โอกาสทางการศึกษาของเด็กพิการในเมืองไทย มีมากน้อยแค่ไหน.. บุญรอด อารีย์วงษ์ ยูทูบเบอร์ผู้พิการชื่อดัง ช่อง poocao channel ที่มีคนติดตามนับแสน บัณฑิตจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ และผ่านอุปสรรคมากมาย ด้วยความพยายามจากทั้งของตัวเองและหลายฝ่าย มาบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง
บุญรอด กล่าวว่า “การศึกษาสำคัญกับทุกคน ไม่ว่าจะพิการหรือไม่พิการ แต่คนพิการไม่มีโอกาสได้เข้าไปเรียน เนื่องจากปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ปัจจัยทางบ้าน นโยบายภาครัฐที่ไม่เอื้ออำนวย”
นับตั้งแต่เข้าชั้นอนุบาล บุญรอดต้องผ่านความยากลำบากมากกว่าเด็กคนอื่นๆ โรงเรียนหลายๆ แห่ง ไม่ยอมรับผู้พิการเข้าไปเรียน เพราะกลัวเป็นภาระ แต่ด้วยแรงสนับสนุนของที่บ้านและโรงเรียน ทำให้บุญรอดเข้าไปเรียน จนถึงระดับอุดมศึกษา บุญรอดเข้าไปเรียนที่ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ซึ่งบุญรอดบอกว่า เรียนได้แทบ 100% เพราะมหาวิทยาลัยมีโครงการนักศึกษาพิการ มีคนพิการเรียนอยู่จำนวนมาก ที่สำคัญมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาพิการ
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาเป็นปัญหาที่สะท้อนคุณภาพชีวิตระหว่าง “คนปกติ” กับ “คนพิการ” เรื่องความเหลื่อมล้ำและขาดโอกาส เพราะพื้นที่เรียนรู้ในสังคมจำนวนหนึ่งอาจไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ โดยข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดือนกันยายน ปี 2564 พบคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการในประเทศไทย 2,095,205 คน ในจำนวนนี้มีคนพิการที่ไม่ได้รับการศึกษา 44,447 คน
ขณะที่ผลสำรวจของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พบคนพิการเรียนไม่จบปริญญาเกือบ 100% แบ่งเป็น คนพิการเรียนระดับประถมศึกษา 62% เรียนระดับมัธยมศึกษา 8.8% และเรียนระดับอุดมศึกษา เพียงแค่ 1.2% เหตุผลที่ทำให้คนพิการเข้าไม่ถึงการศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พร้อมทางกาย จิตใจ อารมณ์ สภาพแวดล้อม และสถานะทางการเงินของครอบครัว
“ปัญหาการศึกษาที่เกิดขึ้นกับคนพิการ สสส. และภาคีเครือข่ายทำงานเชิงรุกทั้งขับเคลื่อนนโยบายและจัดทำช่องทางหาข้อมูลเรื่องการศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนพิการได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา โดยเว็บไซต์เด็กพิการเรียนไหนดี ออกแบบเนื้อหาให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้คนพิการเข้าไปหาความรู้ ข้อมูล และมีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาระหว่างเรียน เว็บไซต์จะแนะนำเรื่อง “เรียนอะไรดี” จะมีแบบทดสอบประเมินทักษะอาชีพที่ถนัด สอนเรื่องการ “ปั้นคำ” อธิบายวิธีสัมภาษณ์เข้าเรียนต่อ และแนวทางการ “ปั้นพอร์ต” ทำแฟ้มสะสมงาน Portfolio ให้น่าสนใจ พร้อมแนะนำสถานศึกษา ช่องทางการเข้าสอบตรง และโควต้า และรวบรวมบทสัมภาษณ์ของรุ่นพี่คนพิการ ตัวแทนอาชีพต่างๆ มาสร้างเป็นแรงบันดาลใจ” นางภรณี กล่าว
มูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม (Together Foundation) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัวเว็บไซต์ “เด็กพิการเรียนไหนดี” มีเป้าหมายสร้างพื้นที่ทางการศึกษาให้เด็กพิการได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การแนะแนวการศึกษา มีงานทำ เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะที่ดีเทียบเท่ากันทุกคน
มาร่วมเปิดตัวเว็บไซต์พร้อม ๆ กันวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เวลา 16.00 – 16.30 น. Live ผ่านเพจ เด็กพิการเรียนไหนดี