ข่าวรองประธานาธิบดีซูรินาเม ลงเล่นฟุตบอลอาชีพด้วยวัย 60 ปี ในเกมฟุตบอลถ้วยของสโมสรโซนคอนคาเคฟ ถือเป็นไวรัลไปสดๆร้อนๆในช่วงที่ผ่านมา และหลายคนน่าจะได้เห็นกันแล้ว
สิ่งที่คุณเห็นไม่ได้บอกทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเขา.. เพราะเบื้องหลังกว่าจะมาถึงจุดนี้ต่างหากที่มันหยดยิ่งกว่าหนังล้างแค้นสักเรื่อง
นี่คือเรื่องราวของ รอนนี่ บรุนสไวก์ รองประธานาธิบดีของประเทศซูรินาเม ผู้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักฟุตบอลที่อายุมากที่สุดที่ลงสนามในเกมที่ฟีฟ่ารับรอง
ติดตามได้ที่ Main Stand
ระเบิดภูเขาเผากระท่อม
หลายคนบนโลกนี้ไม่ได้เกิดมาแล้วมีทางเลือกในชีวิตของตัวเอง พวกเขาอาจเกิดมาพร้อมกับแนวทางที่ถูกพ่อแม่หรือบรรพบุรุษวางไว้ให้ มันคือภารกิจที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ และชีวิตของ รอนนี่ บรุนสไวก์ รองประธานาธิบดีซูรินาเม ก็เป็นเช่นนั้น
บ้านเกิดของ บรุนสไวก์ อยู่ในประเทศซูรินาเม ดินแดนทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ (แต่สมาคมฟุตบอลสังกัดโซนคอนคาเคฟ) ซูมให้ใกล้ขึ้นอีกนิด หมู่บ้านของเขามีชื่อว่า Moiwana ที่เป็นหมู่บ้านของคนหัวแข็งและอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร ที่บริหารประเทศซูรินาเมมาตั้งแต่ที่ บรุนสไวก์ จำความได้
จะพูดว่าเป็นกลุ่มกบฏก็คงใช่ หากมองในมุมของรัฐบาล แต่สำหรับชาว Moiwana พวกเขาไม่ยอมก้มหัวให้ความอยุติธรรมและสิ่งที่พวกเขาไม่เชื่อ ไม่เคารพ โดยเฉพาะบ้านของ บรุนสไวก์ นั้นถือเป็นตระกูลที่สืบเชื้อสายผู้นำของชนกลุ่มน้อยที่นี่มาตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 18 ในตอนที่ทาสชาวแอฟริกันอพยพมายังดินแดนแห่งนี้
ไม่ว่าจะอะไรก็ช่าง บรุนสไวก์ โตมาแบบนั้น และเขาโดนถูกสอนให้ทำในสิ่งที่จะทำให้พี่น้องในดินแดนนี้ได้รับสิทธิและเสรีภาพมากที่สุด แนวคิด “ปลดปล่อยซูรินาเมจากเผด็จการทหาร” จึงติดตัว บรุนสไวก์ มาตั้งแต่เขาจำความได้
ว่ากันว่าความแค้นต่อให้มากแค่ไหน สักวันวันเวลาก็จะเจือจางมันได้ แต่สำหรับความแค้นที่โดนย้ำและกระทำมาโดยตลอดสำหรับ บรุนสไวก์ นั้นทำให้อุดมการณ์ของเขาแน่วแน่ไม่เปลี่ยนแปลง เหตุการณ์ที่เขาและชาว Moiwana ลืมไม่ลง คือเหตุการณ์สังหารหมู่ในปี 1986 ที่กองทัพซูรินาเม ได้เข้าโจมตีหมู่บ้าน และสังหารชาว Moiwana อย่างน้อย 39 คน ตอนนั้นหมู่บ้านแตกพ่าย ประชากรต้องย้ายหนีไปหลบภัยที่พรมแดนเฟรนช์เกียนา
ในช่วงเวลาที่คนในหมู่บ้านถูกสังหาร บรุนสไวก์ ได้แยกตัวออกไปจากหมู่บ้านแล้วตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องจากเขาได้โอกาสเข้าไปเรียนหนังสือในโบสถ์คาทอลิก ที่ได้รับอิทธิพลมาจากสมัยที่ถูกปกครองโดยเนเธอร์แลนด์
ในประเทศที่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง และทหารมีสรรพกำลังมากพอจะกดหัวประชาชนที่เห็นต่าง ไม่มีทางใดเลยที่ บรุนสไวก์ จะลุกขึ้นสู้ด้วยตัวคนเดียว เขาต้องเริ่มวางแผนหาวิธีที่ทำง่ายและได้ประสิทธิภาพมากกว่าการประกาศตัวเองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามแล้วสู้กันโต้ง ๆ เหมือนบรรพบุรุษของเขา หลังจากนั้นการเข้าไปเป็นทหารในกองทัพของซูรินาเมก็เริ่มขึ้น
ที่ตั้งของศัตรูตั้งแต่เกิดแห่งนี้ จะมอบคอนเน็กชัน อำนาจ และความรู้ให้กับเขาในอนาคต เพื่อสิ่งเดียวที่ต้องการ นั่นคือการ … “ล้างแค้น”
แฝงตัว สร้างอำนาจ และทรยศ
การเข้าไปในกองทัพซูรินาเมของ บรุนสไวก์ ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1980 ตอนเขาอายุเพียง 18 ปี เขาตั้งใจเรียนและฝึกวิชาทหารจนกลายเป็นมือดีของกองทัพ เป็นหน่วยคอมมานโดรุ่นแรกของประเทศซูรินาเมที่ได้รับการฝึกโดยกองทัพคิวบา
ความเก่งกาจนี้ทำให้ บรุนสไวก์ ได้รับความไว้วางใจให้เป็นบอดี้การ์ดของประธานาธิบดีของประเทศอย่าง เดซิเร บูเตอร์เซ ซึ่งเขาก็ทำหน้าที่ได้ดีและได้เป็นคนโปรดภายในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากเคยมีวีรกรรมเดือด ๆ เช่นการกระโดดรับกระสุนแทนเจ้านาย
ทว่านานไป มันก็เป็นธรรมดาที่วันหนึ่งคนเราเมื่อเก่งกล้ามากขึ้น รู้เรื่องราวมากขึ้น ย่อมจะเห็นความจริงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ยิ่ง บรุนสไวก์ อยู่กับนายพล บูเตอร์เซ นานแค่ไหน เขาก็ยิ่งรู้ว่า บูเตอร์เซ ไม่ได้เป็นคนที่มีอุดมการณ์แบบเดียวกับเขา และหลอกใช้เขาไปวัน ๆ เท่านั้น เขาพยายามขอขึ้นเงินเดือนหลังจากเข้ากองทัพได้ 4 ปี แต่สิ่งที่เขาได้รับคือการถูกปฏิเสธ แถมด้วยการไล่ออกจากกองทัพ โดยฝีมือของนายทหารรุ่นพี่อย่าง พันตรี พอล บัควานดัส
เขาต้องเริ่มต้นใหม่บนเส้นทางของตัวเองแล้ว … วิธีที่ บรุนสไวก์ ใช้คือการตั้งตัวเป็นกองทัพในรูปแบบของกองโจรโรบินฮู้ด ปล้นคนรวยมาช่วยคนจน ซึ่งในช่วงเวลา 2 ปีที่ทำแบบนั้น เขาก็ได้ใจชาวบ้านตามที่ต่าง ๆ ไปมากมาย ผู้คนรักเขาเพิ่มขึ้น ความนิยมก็สูงขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนั้น บรุนสไวก์ ก็กลายเป็นปัญหาของกองทัพแล้ว เขาเด่นเกินไปที่จะปล่อยให้ทำสิ่งนี้ต่อไปได้ … หากปล่อยไว้จะต้องเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน
นายพล บูเตอร์เซ เจ้านายเก่าของเขา คือคนที่พลิกแผ่นดินพยายามจับตัว บรุนสไวก์ ให้ได้ และเหตุการณ์นี้เองที่นำมาซึ่งการสังหารหมู่ในหมู่บ้าน Moiwana ที่ได้กล่าวไปข้างต้น สุดท้าย บรุนสไวก์ ก็ถูกจับได้โดยกองทัพซูรินาเมหลังจากนั้นไม่นาน
แม้จะจับได้แต่ก็คงจะยากหน่อย เพราะ บรุนสไวก์ มีเส้นสายเยอะแล้วในเวลานี้ เขาได้รับการช่วยเหลือจากใครสักคนในกองทัพ ทำให้สามารถหนีการจับกุมได้ หลังจากรอดพ้น บรุนสไวก์ รีบย้ายไปอยู่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะผู้ลี้ภัยสงครามทันที
ที่เนเธอร์แลนด์ มีชุมชนชาว ซูรินาเม อยู่ที่นั่นจำนวนไม่น้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยสงครามเหมือนกัน การมาที่นี่ทำให้ บรุนสไวก์ ใช้เวลาไม่กี่เดือนได้คอนเน็กชันเพิ่มเติม และมีเส้นสายมากพอที่จะกลับไปยังซูรินาเมอีกครั้ง เพื่อสร้างกองทัพของเขาให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
การเป็นคนใจใหญ่ ชอบให้ และเอาใจคนรากหญ้า ทำให้ บรุนสไวก์ มีฐานเสียงสนับสนุนมาตลอด คนที่ใหญ่กว่าเขาก็อยากได้เขามาเป็นพวก และคนที่จนและไร้โอกาสกว่าก็เชื่อมั่นและไว้ใจในคนจริงจังอย่างเขา ดังนั้นการกลับซูรินาเมรอบนี้ บรุนสไวก์ รวบรวมขุมกำลัง ซ่องสุมกองทัพกลุ่มกบฏได้ถึง 1,200 คน
“จิตวิตญาณของ บรุนสไวก์ แข็งแกร่งและแผ่ออร่าของผู้นำออกมา เขาไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อใจใคร ทุกคนพร้อมจะมาหาแล้วฟังสิ่งที่เขาพูด พวกเขาเชื่อมั่นในตัวผู้นำคนนี้เป็นอย่างมาก” เพทรัส อดัม อดีตผู้บัญชาการกองทัพกบฏแห่งซูรินาเม กล่าวกับ The New York Times
แม้คนใกล้ตัวจะบอกเช่นนั้น แต่หากไม่โลกสวยจนเกินไป เราย่อมรู้กันดีว่าถ้าจะเล่นการเมือง ผลประโยชน์เป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้างมิตรและรักษาอำนาจไว้ได้ ดังนั้นถ้าไม่มีเงิน ต่อให้มีบารมีแค่ไหนก็อยู่ยาก สำหรับกองทัพกบฏของ บรุนสไวก์ พวกเขาเลือกเส้นทางการเติบโตทางด้านกองคลังที่ง่ายที่สุด ด้วยวิธีรับของมาและส่งไปขายต่อ … เงินมา ของไป ทำกำไรหลายเท่า จะมีอาชีพอะไรที่ได้มากขนาดนี้นอกเสียจากการค้าโคเคน
บรุนสไวก์ ใช้วิธีรับโคเคนจากคิวบาหรือเม็กซิโก เพื่อขนส่งไปขายในทวีปยุโรป อาทิ เนเธอร์แลนด์ และ ฝรั่งเศส ยิ่งทำยิ่งได้กำไร ก่อนจะเอาไปต่อยอดด้วยการรวบธุรกิจเหมืองทอง ค้าไม้ และโรงเลื่อย จนถึงขั้นไปเปิดธุรกิจในต่างประเทศ…
เงินทองไหลมาเทมา อาวุธยุทโธปกรณ์ครบมือ เขาพร้อมแล้วที่จะโต้กลับรัฐบาลทหารที่กดหัวพวกเขามาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ
กองทัพของ บรุนสไวก์ เริ่มต้นด้วยการแข็งข้อ โจมตีจนกองทัพซูรินาเมต้องหยุดชะงัก เขาขู่ว่าหากยังไม่ยอมเจรจาและให้สิ่งที่พวกเขาขอหลังจากนี้ “ไอสะขยี้ยูว์ให้แหลกคึ์” ต่อให้บ้านเมืองพังก็จะไม่หยุดแน่นอน
ข้อเสนอของ บรุนสไวก์ ที่มีต่อรัฐบาลซูรินาเม ให้คืนประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน อาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวที่เขาเรียกร้อง สื่อในประเทศเนเธอร์แลนด์ยังกล่าวว่าเบื้องหลังอาจจะมีเรื่องการของการแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรในประเทศ ซึ่ง บรุนสไวก์ นั้นต้องการข้อนี้ไม่แพ้ประชาธิปไตย เพราะตัวของเขาเองก็มีธุรกิจเกี่ยวกับเหมืองทองและป่าไม้ภายในประเทศนี้อยู่ไม่น้อย
รัฐบาลมอบทุกอย่างตามที่กองทัพกบฏขอ ในปี 1991 หน่วยกบฏของ บรุนสไวก์ ได้ยกระดับกลายเป็นหน่วยคอมมานโดตระเวนชายแดน และเข้ามาอยู่ในสังกัดของทัพซูรินาเม นอกจากนี้ชนกลุ่มน้อยที่เคยโดนกดหัวก็ได้รับการประกันเรื่องการสร้างอาชีพ เพราะพวกเขาจะได้ทำงานในเหมืองแร่ในสังกัดของรัฐบาลด้วย
นั่นแหละคือสิ่งที่ประชาชนได้ ขณะที่เรื่องของประชาธิปไตยนั้น ก็มีการเลือกตั้งใหม่ และจากนั้นมันก็เป็นเรื่องราวคลาสสิกที่เกิดขึ้นทั่วโลก บรุนสไวก์ สร้างพรรคการเมืองของตัวเอง และได้รับตำแหน่งในสภาพเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้ เขาได้กลายเป็นรองประธานาธิบดีของ ซูรินาเม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา
เรื่องราวในสนามสงครามและสนามการเมืองตอนนี้ก็ต้องบอกว่าจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งสำหรับเขา แต่บนเส้นทางการสร้างความนิยมให้ตัวเอง ดูเหมือน บรุนสไวก์ จะไม่หยุดง่าย ๆ ตอนนี้เขาทำหลายสิ่งหลายอย่างมากมาย แม้เราจะเห็นเขาเป็นข่าวแค่การลงเล่นฟุตบอลอาชีพ แต่ความจริงแล้วเขาลงเงินและลงแรงไปกับนโยบายสร้างความนิยมจากประชาชนซูรินาเมยิ่งกว่านั้นเยอะเลยทีเดียว
ยามสงบเรารัก
หลังจากได้รับชัยชนะภายใต้การเจรจาที่ตัวเองได้ประโยชน์ บรุนสไวก์ ก็เดินหน้าทำในสิ่งที่ผู้นำต้องทำ บางครั้งไม่ต้องพึ่งนโยบายของรัฐเลยด้วยซ้ำ เขาสามารถควักเงินสด ๆ ให้กับหมู่บ้านยากจนต่าง ๆ ด้วยเงินของตัวเองทั้งหมด
ว่ากันว่าหลายสิ่งที่เขาทำมีทั้งการช่วยชาวบ้านที่ไม่มีที่ทางทำกิน การจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับคนที่สิ้นไร้ไม้ตอก ส่วนงานราษฎร์ก็ไม่เคยขาด งานบุญ งานบวช งานศพ ถ้าเป็นบ้านเราก็ต้องบอกว่า บรุนสไวก์ พร้อมนั่งเก้าอี้ประธานและใส่ซองด้วยแบงค์พันตลอด
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่เขาไม่ลืม คือกลุ่มชนเผ่าน้อยใหญ่ที่โดนไล่ที่ทางและเป็นผู้อพยพจากสงคราม โดยคนกลุ่มนี้ บรุนสไวก์ จะออกเงินและช่วยเหลือทุกคนหากพวกเขาต้องการกลับมาใช้ชีวิตที่ประเทศซูรินาเมอีกครั้ง
ส่วนเรื่องของฟุตบอลนั้น ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการสนองความต้องการของตัวเองที่เป็นคนชอบดูฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก เช่นเดียวกับกีฬาก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน เขาจึงได้ซื้อสโมสร อินเตอร์ โมเอนโกตาโพ และทีม ๆ นี้ก็ได้แชมป์ในประเทศซูรินาเมมาไม่น้อยในช่วงเวลา 5 ปีหลังสุด
“การลงสนามถือว่าเป็นสิ่งที่คู่ควรที่ผมจะได้รับ ผมเป็นแฟนฟุตบอลตั้งแต่จำความได้ ผมเล่นฟุตบอลเป็นงานอดิเรกมาโดยตลอด ตราบใดที่ผมรู้สึกว่าผมฟิต ผมก็จะลงเล่นต่อไป” บรุนสไวก์ กล่าวหลังจากลงเล่นเกม คอนคาเคฟ ลีก (ถ้วยรองจาก คอนคาเคฟ แชมเปี้ยนส์ ลีก) กับสโมสร โอลิมเปีย จากประเทศ ฮอนดูรัส
หลังเกมนั้น บรุนสไวก์ ยังโชว์ป๋าต่อเนื่องด้วยการแจกเงิน 3,300 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับทีมคู่แข่งเพื่อชื่นชมว่าพวกเขาเล่นได้เต็มที่ ไม่เกรงใจคนมีอำนาจและอายุ 60 ปีอย่างเขา … ซึ่งแน่นอนว่าด้วยวัยขนาดนี้เขากลายเป็นนักเตะอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ได้ลงสนามในเกมที่ฟีฟ่ารับรอง
เรื่องนี้เราพยายามบอกเล่าตัวตนของ บรุนสไวก์ ว่าเขาเป็นมาอย่างไรก่อนจะมาถึงจุดนี้ เรื่องทั้งหมดไม่ได้ชี้นำว่าเขาเป็นคนดีหรือเป็นคนเลวแต่อย่างใด เราเพียงต้องการให้รู้ว่า บางครั้งการให้ของกับใครบางคนก็ทำให้ผู้รับปลื้มปริ่มน้ำตาไหล บางครั้งก็ซ่อนผลประโยชน์บางอย่าง ที่ทำให้ “คนให้” ได้รับอะไรมากกว่าแค่คำขอบคุณจาก “คนรับ” ยกตัวอย่างเช่น “ผลประโยชน์” เป็นต้น
“ทุกอย่างที่ผมทำ ผมทำเพื่อประชาชน ผมมอบมันกลับให้กับทุกคน … ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ผมอยากช่วยเหลือคนอื่น และตอนนี้ผมมีโอกาสช่วยผู้คนทั้งประเทศแล้ว” บรุนสไวก์ พูดถึงอุมการณ์ของเขาในเวลานี้ … ส่วนจะจริงหรือไม่เวลาคือข้อพิสูจน์ เพราะตอนนี้ ซูรินาเม อยู่ในมือทีมงานของเขาแล้ว