แม้ว่าเกลือจะประกอบไปด้วยโซเดียมซึ่งเป็นแร่ธาตุจำเป็นที่ช่วยควบคุมสมดุลของของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ ตลอดจนช่วยในการดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไตและลำไส้เล็ก เป็นต้น แต่การรับประทานเกลือในปริมาณที่มากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้ มารู้ผลเสียของการรับประทานเกลือในปริมาณที่มากเกินไป ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวัน และเทคนิคในการปรุงอาหารรสจืดให้อร่อยขึ้นโดยไม่ต้องใช้เกลือและเครื่องปรุงรสเค็มตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการญี่ปุ่นกัน
ผลเสียจากการรับประทานเกลือมากเกินไป
แม้จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การรับประทานเกลือในปริมาณที่มากเกินไปทั้งจากเครื่องปรุงรสอาหาร (เกลือ น้ำปลา โชยุและมิโซะ เป็นต้น) อาหารทอดกรุบกรอบ อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป และอาหารที่ได้จากการถนอมอาหาร (อาหารกระป๋องทุกชนิด ไส้กรอก แฮม เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักดอง และผลไม้ดอง เป็นต้น) อาจจะก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายดังนี้คือ ก่อให้เกิดการเสื่อมของไตเพราะไตทำหน้าที่ขับโซเดียมออกจากร่างกาย การขับเกลือในปริมาณมากออกจากร่างกายทุกวันทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง ส่งผลให้ให้มีการคั่งของเกลือในร่างกาย ทำให้เกิดการบวมน้ำ ความดันโลหิตสูง เป็นโรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งจากงานวิจัยของคนญี่ปุ่นยังพบว่าการรับประทานเกลือในปริมาณที่มากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย
ปริมาณเกลือที่แนะนำให้คนญี่ปุ่นรับประทานต่อวันคือไม่เกิน 6 กรัม โดยสามารถวัดปริมาณง่ายๆ จาก 1 ช้อนชาจะมีปริมาณ 5 กรัม
เทคนิคการปรุงอาหารรสจืดให้อร่อยขึ้นโดยไม่ใช้เกลือหรือเครื่องปรุงที่ให้รสเค็ม
วิธีหลีกเลี่ยงการรับเกลือในปริมาณที่เกินความต้องการของร่างกายคือ การรับประทานอาหารตามธรรมชาติ หลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งด้วยเครื่องปรุงรสเข้มข้น อาหารแปรรูป หรืออาหารที่ผ่านการถนอมอาหาร เป็นต้น การลดเค็มโดยที่รู้สึกว่าอาหารรสจืดมีรสชาติอร่อยสามารถทำได้ด้วยเทคนิคดังต่อไปนี้คือ
- เพิ่มรสเปรี้ยว
การใช้น้ำส้มสายชูหมักหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะนาว มะนาวเหลือง มะขาม และมะเขือเทศ เป็นต้น จะช่วยเพิ่มความอร่อยของเมนูอาหารโดยไม่ต้องใช้เกลือและเครื่องปรุงรสเค็มก็ได้ เมนูง่ายๆ ที่คนญี่ปุ่นนิยมใช้น้ำส้มหมักหรือน้ำมะนาวเหลืองแทนเกลือคือ เนื้อย่าง และปลาย่าง เป็นต้น
- เพิ่มกลิ่นหอมจากสมุนไพรต่างๆ
กลิ่นหอมจากสมุนไพร เช่น กระเทียม ขิง ใบชิโสะ กะเพรา และใบมะกรูด เป็นต้น จะช่วยทำให้อาหารที่มีรสจืดอร่อยขึ้นจากกลิ่นหอมและรสชาติเผ็ดของสมุนไพร
- เพิ่มความเข้มข้นของอาหาร
การเติมนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมลงไปในน้ำซุปหรือเมนูต้มซุปต่างๆ และเติมน้ำมันงาลงไป 1 หยด จะช่วยทำให้เมนูที่ไม่ใช้เกลือหรือใช้เกลือน้อยอร่อยขึ้น
- เติมรสชาติอูมามิ
รสชาติอูมามิจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ เช่น คอมบุ ปลาคัตสึโอะแห้ง เห็ดต่างๆ กุ้งแห้ง น้ำซุปกระดูกไก่หรือหมู เป็นต้น จะทำให้อาหารจืดมีรสชาติอร่อยขึ้นโดยไม่ต้องใช้เกลือหรือเครื่องปรุงที่มีรสเค็ม
- กลิ่นหอมจากการย่าง
กลิ่นหอมจากการย่างเนื้อสัตว์หรืออาหารทะเลจะทำให้อาหารอร่อยขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องเติมเกลือหรือเครื่องปรุงรสเค็มใดๆ ทั้งนี้หากอยากให้อร่อยยิ่งขึ้นก็บีบมะนาวใส่หรือราดด้วยน้ำส้มหมักก่อนนำมารับประทาน
- ทำให้น้ำซุปข้นหนืด
การเติมแป้งมันสำปะหลังหรือแป้งมันฝรั่งลงในน้ำซุปที่จืดจนได้ซุปข้นหนืด จะทำให้รู้สึกว่าซุปจืดมีความอร่อยและรู้สึกพึงใจมากขึ้น
คนญี่ปุ่นจำนวนมากยังติดรสเค็มเพราะเชื่อว่ารสเค็มจะทำให้หายเหนื่อยจากการทำงาน แต่การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มเป็นประจำจะส่งผลเสียให้แก่ร่างกายเมื่ออายุมากขึ้นได้ ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้คนญี่ปุ่นหันมารับประทานอาหารให้เค็มน้อยลงโดยมีผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกที่ระบุลดปริมาณเกลือไว้อย่างชัดเจน และมีการรณรงค์ให้ปรุงอาหารจืดให้อร่อยด้วยวิธีการดังกล่าว หากผู้อ่านรู้สึกว่าเป็นคนหนึ่งที่ชอบรับประทานอาหารเค็มก็มาลดปริมาณเกลือด้วยกันตั้งแต่วันนี้