วันที่ 27 มิถุนายน 2566 ที่บริเวณ ลำห้วยทาง เขตบ้านไผ่ปง หมู่ 4 ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปางซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมาย ประมาณ 500 เมตร เจ้าหน้าสำนักงานธรณีวิทยาลำปาง ประชาชนผู้นำชุมชนตลอดจนพระภิกษุสงฆ์ เร่งเข้าตรวจสอบที่บริเวณลำห้วยดังกล่าว
หลังจากได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าได้พบซากฟอสซิลหรือซากหอยโบราณที่ฝังอยู่ในผาหินลาดกลางลำห้วย มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่จำนวนมาก และคาดมีอายุนับหลายล้านปี พร้อมเตรียมพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติ
ด้านนางสาว กมลลักษณ์ วงค์โก ผ.อ ส่วนสำนักธรณีวิทยา เขต 1 ลำปาง เปิดเผยว่าหลังได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่อำเภอแจ้ห่มจังหวัดลำปาง ว่ามีชาวบ้านในหมู่บ้านดังกล่าวพบซากฟอสซิล หรือซากหอยดึกดำบรรพ์ กลางลำห้วยจึงนำเจ้าหน้าที่จากสำนักงานธรณีวิทยาลำปาง ออกมาสำรวจ ซากหอยดังกล่าว
และในเบื้องต้นเป็นซากหอย am monite ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 210 ล้านปี ถึง 240 ล้านปี และยังพบว่าซากหอยดังกล่าวยังกระจายอยู่บนหินผา กว่า 5 ชั้นในสภาพค่อนข้างจะสมบูรณ์และมีเป็นจำนวนมากตามหน้าผาหิน และคาดว่าซากหอย am monite ดึกดำบรรพ์มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่เคยถูกตรวจพบมาในจังหวัดลำปาง
สำหรับประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณีเป็นหน่วยงานหลักที่ศึกษาและรับผิดชอบเรื่องซากดึกดำบรรพ์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ทางบรรพชีวินวิทยา ทั้งซากดึกดำบรรพ์ของพืชและสัตว์อีกหลายพื้นที่ซึ่งการเกิดซากสัตว์หอยดึกดำบรรพ์เป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่ง
เนื่องจากซากของสิ่งมีชีวิต เมื่อตายไป จะต้องถูกเก็บรักษาไว้ โดยไม่ถูกย่อยสลายภายในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น ซากของมันต้องถูกปกคลุมด้วยเศษหิน ดินตะกอน ลาวา ทำให้ซากสิ่งมีชีวิตที่ถูกเก็บรักษาไว้ใต้ชั้นหินได้เป็นอย่างดี จึงมีสภาพสมบูรณ์ มักเกิดขึ้นบนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ ในท้องทะเลสาบและมหาสมุทร
เนื่องจากมีตะกอนขนาดเล็กสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ซากฟอสซิลไม่ถูกทำลายและเก็บรักษาไว้ในชั้นหินได้เป็นอย่างดี ประกอบกับตัวซากหอยแอมโมไนต์ที่ค้นพบแห่งนี้ยังมีสภาพสมบูรณ์และยังมีหลายขนาดอีกด้วย
เบื้องต้นได้ประสานให้ผู้นำชุมชนประชาชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นเตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาเรียนรู้ซากฟอสชิล พร้อมทั้งไม่ให้ชาวบ้านหรือนักท่องเที่ยวเข้ามาในบริเวณหน้าผาหินเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับซากดังกล่าวอีกด้วย