กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครอง กำชับบุตรหลาน โดยเฉพาะเด็กเล็ก หลังเล่นดิน ทราย ล้างมือให้สะอาดจนติดเป็นนิสัย ป้องกันพยาธิชอนไช และลดการติดและการแพร่ระบาดของโควิด-19
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่คุณแม่ท่านหนึ่งได้เผยแพร่ภาพ มือของลูกชายที่มีพยาธิชอนไชอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณอุ้งมือของลูกอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเกิดจากโรคผิวหนังติดเชื้อที่เกิดจากการเคลื่อนที่ไปตามผิวหนังจากตัวอ่อนของพยาธิหรือแมลงบางชนิด
พยาธิชอนไชมือเด็กได้อย่างไร
โดยทั่วไปเกิดจากตัวอ่อนระยะที่ 3 ของพยาธิปากขอ ชนิด Ancylostoma Braziliensis และ Ancylostoma Caninum ที่มากับฝุ่น ดิน หรือทราย อุจจาระของแมวหรือสุนัขปะปนอยู่ โดยตัวอ่อนระยะติดต่อจะไชเข้าสู่ผิวหนัง และค่อยๆ คืบคลานไปตามระหว่างชั้นของผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเกิดเป็นร่องคดเคี้ยว (serpiginous tunnel) ต่อมาเกิดเป็นตุ่มใสขนาดเล็ก (Vesicle) ขึ้นตามร่องเหล่านี้ เรียกพยาธิสภาพบนผิวหนังเช่นนี้ว่า Creeping Eruption โดยมากพบร่องในลักษณะนี้หลายๆ ร่อง เช่น พบตามหัวเข่า ต้นขา หน้าแข้ง มือหรือแขน
วิธีป้องกันพยาธิชอนไชมือ
พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงต้องกำชับให้บุตรหลานหมั่นล้างมือให้สะอาดและถูกต้อง ปฏิบัติตามหลัก 7 ขั้นตอน ได้แก่
- ฝ่ามือถูฝ่ามือ
- ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว
- ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว
- หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ
- ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ
- ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ
- ถูรอบข้อมือ
ทั้งนี้ ควรล้างมือหลังหยิบจับของเล่น รวมถึงหมั่นทำความสะอาดของเล่นบ่อยๆ ด้วย แต่ในกรณีที่ไม่สะดวกล้างมือด้วยสบู่ สามารถใช้เจลล้างมือ ซึ่งหาซื้อได้ง่ายและพกติดตัวได้ตลอดเวลา โดยการให้ความสำคัญกับการล้างมืออย่างถูกวิธี ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของพยาธิเท่านั้น แต่ควรล้างมือให้สะอาดทั้งในช่วงที่มีการระบาดของโรคต่างๆ ในช่วงหน้าฝน และช่วงระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย โดยทำให้ติดเป็นนิสัยเพราะการล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี จะช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้ อาทิ โรคปอดบวม ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ และพยาธิ เป็นต้น