพิ่มเติมเพื่อให้เชี่ยวชาญได้
ที่สำคัญที่สุด การใช้งานการแพทย์แบบ Virtual Care ต้องอาศัยอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจมีปัญหาทางภูมิศาสตร์ในที่ที่อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึงหรือสัญญาณไม่ดีเท่าที่ควร รวมถึงการทำงานต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ก็ยังมีความปลอดต่ำ นอกจากนี้ยังต้องพึ่งพาอุปกรณ์เทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI ที่แม้จะฉลาดแค่ไหนก็ไม่สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด เพราะเครื่องจักรไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ขาดความคิดสร้างสรรค์ AI คิดเองไม่ได้ เพราะ AI คิดและประมวลผลจากข้อมูลที่เคยถูกป้อนไปแล้ว
การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย
เนื่องจากนโยบายของรัฐกำลังพยายามที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub Service หรือเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพนานาชาติ ของภูมิภาค ASEAN ทำให้เราสามารถประเมินทิศทางและแนวโน้มของอุตสาหกรรมการแพทย์ได้ ว่าจะเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาล ส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีแนวโน้มดีขึ้น หากประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ให้มีศักยภาพสูงได้
ข้อมูลจากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่รายงานผลการวิจัย (มกราคม-มีนาคม 2562) ว่ารายได้หลักของประเทศไทยนั้นมาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยหนึ่งในรูปแบบการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ก็คือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) จากข้อมูลของ Global Wellness Institute (GWI) ระบุว่าตลาดท่องเที่ยวโลก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีมูลค่าอยู่ประมาณ 1,604 พันล้านบาท ซึ่งประเทศไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 285 พันล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลกเลยทีเดียว
และหากเปรียบเทียบกับตลาดท่องเที่ยวในประเทศ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 4 คิดเป็นร้อยละ 15.6 ของรายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวม ที่สำคัญ ในช่วงระหวางปี พ.ศ. 2558 ถึงปี พ.ศ. 2563 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย ก็มีอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างสูง อยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.5 ต่อปี
ส่วนการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประเทศไทยก็ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในภูมิภาค คิดเป็นประมาณร้อยละ 38 เพราะค่ารักษาพยาบาลไม่สูงมาก แต่บริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากล และยังเป็นการบริการที่เป็นมิตรด้วย ก็เป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อรับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย
จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมการแพทย์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้มหาศาล ในอนาคตอันใกล้ เราก็มีโอกาสจะได้เห็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ในรูปแบบของ Virtual Care ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ชัดเจนขึ้น และเข้าถึงประชาชนในประเทศได้มากขึ้น
ข้อมูลจาก eVisit, Etactics, Data Flair, วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล