เดือด! ก้าวไกล-ส.ว.ซัดกันนัว ถกพรบ.ตำรวจวันที่ 7 ‘ชวน’รีบหย่าศึก หวั่นถูกมองยื้อ

Home » เดือด! ก้าวไกล-ส.ว.ซัดกันนัว ถกพรบ.ตำรวจวันที่ 7 ‘ชวน’รีบหย่าศึก หวั่นถูกมองยื้อ


เดือด! ก้าวไกล-ส.ว.ซัดกันนัว ถกพรบ.ตำรวจวันที่ 7 ‘ชวน’รีบหย่าศึก หวั่นถูกมองยื้อ

ถกพ.ร.บ.ตำรวจ วันที่ 7 ฟัดกันนัว ก้าวไกล ฉะสอดไส้ 180 วันบังคับใช้กม. เอื้อประโยชน์บางคน สมชาย ชี้หน้า ซัดอย่ามโน ชวน ต้องหย่าศึก ยันข้อบังคับเปิดช่องทำได้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม โดยพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว เป็นวันที่ 7 โดยพิจารณาถึงมาตรา 169/1

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะกมธ. ที่ขอแก้ไขมาตรา 169/1 อภิปรายว่า เมื่อเราทำกฎหมายแล้วต้องรอบคอบและใช้ปฏิบัติได้ ไม่ให้เกิดปัญหา จึงคิดว่าสภาน่าจะให้โอกาสตัดสินใจปรับย้าย เช่น การปรับจากหน่วยเดิม ขอย้ายกลับจังหวัด หรือย้ายกลับภาคตัวเอง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยทันทีไม่ได้ แต่กฎหมายนี้เมื่อออกไปแล้วมีทั้งคนได้เปรียบ เสียเปรียบ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องสร้างกระบวนการให้เกิดนิติธรรมให้ได้ และจะต้องไม่เกิดการสะดุดในการเปลี่ยนผ่านการปฏิรูป

“ผมรับฟังจากตำรวจ และหลายด้าน เห็นว่าจะเป็นต้องมีบทเฉพาะกาลในมาตรานี้ จึงได้ขอว่าเรามีระยะเวลา 180 วัน ในการแต่งตั้งข้าราชการที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพ.ร.บ.ฉบับนี้ และช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องให้เวลาเขาในการปรับตัว และกระบวนการแต่งตั้งทั้งหมดตั้งแต่ ผบ.ไปถึงระดับล่างหลายหมื่นอัตรา ทั้งหมดจะดำเนินการโดยไม่มีปัญหาให้อยู่ภายใน 180 วัน ไม่ยืดเยื้อไปกว่านี้” นายสมชาย กล่าว

ด้านพล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร. ในฐานะกมธ. ชี้แจงเหตุผลที่เสนอแก้ไขให้มีกรอบเวลา 180 วัน เพื่อรักษาความเที่ยงธรรมในการแต่งตั้งให้ข้าราชการตำรวจได้ศึกษาและเตรียมตัว มีโอกาสเลือกเส้นทางและพื้นที่รับราชการตามสมัครใจก่อน และการที่กฎหมายจะมีผลระหว่างการคัดเลือกหรือแต่งตั้ง จะกระทบต่อสิทธิของข้าราชการตำรวจ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

พล.ต.อ.ปิยะ กล่าวว่า ส่วนที่กฎหมายจะมีผลระหว่างการคัดเลือกหรือแต่งตั้ง จะกระทบสิทธิข้าราชการตำรวจหรือไม่นั้น ขณะนี้กระบวนการวาระการแต่งตั้งปี 2565 ได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิ.ย. เริ่มตั้งแต่วาระตรวจสอบประวัติการแต่งตั้ง การตรวจสอบวินัย และประกาศอาวุโสสำหรับข้าราชการตำรวจ เพื่อเลื่อนตำแหน่งในทุกระดับและได้เปิดให้ตำรวจทุกนายได้ตรวจสอบ และโต้แย้งสิทธิ ทั้งนี้ คณะกรรมการของแต่ละหน่วย ได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว โดยวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการประกาศยืนยันถึงความถูกต้องดังกล่าว ดังนั้น การดำเนินการต่างๆ ที่ได้ทำไปตามกฎหมายเดิมนั้น ก็ต้องดำเนินการต่อเนื่องจนครบกระบวนการแต่งตั้ง ไม่ได้มีเจตนาใดอื่นแฝง

ทำให้นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงว่า การที่รัฐสภาจะดำเนินการแบบนี้ถือว่าฝ่าฝืนข้อบังคับ ทำให้กระบวนการออกกฎหมายของรัฐสภมีปัญหาและคลาดเคลื่อนต่อหลักการณ์ที่ควรจะเป็น และขัดหลักนิติธรรมได้ เนื่องจากการประชุมเสนอว่า การที่กมธ. จะมีการแก้ไขนั้น ให้ถือตามมาตรา 108 ตามข้อบังคับให้ถือตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในการแก้ไขเกี่ยวกับกฎหมายปฏิรูปประเทศ โดยอ้างมาตรา 96 คือในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้วให้รัฐสภาพิจารณา

เริ่มต้นด้วยชื่อร่างคำปรารภ แล้วพิจารณาเรียงตามลำดับมาตรา และให้สมาชิกอภิปรายเฉพาะถ้อยคำหรือข้อความที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม หรือผู้แแปรญัตติที่มีการสงวนคำแปรญัตติ หรือกมธ.ที่มีการสวงนความเห็นไว้ เว้นแต่ที่ประชุมรัฐสภาจะมีมติเป็นอย่างอื่น

จึงอยากให้ที่ประชุมดูมาตรา 91 ว่าการเสนอต้องเสนอคำแปรญัตติล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อกมธ.ไม่น้อยกว่า 7 วัน และมาตรา 92 รายงานต่อประธานรัฐสภา กมธ.จะต้องมีความเห็นมติเกี่ยวกับคำแปรญัตตินั้น และมีคำสงวนต่างๆ ไว้ด้วย เรื่องอย่างนี้เป็นการล็อกว่า จะต้องทำในกระบวนการของกมธ. ให้เสร็จแล้วต้องถือตรงนั้นมาพิจารณา แต่มาตรา 96 ให้พิจารณาเฉพาะถ้อยคำที่พิจารณามาแล้ว ไม่ใช่เสนอมาแล้ว เอาแก้ซึ่งๆ หน้าไม่ได้ทำให้กระบวนการมีปัญหา

ยังไม่ต้องพูดถึงเบื้องหลังมาตรา 169/1 ที่ข่าวออกมาก็ชัดเจนว่าเจตจำนงเพื่อเอื้อประโยชน์ช่วยคนบางคนให้มีอำนาจต่อ ไม่ได้สุจริต แต่อ้างตำรวจชั้นผู้น้อย มาตรา 169/1 ไม่จำเป็นต้องมี สามารถตัดออกแล้วให้กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ไปได้เลย จะแต่งตั้งก็ไม่มีข้อเสียหายอะไร และไม่ขัดต่อหลักในการพิจารณาของรัฐสภาแห่งนี้ด้วย การที่ปล่อยให้เสนอโดยผิดข้อบังคับ และเจตนาเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย ผมคิดว่าน่าจะไม่ถูกต้อง ผมจึงคัดค้านการใช้มาตรา 96 มาพิจารณา” นายธีรัจชัย กล่าว

ด้านนายสมชาย ใช้สิทธิพาดพิง ว่าน่าจะเข้าใจผิด เพราะการประชุมคราวที่แล้ว นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ใช้มาตรา 108 กับ 96 ตามข้อบังคับ แต่กมธ.ไม่ได้เสนอ และกมธ.เรียกประชุม 3 ครั้งในการแก้ปัญหา ตนเสนอตามข้อบังคับที่เกี่ยวข้องคือข้อ 75 ท่านไปมโนอย่างไรก็ไม่ทราบ พร้อมชี้หน้า ทำให้นายธีรัจชัย ลุกขึ้นประท้วงขอให้ถอนคำว่ามโน เพราะรู้สึกว่าท่านจะไม่สุภาพเลย

แต่นายสมชาย ไม่ยอมถอนคำว่า มโน จึงมีการโต้เถียงกัน และนายชวน ได้ให้นายสมชาย ถอนคำพูด โดยนายสมชายกล่าวว่า ถอนคำว่ามโนได้ แต่นายธีรัจชัย ต้องถอนคำที่กล่าวหาว่าไปเอื้อประโยชน์บุคคคลอื่น ทำให้นายธีรัจชัย ไม่พอใจกล่าวขึ้นว่า “ท่านมาชี้หน้าพฤติการณ์อย่างนี้มันไม่สุภาพ ท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่” ทำให้นายสมชาย สวนขึ้นว่า “ไม่เป็นไร ผมไม่กลัวอะไรท่านหรอก อย่ามาขอข้อมูลเลย แอบขอข้อมูลอยู่เรื่อย ผมเป็นผู้ใหญ่ ไม่ไปรบกับเด็ก”

ขณะที่นายชวน พยายามไกล่เกลี่ยว่า เดี๋ยวตำรวจจะหาว่าเราถ่วงเวลา จากนั้นนายสมชาย อภิปรายยืนยันว่า ตามข้อบังคับที่ 75 วรรสอง ระบุชัดเจนว่า กมธ.สามารถแก้ไขเพิ่มเติม และพิจารณาเสร็จแล้ว ดังนั้น สามารถทำได้

ด้านนายชินวรณ์ ใช้สิทธิกล่าวพาดพิงว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตนเสนอทางออกให้รัฐสภา โดยประธานรัฐสภาในตอนนั้นได้ปิดการประชุมไปก่อน แต่ความจริงไม่ได้ถอนออกไปเปลี่ยนข้อความ การที่กมธ.อ้างว่าจะใช้ข้อบังคับที่ 75 สามารถทำได้ เพราะกมธ.สามารถเพิ่มเติมได้ และการเสนอแก้ไขมาใหม่ไปตัดรายงาน 169/1 ทั้งหมด และต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ส่วนนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การที่จะให้พล.ต.อ.ปิยะ เสนอทำไม่ถูกต้อง แม้ตนเห็นด้วย แต่ขอให้กมธ.ทำให้ถูกต้อง และที่ประชุม และมีมติอย่างถูกต้อง การอ้างข้อบังคับที่ 75 เราทำกันเป็นประจำในกมธ.

จากนั้นนายชวน วินิจฉัยว่า วันนั้นก็มีปัญหาที่มีการเสนอ ข้อความไม่เกี่ยวข้องกับการบัญญัติที่ระบุใน 169/1 ซึ่งประธานก็เห็นด้วยกับผู้ประท้วง เพราะไม่สามารถเขียนข้อความใหม่เข้าไปเพิ่มเติมได้ แต่กระบวนการได้อนุญาตให้ กมธ.กลับไปทบทวน และได้ข้อยุติตามที่กล่าวถึง กระบวนการที่นายธีรัจชัย พูดนั้นไม่ผิด แต่ที่ประชุมสามารถอนุญาตให้กลับไปทบทวนได้ ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่ต้องขอมติ เพราะการพิจารณากฎหมายต้องช่วยกันดูอย่างให้ผิดพลาด และไม่ได้ผิดข้อบังคับสามารถทำได้ เป็นแนวปฏิบัติที่ทำอยู่ ขณะนี้ถือว่าถูกต้องแล้ว

จากนั้นเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 169/1 ต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ