เตือนสงกรานต์ ดื่มไม่ขับ แก้วเดียวก็ตายได้ ทำผิดซ้ำเพิ่มโทษทั้งจำทั้งปรับ

Home » เตือนสงกรานต์ ดื่มไม่ขับ แก้วเดียวก็ตายได้ ทำผิดซ้ำเพิ่มโทษทั้งจำทั้งปรับ


เตือนสงกรานต์ ดื่มไม่ขับ แก้วเดียวก็ตายได้ ทำผิดซ้ำเพิ่มโทษทั้งจำทั้งปรับ

เตือนสงกรานต์ ดื่มไม่ขับ แก้วเดียวก็ตายได้ ชี้แอลกอฮอล์สูง 150 มก.% เพิ่มเสี่ยงอุบัติเหตุ 40 เท่า ทำผิดซ้ำเพิ่มโทษทั้งจำทั้งปรับ

วันที่ 4 เม.ย. 2566 ที่วัดพุทธปัญญา จ.นนทบุรี สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย แถลงข่าว “สงกรานต์ดื่มไม่ขับ กรึ่มๆ ก็ถึงตาย”

พระมหาทวี โพธิเมธี เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา กล่าวว่า วันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ไทย เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของหลายคน ขอฝากคติธรรมให้นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติว่า “พระพุทธเจ้าทรงได้ให้ชาวพุทธเว้นจากการดื่มน้ำเมา” อันเป็นเหตุทำให้สติ (ความระลึกได้) สัมปชัญญะ (ความรู้ตัว) ของตนเองหายไป เปรียบเสมือนเรือที่ไร้หางเสือคอยบังคับทิศทาง

พระมหาทวี กล่าวต่อว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการทำผิดศีลข้อที่ 5 ส่งผลให้เกิดการขาดความยับยั้งชั่งใจ เพราะคนที่ขาดสติจากการดื่มแอลกอฮอล์สามารถกระทำความชั่วได้ง่าย ประพฤติผิดในศีลข้ออื่นๆ ได้ง่าย
“คนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงสงกรานต์ ไปทำบุญให้บรรพบุรุษ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ เพื่อความเป็นสิริมงคล เติมพลังใจจากครอบครัว การขับรถกลับหากมีการดื่มจะยิ่งคุมสติไม่ได้เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุไปเฉี่ยวชนคนอื่นให้ได้รับบาดเจ็บหรือถึงตาย ทำให้เพื่อนร่วมทางไม่ได้ไปถึงจุดหมาย”

“ขอให้ชาวพุทธสืบสานวัฒนธรรมที่ดีงาม ด้วยกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ลด ละ เลิก น้ำเมา เพื่อลดอุบัติเหตุ ส่งผลเสียต่อตนเอง ผู้อื่น ทรัพย์สิน นำมาซึ่งความโศกเศร้าเสียใจของครอบครัว” พระมหาทวี กล่าว

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สงกรานต์ปีนี้น่าจะมีความคึกคักเป็นพิเศษของการท่องเที่ยวและเดินทาง เพราะเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว สสส.รณรงค์ “ดื่มไม่ขับ กรึ่มๆ ก็ถึงตาย” ต่อยอดจากเทศกาลปีใหม่ เน้นย้ำผลกระทบจากการดื่ม แม้เพียงแก้วเดียวแล้วขับที่อาจส่งผลถึงชีวิต เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง “ดื่มแล้วขับ” มีคลิปวิดีโอออนไลน์ “พ่อที่รัก” สะท้อนการเกิดอุบัติเหตุอาจไม่ได้ส่งผลกระทบกับตัวเอง แต่ยังกระทบถึงคนรอบข้าง และมีคลิปวิดีโอเรื่องเล่าจากผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากบิ๊กไบค์ และเหยื่อจากคนที่ขับย้อนศรนพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ภาคีเครือข่ายจัดพื้นที่นำร่องและขยายพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยลดปัจจัยเสี่ยงในถนนตระกูลข้าวกว่า 60 แห่ง และพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ากว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ สงกรานต์ปี 2565 อุบัติเหตุทางถนนเกิดจากการขับรถเร็ว และดื่มแล้วขับ รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ส่วนหลับในเป็นอีกหนึ่งสาเหตุ

นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าครอบครัวถึง 51% และ 53% ขับขี่ออกไปเสียชีวิตใกล้บ้านในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตร ดังนั้น สงกรานต์ 2566 ขอชวนคนไทยใส่ใจขับขี่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ สวมหมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย พักผ่อนให้เพียงพอก่อนเดินทาง

ด้าน นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผอ.สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า สงกรานต์ปี 2565 สร้างความสูญเสีย 278 ราย บาดเจ็บ 1,869 ราย เกิดผู้พิการรายใหม่ขึ้นทุกปี คาดว่าสงกรานต์ปีนี้ยังน่าห่วงเช่นเดิม ปัจจัยหลายด้านบ่งชี้ว่า ชาวไทยและชาวต่างชาติจะออกมาเล่นน้ำจำนวนมาก หลายพื้นที่เตรียมงานใหญ่ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ประชาชนที่เดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยว เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับ ขับเร็วนายพรหมมินทร์ กล่าวต่อว่า อยากให้ทุกคนเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษช่วงสงกรานต์ หากมีการดื่มไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็เกิดอาการมึนเมาได้ มีผลออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้สมองทำงานช้าลง เดินไม่ตรง ความคิดสับสน หากดื่มแล้วขับ “เพียงแก้วเดียว…ก็ถึงตายได้” จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยง โดยการดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แล้วขับขี่ โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 2 เท่า ส่งผลทางระบบประสาท และมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์

“หากเป็น 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเพิ่มความเสี่ยงถึง 6 เท่า สูญเสียการทรงตัว มึนงง เดินไม่ตรงทาง และหากสูง 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เสี่ยงสูงถึง 40 เท่า จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกตัวช้า ระบบในร่างกายทำงานแย่ลง ไม่สามารถควบคุมรถได้”

นายพรหมมินทร์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการเพิ่มโทษผู้เมาแล้วขับ คือ การทำผิดครั้งแรกมีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 ถึง 20,000 บาท หากทำผิดซ้ำข้อหา “เมาแล้วขับ” ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000 ถึง 100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ ถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ