เตือน 'มะเร็งช่องปาก' เจอบ่อยในชาย พบ 11 คนต่อวัน แนะตรวจหาความผิดปกติ

Home » เตือน 'มะเร็งช่องปาก' เจอบ่อยในชาย พบ 11 คนต่อวัน แนะตรวจหาความผิดปกติ



หมอเผย “มะเร็งช่องปาก” พบบ่อยเป็นอันดับ 6 ในผู้ชาย เจอที่ตำแหน่งลิ้นมากสุด ย้ำสูบบุหรี่ ยาเส้น ดื่มเหล้า หมากพลู แสงแดด ส่งผลทั้งสิ้น แนะจุดตรวจช่องปากหาความผิดปกติ

7 เม.ย. 66 – นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งช่องปากพบได้บ่อยในคนไทย โดยเฉพาะเพศชาย เป็นอันดับที่ 6 แต่ละปีพบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 3,840 คนต่อปี หรือวันละ 11 คน

ส่วน ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุดคือ ลิ้น ตามด้วยใต้ลิ้น และบริเวณเหงือก อาการมีได้หลายอาการขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น ได้แก่ เป็นแผลเรื้อรังในช่องปาก ซึ่งไม่หายภายใน 2-3 สัปดาห์ เป็นก้อนนูนหรือฝ้าขาวหรือแดงในช่องปาก ฟันหลุด ฟันโยก ปวดในช่องปากหรือปวดหู เคี้ยวหรือกลืนลำบาก และก้อนที่คอ

นพ.เอกภพ แสงอริยวนิช แพทย์เฉพาะทางสาขาโสต ศอ นาสิก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สาเหตุการเกิดมะเร็งช่องปากที่สำคัญคือ สูบบุหรี่ ยาสูบ ยาเส้น, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเคี้ยวหมากพลู

นอกจากนี้ สาเหตุอื่นที่พบได้ เช่น เป็นแผลเรื้อรังในช่องปาก, ใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดี, สุขภาพช่องปากไม่ดีหรือมีฟันผุมาก, มีฟันที่แหลมคม, ได้รับแสงอาทิตย์โดยตรงเป็นประจำ (เสี่ยงต่อมะเร็งริมฝีปาก) การตรวจวินิจฉัยจะตัดชิ้นเนื้อรอยโรคที่สงสัยเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา หลังรับการวินิจฉัยแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เพื่อประเมินระยะของโรคและวางแผนการรักษาต่อไป

การรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรค สภาพร่างกาย โรคประจำตัว โดยพิจารณาการผ่าตัดเป็นหลัก และพิจาณาให้รังสีรักษาในผู้ป่วยบางราย สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้จะรักษาด้วยวิธีรังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัด ให้ผลการรักษาที่ใกล้เคียงกับการผ่าตัด

ส่วนวิธีการป้องกันได้แก่ งดสูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่, งดการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ไม่เคี้ยวหมาก, ใส่ฟันปลอมที่พอดี และการตรวจเช็คสุขภาพช่องปากและฟันทุก 6 เดือน เนื่องจากช่องปากเป็นตำแหน่งที่สามารถมองเห็นไม่ยาก ประชาชนสามารถตรวจหารอยโรค แผล หรือก้อนในช่องปากด้วยตนเองได้

“หลังแปรงฟันให้ส่องกระจกตรวจ 1. ริมฝีปากด้านนอก เยื่อบุริมฝีปากด้านใน 2. กระพุ้งแก้ม และเหงือก 3. ลิ้น ใต้ลิ้น และพื้นช่องปาก และ 4. เพดานปาก หากมีอาการผิดปกติ หรือสงสัยว่า มีความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ หรือทันตแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง” นพ.เอกภาพกล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ