กรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ เตรียมพร้อมป้องกัน รับมือลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม จัดจนท.ประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วม เฝ้าระวัง24 ชั่วโมง
10 ส.ค. 65 – ที่ศาลาว่าการกทม. นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมป้องกันและรับมือลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำในระยะนี้ว่า
สำนักการระบายน้ำ ได้เตรียมวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝน น้ำหลาก และน้ำทะเลหนุนสูง โดยมีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งจัดประชุมหารือร่วมกับ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
เพื่อบูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและวางแผนปฏิบัติการเตรียมการรองรับสถานการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อลดผลกระทบและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนให้น้อยที่สุด
ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังบริเวณจุดอ่อน หรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม และจัดเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน หากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือได้ในทันทีตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง ความยาว 87.93 กม. โดยเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรของ กทม.ความยาว 79.63 กม. มีระดับความสูงของคันกั้นน้ำอยู่ที่ระดับ +2.80 ม.รทก.ถึง +3.50 ม.รทก. (เมตร. ระดับทะเลปานกลาง) สามารถรองรับปริมาณน้ำเหนือหลากที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ ได้ที่ปริมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
ส่วนแนวป้องกันตนเองของหน่วยงานราชการอื่นและของเอกชน ความยาว 8.30 กม. เช่น แนวป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทาน กองทัพเรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย แนวป้องกันน้ำท่วมของศาสนสถาน หรือศาลเจ้า ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า อู่จอดเรือ ร้านค้า สถานประกอบการ ร้านอาหารริมน้ำ อาคารโกดังสินค้า ซึ่งบางแห่งมีระดับแนวคันกั้นน้ำต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรง หรือแนวฟันหลอ กทม.ได้จัดเรียงกระสอบทราย เพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำและเสริมความมั่งคงแข็งแรง
เพื่อป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงได้อย่างปลอดภัย ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง สำหรับชุมชนนอกแนวป้องกันน้ำท่วมที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาแรงคลื่นกระทบกับพื้นบ้านที่เกิดจากเรือวิ่งผ่าน กทม.ได้ประสานกรมเจ้าท่าตรวจสอบ กำชับ และใช้มาตรการเรื่องการเดินเรือ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชนเหล่านี้
สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงบริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถติดตามสถานการณ์น้ำ
รวมถึงช่องทางการแจ้งเหตุเดือดร้อนและขอรับความช่วยเหลือจาก กทม.ได้ที่ http://dds.bangkok.go.th/www.prbangkok.com Facebook:@BKK.BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BESTสำนักงานประชาสัมพันธ์
รวมถึงแจ้งจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมบนถนนสายหลัก และแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านสายด่วน กทม.1555 หรือศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0 2248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue มายังสำนักการระบายน้ำ
ด้านนายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่าได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2565 โดยได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติการหลัก
ประกอบด้วย สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และหน่วยสนับสนุนประกอบด้วย สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยแต่ละหน่วยงานจะจัดทำแผนรองรับเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรและระบบการปฏิบัติ เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำและป้องกันผลกระทบจากปริมาณน้ำเหนือที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนและพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ
โดยเฉพาะชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ หรือพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ นอกจากนี้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าประจำจุดเสี่ยงและเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในระดับสูงจากมวลน้ำเหนือ
เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนฟื้นฟูเยียวยาสงเคราะห์ผู้ประสบภัยภายหลังจากอุทกภัยสิ้นสุดแล้ว ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วม หรือเหตุสาธารณภัยสามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 หรือ 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง