เทคนิคดูแลสุขภาพจิต ผู้สูงวัย รับมือโรคซึมเศร้า สมองเสื่อม ในHealthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย

Home » เทคนิคดูแลสุขภาพจิต ผู้สูงวัย รับมือโรคซึมเศร้า สมองเสื่อม ในHealthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย



วัยผู้สูงอายุ เป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง เมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของอวัยวะต่างๆ ก็เสื่อมถอย ส่งผลให้สุขภาพใจไม่สดชื่นแจ่มใสตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต จึงมาเผยวิธี ‘การดูแลสุขภาพจิตผู้สูงวัย เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม Dementia with BPSD’ บนเวทีเสวนา งาน ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ ซึ่งจัดโดยเครือมติชน ในวันที่ 2 กรกฎาคม

พญ.บุญศิริเผยว่า เมื่ออายุมากขึ้น สมองของคนเราก็เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา จนนำไปสู่การเกิดโรคสมองเสื่อม ซึ่งเมื่อผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคนี้ จะเกิดปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และความผิดปกติทางจิต หรือที่เรียกว่า Behavioral and psychological symptoms of dementia (BPSD) ทำให้เริ่มมีอาการถดถอยทางด้านความคิด สมาธิ และอารมณ์ผิดปกติ โดยเริ่มมีอาการหงุดหงิดง่าย ไม่อยากพูดกับใคร รู้สึกซึมเศร้า และมีอาการเบื่อหน่าย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม คือ ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดัน ความอ้วน รวมถึงอุบัติเหตุต่างๆ เช่น ลื่นล้มศีรษะฟาดพื้น เป็นต้น สำหรับผู้ชายที่มีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม คือ เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมขึ้นมา

เทคนิคดูแลสุขภาพจิต ผู้สูงวัย รับมือโรคซึมเศร้า สมองเสื่อม ในHealthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย

พญ.บุญศิริกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าแล้วปล่อยตัวเอง ไม่ไปรักษาอาการป่วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จะส่งผลกระทบต่อสมองอย่างมาก เพราะเมื่อสมองไม่สามารถควบคุมได้ ก็จะทำให้ไม่สามารถเก็บความจำ และเก็บอารมณ์ของตนเองได้ ที่สำคัญปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุปัจจุบัน คือ การเปิดแท็บเล็ต หรือโทรศัพท์ หรือโทรทัศน์ค้างเอาไว้ แล้วนอนหลับไป ซึ่งการกระทำแบบนี้จะทำให้สมองไม่ได้พักครบ 6 ชั่วโมง จึงอยากขอเตือนทุกคนให้ใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดีของตนเอง

สำหรับโรคสมองเสื่อมจะมีอาการที่แสดงให้เห็นเด่นชัด คือ ด้านสมาธิ จะมีอาการเหม่อลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เช่น นั่งรถประจำทางเลยป้าย เป็นต้น ด้านการคิด เป็นการตัดสินใจที่ไม่ยอมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะคิดว่าทำไปแล้วไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งปัญหานี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้านความจำ เริ่มใช้ภาษาไม่ถูกต้อง จำชื่อคนอื่นไม่ได้

จนนำไปสู่ปัญหาต่อมา คือ เริ่มไม่อยากเข้าสังคม เนื่องจากเมื่อไปพบเจอคนอื่นแล้วจำไม่ได้ว่า บุคคลนั้นเป็นใคร รวมถึงจำทางกลับบ้านของตนเองไม่ได้ จึงทำให้ไม่อยากเดินทางออกจากบ้านไปพบเจอผู้อื่น จนในที่สุดก็สูญเสียความสัมพันธ์กับผู้อื่น และมองผู้อื่นในแง่ลบไปหมด

ทั้งนี้ โรคสมองเสื่อมไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม แต่เป็นความผิดปกติทางสมอง ซึ่งทุกคนเมื่อเป็นโรคนี้แล้ว สามารถหาแนวทางป้องกันและดูแลตนเองได้ โดยพยายามหากิจกรรมที่ไม่ควรเก็บตัวอยู่คนเดียว หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมองมากขึ้น เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ คิดเลขในใจ หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้การคิด ซึ่งจะช่วยฝึกสมองให้เกิดการเรียนรู้และคิดอยู่สม่ำเสมอ

ที่สำคัญผู้ที่ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ต้องมีวิธีการรับมือและทำความเข้าใจกับผู้ป่วย ต้องไม่พูดจนเกิดการกระทบกระเทือนทางจิตใจ และผู้ดูแลต้องประเมินอาการของตนเองด้วยว่า ร่างกายและจิตใจของตนมีความแข็งแรงและพร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยหรือไม่ เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าต่อไป ดังนั้น ผู้ที่ดูแลควรเอาใจใส่และให้ความรักกับผู้ป่วยสมองเสื่อมให้มากขึ้น และควรหาเวลาว่างให้กับตนเอง เพื่อให้ร่างกายได้เกิดการพักผ่อนและฟื้นฟูจิตใจของตนเองต่อไป

‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ ยังมีกิจกรรมน่าสนใจอีกมากมาย ทั้งการตรวจสุขภาพฟรี จาก 14 โรงพยาบาลชั้นนำจากภาครัฐและเอกชน พร้อมขนนวัตกรรมสุดแจ่ม ที่มาช่วยให้การใช้ชีวิตของทุกคนง่ายขึ้น ทั้งยังมีตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพ กิจกรรม Lucky Star สอยดาว ได้โชค ที่จะนำรายได้มอบแก่การกุศล และกิจกรรมต่างๆ บนเวทีที่มอบสาระความรู้แบบจัดเต็ม จัดงานถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.30-20.00 น. ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสามย่าน ใช้ทางออกที่ 2

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ