วิจัยชี้ “นอนไม่เป็นเวลา” อาจเพิ่มเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม รวมทั้งความดันโลหิต เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง และโรคอ้วน
เมื่อวันพฤหัสบดี (14 ธ.ค.) งานวิจัยที่นำโดยมหาวิทยาลัยโมนาช ของออสเตรเลีย เผยว่าผู้ที่มีรูปแบบการนอนหลับไม่เป็นเวลา อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ที่ตื่นและนอนหลับแบบเป็นเวลา
มหาวิทยาลัยฯ ระบุว่า การศึกษานี้ไม่ได้พิสูจน์ว่าการนอนไม่เป็นเวลาทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม แต่มุ่งแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของสองสิ่งนี้ โดยพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างความสม่ำเสมอในการนอนหลับ กับความเสี่ยงเผชิญภาวะสมองเสื่อมในอนาคต และศึกษาปริมาตรสมองจากการสแกนสมองด้วย
นักวิจัยใช้ข้อมูลจาก ยูเค ไบโอแบงก์ (UK Biobank) เพื่อศึกษาผู้คนจำนวน 88,094 คน อายุเฉลี่ย 62 ปี โดยใช้อุปกรณ์สวมใส่ข้อมือตรวจวัดดัชนีความสม่ำเสมอการนอนหลับ และติดตามผลเป็นเวลาเฉลี่ย 7.2 ปี ซึ่งพบว่าผู้เข้าร่วม 480 คนมีภาวะสมองเสื่อม
การศึกษาพบว่าผู้ที่มีรูปแบบการนอนหลับไม่เป็นเวลามากที่สุด มีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมสูงที่สุด
แมทธิว เพส รองศาสตราจารย์จากคณะจิตวิทยา และสถาบันเทิร์นเนอร์เพื่อสุขภาพสมองและสุขภาพจิตของมหาวิทยาลัยฯ ระบุว่าผลการวิจัยเน้นย้ำความสำคัญของการนอนหลับที่สม่ำเสมอ
เพสระบุว่า การนอนหลับที่ไม่เป็นเวลา อาจรบกวนนาฬิกาชีวภาพภายในของคนเรา ที่ควบคุมจังหวะเวลาการทำงานของกระบวนการต่างๆ ของร่างกายตลอด 24 ชั่วโมง อาทิ การเผาผลาญน้ำตาลในเลือดและไขมัน และการควบคุมความดันโลหิต
การหยุดชะงักของจังหวะเหล่านี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิต เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง และโรคอ้วน เมื่อรวมกันแล้วปัจจัยเหล่านี้เชื่อมโยงกับความเสียหายของหลอดเลือด และการอักเสบในสมอง ซึ่งอาจนำไปสู่การเสื่อมของระบบประสาทและภาวะสมองเสื่อมที่ตามมา
ดร.สเตฟานี เยียลลูรู ผู้เชี่ยวชาญจากคณะจิตวิทยาและสถาบันฯ ระบุว่าคนเราต้องให้ความสำคัญกับการนอนหลับเป็นเวลาและสุขภาพมากขึ้น หลายคนอาจยังไม่ทราบความเชื่อมโยงของสองสิ่งนี้ เนื่องจากงานวิจัยการนอนหลับส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบระยะเวลาการนอนหลับและผลลัพธ์ด้านสุขภาพ มากกว่ารูปแบบการนอนหลับที่สม่ำเสมอของผู้คน
อนึ่ง งานวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ในวารสารประสาทวิทยา ซึ่งเป็นวารสารทางการของสถาบันประสาทวิทยาอเมริกัน (American Academy of Neurology)