เตือน! ใช้นมข้นหวานละลายน้ำเลี้ยงลูก เสี่ยงขาดสารอาหาร อันตรายถึงชีวิต หลังแม่ตัดพ้อ ไม่มีเงินซื้อนมผงชงให้ลูกดื่ม
หนึ่งในประเด็นดราม่าของโลกโซเซี่ยล คือ ประเด็นเรื่องการนำนมข้นหวานมาผสมน้ำเปล่าเพื่อชงให้ลูกดื่มแทนนมผงสำหรับเด็ก เนื่องจากมีความขัดสนทางด้านการเงิน โดยเพจเฟซบุ๊กผู้บริโภค ได้มีการโพสต์ภาพจากผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่ง ระบุว่า “แม่ขอโทษนะที่แม่ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกสองคนกิน แม่จำเป็นจริง ๆ ที่ทำแบบนี้”
ทางเพจผู้บริโภคระบุว่า “เห็นคลิปนึงในติ๊กต็อกแล้วอยากหยิบมาพูดถึงจริง ๆ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งทางเพจผู้บริโภคเองหรือหลาย ๆ ฝ่าย ก็พยายามเน้นย้ำว่าการใช้นมข้นหวานเลี้ยงทารกหรือลูกตัวเองเนี่ยมันไม่ดีเลย”
“ก็เข้าใจกับสถานการณ์ในช่วงนี้นะ แต่การที่เอานมข้นมาชงให้เด็กดื่ม มีผลเสียมากกว่าผลดี ไม่ว่าจะเป็นขาดสารอาหาร ขาดพลังงาน เพราะในนมข้นหวานมีส่วนประกอบหลัก ๆ แค่ ไขมัน น้ำตาล โซเดียมมันก็ต่างจากนมแม่หรือนมวัวมาก ๆ เลยนะ เห็นแล้วรู้สึกไม่ดีเลยแบบนี้ เข้าใจนะว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่อย่าเลือกเลี้ยงด้วยนมข้นหวานเลย”
ตามมติองค์การอนามัยโลกเรื่องหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (The International Code of Marketing of Breast-Milk Substitutes) เน้นย้ำว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสำหรับการเป็นอาหารเด็ก เช่น นมข้นหวาน เนื่องจากไม่ส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกและเด็กเล็ก
นมข้นหวาน (Sweetened Condensed Milk) คือ น้ำนมที่ระเหยน้ำออกบางส่วนแล้วเติมน้ำตาลลงไป
เพื่อรักษาไม่ให้นมบูดเน่า โดยอาศัยหลักที่ว่าน้ำตาลจะทำให้มี Osmotic pressure สูง แบคทีเรียส่วนมากจะไม่สามารถเจริญและขยายพันธุ์ในน้ำเชื่อมที่มีความเข้มข้นสูงได้ปริมาณน้ำตาลในนมข้นหวานอยู่ในระหว่าง 40 – 50 เปอร์เซ็นต์
ปริมาณของไขมันในนมข้นหวานมีตั้งแต่น้อยมาก (นมข้นหวานชนิดหางนม) จนถึง 9 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณเนื้อนมมีตั้งแต่ 22 – 28 เปอร์เซ็นต์และปริมาณน้ำมีตั้งแต่ 24 – 27 เปอร์เซ็นต์ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการเติมวิตามินเอและวิตามินดีในนมข้นหวาน
แต่นมข้นหวานก็ยังขาดสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกและเด็ก เนื่องจากนมข้นหวานเป็นนมที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสูง มีสารอาหารที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตมีอยู่น้อยมาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงห้ามใช้เลี้ยงในทารก หรือห้ามใช้เพื่อเสริมคุณค่าทางอาหารแทนนมสำหรับเด็ก อาจทำให้ทารกและเด็กเล็กเกิดภาวะทุพโภชนาการได้
การใช้นมข้นหวานเลี้ยงทารกและเด็กเล็ก ทำให้เกิดโรคขาดโปรตีนและพลังงาน โดยลักษณะอาการของโรคนี้แบ่งออกเป็น 2 อาการ คือ ควาชิออร์กอร์ (Kwashiorkor) เป็นโรคขาดโปรตีนและพลังงาน ประเภทที่มีการขาดโปรตีนเป็นอย่างมาก เด็กมีอาการบวมที่ขาทั้งสองข้าง เส้นผม เปราะบาง และหลุดร่วงง่าย ผิวหนังบางลอกหลุดง่าย (flaky paint dermatosis) ตับโต ซึมเศร้า รวมถึงไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อม
มาราสมัส (Marasmus) เป็นโรคขาดโปรตีนและพลังงาน โดยเฉพาะขาดพลังงานเป็นอย่างมาก เด็กมีอาการแขนขาลีบเล็กและผอมแห้งเหลือหนังหุ้มกระดูก เพราะกล้ามเนื้อและไขมันถูกเผาผลาญเป็นพลังงาน
หากยังได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพออีก ยังอาจนำไปสู่ความผิดปกติของร่างกาย เช่น เกิดภาวะโลหิตจาง (ขาดวิตามินบี ธาตุเหล็ก) เลือดออกตามไรฟัน (ขาดวิตามินซี) สายตาบกพร่อง (ขาดวิตามินเอ) เป็นต้น แนวทางสำคัญในการส่งเสริมภาวะโภชนาการของทารกและเด็ก คือ การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการให้อาหารตามวัยแก่ทารกและเด็กอย่างเหมาะสม
ขอบคุณข้อมูลจาก เพจผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุข