“เคอิจิ มุโต” อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูคนไทยนัก แต่หากบอกว่าเขาคือ “เดอะ เกรท มุตะ” แฟนมวยปล้ำบ้านเราคงร้องอ๋อ เพราะนี่คือตำนานนักสู้ชาวญี่ปุ่นที่ก้าวไปสร้างชื่อในสหรัฐอเมริกาช่วงยุค 90s
เวลาผ่านไปกว่า 20 ปี ชายที่ชื่อ มุโต ยังคงเคลื่อนไหวในวงการมวยปล้ำ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือร่างกายของเขา เมื่อท่าไม้ตายที่มอบความสุขให้แฟนมวยปล้ำทั่วโลก กลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เขาต้องทุกข์ทรมานหลังการผ่าตัดหัวเข่า 6 ครั้ง และถูกระบุเป็นผู้ทุพพลภาพทางร่างกาย
แต่ในวัยที่ใครหลายคนบอกว่าเป็นบั้นปลายชีวิต เคอิจิ มุโต ขีดเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการคว้าแชมป์โลกมาครองแม้อายุ 58 ปี และสร้างอิมแพกต์ครั้งใหญ่แก่วงการมวยปล้ำ เหมือนที่เขาทำมาตลอดทั้งชีวิต
กำเนิดสามทหารเสือ
เคอิจิ มุโต เริ่มต้นชีวิตบนเส้นทางมวยปล้ำในปี 1984 หลังเซ็นสัญญาเข้าเป็นนักมวยปล้ำฝึกหัดในสมาคม New Japan Pro-Wrestling (NJPW) หนึ่งในสองค่ายมวยปล้ำมหาอำนาจแห่งประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับ All Japan Pro-Wrestling (AJPW)
มุโต ไม่ใช่นักมวยปล้ำหน้าใหม่เพียงคนเดียวที่ NJPW เซ็นสัญญาในวันนั้น เมื่อสมาคมได้คว้าตัว มาซาฮิโระ โจโนะ และ ชินยะ ฮาชิโมโตะ สองนักมวยปล้ำหน้าใหม่ที่มีความสามารถไม่แพ้กันเข้าสู่ค่าย ทั้งสามเริ่มต้นใช้ชีวิตร่วมกันราวกับพี่น้อง เนื่องจากตามวัฒนธรรมมวยปล้ำญี่ปุ่น นักมวยปล้ำฝึกหัดจะต้องใช้ชีวิตร่วมกันในที่พักอาศัยซึ่งสมาคมจัดหาไว้ให้
ชีวิตของนักมวยปล้ำฝึกหัดในประเทศญี่ปุ่น เต็มไปด้วยความยากลำบากและขาดอิสระ นักมวยปล้ำเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปกินข้าวนอกสถานที่ เหล่าเด็กฝึกจำเป็นต้องทำอาหารกินกันเอง มุโต ที่อายุมากกว่า โจโนะ และ ฮาชิโมโตะ จึงสวมบทพี่ใหญ่ ทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการทำอาหารเลี้ยงรุ่นน้องในหอพัก แม้เจ้าตัวจะไม่เคยทำอาหารมาก่อนเลยก็ตาม
“ผมมีหน้าที่ทำจังโกะ (แกงเคี่ยว) อาทิตย์ละครั้ง ซึ่งมันเป็นช่วงเวลาเดียวในชีวิตที่ผมทำอาหารด้วยตัวเอง แต่พูดตามตรงนะ การทำจังโกะมันก็แค่หั่นเนื้อและหั่นผักลงในหม้อ มันง่ายมากใช่ไหมละ” มุโต เล่าเรื่องราวสมัยเด็กฝึก ผ่านการสัมภาษณ์กับ hotpepper
การทำอาหารไม่ใช่สิ่งเดียวที่ มุโต ฝึกฝนและพัฒนา แต่รวมถึงทักษะการปล้ำที่จำเป็นต้องพัฒนาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในช่วงเวลานั้น NJPW กำลังประสบปัญหาใหญ่ เนื่องจากเสียนักมวยปล้ำตัวหลักของค่ายพร้อมกันหลายคนในปี 1984
อากิระ มาเอดะ, โยชิอากิ ฟูจิวาระ และ โนบุฮิโกะ ทาคาดะ ย้ายสู่ Universal Wrestling Federation (UWF) ค่ายมวยปล้ำหน้าใหม่ที่เน้นสไตล์ต่อสู้แบบต่อยจริงเจ็บจริง และอีกหกเดือนถัดมา ริคิ โจชู นักมวยปล้ำอธรรมหมายเลขหนึ่งของวงการมวยปล้ำญี่ปุ่น ตัดสินใจเดินออกจาก NJPW เพื่อย้ายสู่สมาคมคู่แข่ง AJPW
NJPW จึงต้องรีบผลักดันนักมวยปล้ำหน้าใหม่ขึ้นมาสู่ระดับสูง เพื่อรักษาสถานะสมาคมให้คงเดิม และนักมวยปล้ำที่พวกเขาเลือกคือ มุโต, โจโนะ และ ฮาชิโมโตะ สามนักมวยปล้ำหน้าใหม่ที่แม้จะขาดประสบการณ์ แต่มีความสามารถอย่างน่าเหลือเชื่อ
มุโต, โจโนะ และ ฮาชิโมโตะ ถูกส่งไปฝึกฝนที่ต่างประเทศ โดย มุโต เดินทางไปปล้ำที่เปอร์โตริโก ส่วน โจโนะ ขึ้นปล้ำในสหรัฐอเมริกา และ ฮาชิโมโตะ ถูกส่งไปเก็บประสบการณ์ที่แคนาดา
การจับนักมวยปล้ำดาวรุ่งทั้งสามแยกเส้นทางเดิน ถือเป็นแผนการที่แยบยลของ NJPW เพราะเมื่อพวกเขากลับมารวมตัวกัน แรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นแก่วงการมวยปล้ำญี่ปุ่น และถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของสมาคม
เดือนกรกฎาคม ปี 1987 มุโต, โจโนะ และ ฮาชิโมโตะ กลับสู่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อขึ้นปล้ำในนาม “สามทหารเสือ” (闘魂三銃士) กลุ่มนักมวยปล้ำรุ่นใหม่ที่สืบทอดจิตวิญญาณแบบ Strong Style โดยสู้กับก๊วนนักมวยปล้ำรุ่นใหญ่ ประกอบด้วย เคงโงะ คิมูระ, ชิโระ โคชินากะ และ ทัตสึมิ ฟูจินามิ
ท่ามกลางสายฝนที่สาดเทลงมาสู่สนาม อาริอาเกะ โคลีเซียม กลุ่มสามทหารเสือแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณนักสู้ หรือ “Fighting Spirit of the Three Musketeers” แฟนมวยปล้ำมากกว่าหนึ่งหมื่นคนส่งเสียงเชียร์ ให้การตอบรับนักมวยปล้ำทั้งสามอย่างยอดเยี่ยม มีการยกย่องในภายหลังว่า แมตช์ดังกล่าวคือจุดเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของ NJPW
มุโต, โจโนะ และ ฮาชิโมโตะ ก้าวขึ้นเป็นนักมวยปล้ำแถวหน้าของ NJPW และประเทศญี่ปุ่นตลอดยุค 90s ทั้งสามคนครองแชมป์ IWGP Heavyweight Championship รวมกัน 8 สมัย (มุโต ครองแชมป์ 4 สมัย), คว้าแชมป์โลก NWA คนละ 1 สมัย และเป็นผู้ชนะทัวร์นาเมนต์ G1 Climax รวมกัน 7 ครั้ง (มุโต ชนะ 1 ครั้ง)
กลุ่มสามทหารเสือ คือกำลังหลักที่ปูทางให้ NJPW กลายเป็นค่ายอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นในปัจจุบัน แต่สำหรับ เคอิจิ มุโต ความสำเร็จตรงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตนักมวยปล้ำอันยิ่งใหญ่ เพราะเขาขีดเขียนเรื่องราวของตัวเอง ณ ดินแดนอันห่างไกล และทำให้เขากลายเป็นนักมวยปล้ำชาวญี่ปุ่นที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุด
เดอะ เกรท มุตะ
หลังกลุ่มสามทหารเสือเปิดตัวที่ประเทศญี่ปุ่น มาซาฮิโระ โจโนะ และ ชินยะ ฮาชิโมโตะ ถูกดึงตัวกลับสู่ NJPW อย่างเป็นทางการ แต่ เคอิจิ มุโต ยังคงปล้ำที่เปอร์โตริโกต่อไปจนถึงปี 1988 กระทั่งเหตุฆาตกรรมปริศนาที่เกิดขึ้นกับ บรูสเซอร์ โบรดี ในเดือนกรกฎาคม NJPW กังวลเรื่องความปลอดภัยของ มุโต จึงส่งเขาสู่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อขึ้นปล้ำที่สมาคม World Class Championship Wrestling (WCCW)
ฟริตซ์ วอน อีริช เจ้าของค่าย WCCW ชื่นชมฝีมือของมุโตเป็นอย่างมาก เขาจึงติดต่อให้ จิม คร็อคเก็ตต์ จูเนียร์ เจ้าของสมาคม Jim Crockett Promotions ค่ายมวยปล้ำที่ใหญ่ที่สุดในเครือ National Wrestling Alliance เดินทางมาดูฟอร์มเด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่นรายนี้ด้วยตัวเอง
ทันทีที่ คร็อคเก็ตต์ เห็นฟอร์มของ มุโต เขารู้ทันทีว่า มุโต คือนักมวยปล้ำระดับแถวหน้า ที่จะก้าวเป็นอนาคตของ NWA คร็อคเก็ตวางแผนให้เขารับบทบาทนักมวยปล้ำอธรรมที่จะมาเปิดศึกกับดาวรุ่งพุ่งแรงอันดับหนึ่งของค่ายอย่าง Sting แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า คาแรกเตอร์ของ มุโต ในขณะนั้น คือ Super Black Ninja จืดชืดและไม่ดึงดูดแฟนมวยปล้ำชาวอเมริกัน
จิม คร็อคเก็ตต์ จึงตัดสินใจหยิบยืมคาแรกเตอร์ เดอะ เกรท คาบูกิ (The Great Kabuki) บทบาทนักมวยปล้ำปีศาจจากญี่ปุ่น ที่โด่งดังถึงขีดสุดในช่วงต้นยุค 80s มาใช้กับมุโต โดยเปลี่ยนชื่อเขาเป็น “เดอะ เกรท มุตะ” (The Great Muta) ลูกชายของ เดอะ เกรท คาบูกิ ที่เดินทางมาสู่สหรัฐอเมริกา เพื่อสานต่อความสำเร็จของผู้เป็นพ่อ (ทว่าในชีวิตจริง คาบูกิ และ มุตะ ไม่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด)
เดอะ เกรท มุตะ ถูกผลักดันสู่ระดับสูงและได้รับความนิยมแม้จะเป็นนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม เนื่องจากความน่ากลัวของคาแรกเตอร์ที่เพนท์หน้าเป็นสีแดง และมักพ่นสารพิษสีเขียวก่อนปล้ำ หรือทักษะบนเวทีที่ยอดเยี่ยมเหนือใคร ด้วยท่าไม้ตาย Diving Moonsault แสนสวยงาม
เดอะ เกรท มุตะ จึงสร้างสถิติไร้พ่าย นับตั้งแต่เปิดตัวใน NWA เมื่อเดือนมีนาคม ปี 1989 และเอาชนะ Sting คว้าแชมป์ NWA World Television Championship มาครองได้สำเร็จ
ไม่ใช่แค่ Sting ที่เป็นคู่ปรับตัวฉกาจของ เดอะ เกรท มุตะ แต่นักมวยปล้ำระดับตำนานอย่าง ริค แฟลร์ คืออีกหนึ่งคนที่เคยเปิดศึกกับปีศาจชาวญี่ปุ่นรายนี้ และเป็นผู้จับกด เดอะ เกรท มุตะ นับสามได้เป็นครั้งแรก ก่อนที่หลังจากนั้นไม่นาน มุตะ จะเสียแชมป์ทีวี NWA และเดินทางกลับญี่ปุ่นเพื่อหวนคืนสู่กลุ่มสามทหารเสืออีกครั้ง
เดอะ เกรท มุตะ ดูเหมือนจะเป็นตำนานที่มีชีวิตสั้นๆ ในช่วงปี 1989-1990 ที่สหรัฐอเมริกา แต่ความยิ่งใหญ่และชื่อเสียงของคาแรกเตอร์นี้ โด่งดังกลับไปถึงประเทศญี่ปุ่น เคอิจิ มุโต จึงเปิดเผยว่า เดอะ เกรท มุตะ คืออีกบุคลิกภาพหนึ่งของเขา เป็นนักมวยปล้ำผู้ดุร้ายที่อาศัยอยู่ในโลกของปีศาจ และเพื่อทำให้คาแรกเตอร์สมจริงมากขึ้น มุโต กล่าวว่า เขาจะสูญเสียความทรงจำ หรือไม่สามารถจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะกลายร่างเป็น เดอะ เกรท มุตะ
เดอะ เกรท มุตะ กลายเป็นกุญแจสำคัญที่พา มุโต ก้าวสู่จุดสูงสุดของ NJPW เขาคว้าแชมป์ IWGP Heavyweight Championship มาครองเป็นสมัยแรกเมื่อปี 1992 และเมื่อเขาเข้าร่วมกลุ่ม nWo Japan ในปี 1997 เดอะ เกรท มุตะ เดินทางสู่สมาคม WCW เพื่อฟื้นคืนตำนานของนักมวยปล้ำปีศาจ และคว้าแชมป์โลกแท็กทีม WCW มาครองในปี 2000 ทำให้ชื่อเสียงของเขาในสหรัฐอเมริกาไม่เสื่อมคลายลงไป
ปัจจุบัน เดอะ เกรท มุตะ ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในตัว เคอิจิ มุโต ที่มักจะออกมาเซอร์ไพรส์แฟนมวยปล้ำอยู่บ่อยครั้ง นี่คือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ มุโต ยืนหยัดบนสังเวียนมวยปล้ำยาวนานกว่าเพื่อนในกลุ่มสามทหารเสือ เนื่องจากคาแรคเตอร์อันเป็นเอกลักษณ์ และถูกเรียกร้องโดยแฟนมวยปล้ำตลอดมา
ยืนหยัดด้วยความรัก
เคอิจิ มุโต ยืนหยัดเป็นนักมวยปล้ำแถวหน้าของ NJPW จนถึงปี 2002 ก่อนจะย้ายข้ามฝั่งสู่ AJPW ในฐานะประธานสมาคมและเจ้าของค่าย เนื่องจาก NJPW ให้ความสนใจการต่อสู้สไตล์ MMA มากเกินไป เขาจึงตัดสินใจกระโดดสู่ค่ายคู่แข่ง เพื่อสร้างมวยปล้ำรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Pro-wrestling LOVE”
Pro-wrestling LOVE คือมวยปล้ำที่เน้นความบันเทิง และลดความรุนแรงจากการต่อสู้ลง ตลอดช่วงยุค 2000s มุโตทำหน้าที่เป็นคนเบื้องหลังที่คอยขับเคลื่อนสมาคม แต่ก็มีหลายครั้งที่เขากลับคืนสังเวียนด้วยตัวเอง
ในปี 2008 มุโต กลับสู่จุดสูงสุดของวงการอีกครั้ง หลังคว้าแชมป์ IWGP Heavyweight Champion และ Triple Crown Champion มาถือครองพร้อมกัน (แต่ต่างคาแรคเตอร์ เพราะแชมป์ Triple Crown เดอะ เกรท มุตะ เป็นคนครองแชมป์) นับเป็นความสำเร็จที่เกินคาดในวัย 46 ปี
อย่างไรก็ตาม ไม่มีสิ่งใดที่ได้มาโดยไม่มีค่าตอบแทน และราคาที่ มุโต ต้องจ่ายจากความสำเร็จครั้งนี้คือ อาการบาดเจ็บที่หัวเข่า ซึ่งเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากสไตล์การปล้ำที่ผาดโผนของเขา รวมถึงท่าไม้ตาย Diving Moonsault ซึ่งสร้างความเสียหายแก่หัวเข่าของเขาอย่างมหาศาล
เมื่อปี 2010 มุโต เปิดเผยว่าเขาเข้ารับการผ่าตัดที่หัวเข่าข้างขวา 4 ครั้ง และหัวเข่าด้านซ้ายอีกหนึ่งครั้ง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้อาการของเขาดีขึ้น แม้แต่คุณหมอเองก็ยอมรับว่า การรักษาสมัยใหม่ไม่สามารถรักษาอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าของ มุโต เขาถูกประเมินเป็นผู้ทุพพลภาพทางร่างกายส่วนล่าง เนื่องจากไม่สามารถยืนเข่าตรงได้
ยิ่งไปกว่านั้น มุโต ยังให้สัมภาษณ์ออกรายการทีวีในปี 2015 ว่า เขาไม่สามารถเดินขึ้นบันไดแบบคนปกติ และไม่สามารถเดินเป็นระยะทางไกลกว่า 300 เมตร นอกจากนี้ มุโต ยังต้องใช้วีลแชร์ช่วยเหลือในการเคลื่อนที่ ยามอยู่ในบ้านพักของตัวเอง
ท่ามกลางอาการบาดเจ็บที่เล่นงานอย่างต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งที่อยู่ในหัวใจของ เคอิจิ มุโต ตลอดมาคือ กีฬามวยปล้ำ นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 1984 มุโตไม่เคยเว้นวรรคจากสังเวียนมวยปล้ำแม้แต่ปีเดียว และเขาจะต้องขึ้นปล้ำอย่างน้อย 5 แมตช์ต่อปี
ถือเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อที่ใครสักคนซึ่งผ่านการผ่าตัดหัวเข่ามาแล้ว 6 ครั้ง (มุโต ผ่าเข่าอีกครั้งในปี 2018) จะยอมเสียสละร่างกายเพื่อความสุขของแฟนมวยปล้ำต่อเนื่องกันเป็นเวลา 38 ปี แต่นี่คือความหมายของ Pro-wrestling LOVE ที่ เคอิจิ มุโต พูดถึงเสมอมา นั่นคือการสร้างความสุขเพื่อตอบแทนแฟนมวยปล้ำที่ให้ความรักแก่กีฬาชนิดนี้
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ปี 2021 เคอิจิ มุโต ในวัย 58 ปี ก้าวสู่จุดสูงสุดของวงการอีกครั้ง ด้วยการเป็นคู่เอกในสนาม Nippon Budokan เวทีที่มีมนต์ขลังมากที่สุดแห่งนี้ในญี่ปุ่น เขาสามารถคว้าแชมป์ GHC Heavyweight Championship มาครองได้เป็นครั้งแรก หลังผ่านสงครามที่ยาวนานกว่า 30 นาที กับ โก ชิโอซากิ เจ้าของแชมป์คนเก่า
ข่าวการคว้าแชมป์ของเขาขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ Tokyo Sports เช่นเดียวนิตยสาร Weekly Puroresu ที่วางขายภาพ มุโต คว้าแชมป์ถึง 2 หน้าปก เพื่อให้แฟนมวยปล้ำได้ซื้อเก็บสะสมกันอย่างเต็มที่
ความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้ มุโต สร้างประวัติศาสตร์ต่อหน้าแฟนมวยปล้ำมากกว่า 4,000 คน ด้วยการเป็นนักมวยปล้ำคนที่สามซึ่งคว้า 3 เข็มขัดใหญ่ในวงการมวยปล้ำญี่ปุ่นมาครองได้สำเร็จ (IWGP Heavyweight, GHC Heavyweight และ Triple Crown) ก่อนจะประกาศเซ็นสัญญาเป็นนักมวยปล้ำฟูลไทม์ของสมาคม Pro Wrestling NOAH ในอีกไม่กี่วันถัดมา
“ผมไม่รู้หรอกว่าผมจะแหลกสลายบนเวทีแห่งนี้หรือไม่ แต่ในวันที่ผมเลือกเซ็นสัญญา ผมหวังว่าสมาคมนี้จะดึงศักยภาพจากตัวผมออกมาในมากที่สุด” มุโต ในวัย 58 ปี ให้สัมภาษณ์หลังเซ็นสัญญากับ Pro Wrestling NOAH
ฉายาของ เคอิจิ มุโต คือ “อัจฉริยะ” ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่คือคำชื่นชมที่เหมาะสมกับตัวเขาทุกประการ เพราะในวัย 58 ปี ที่ใครหลายคนคิดว่าเป็นบั้นปลายของอาชีพการทำงาน มุโตกำลังเริ่มต้นการเดินทางบทใหม่ และตอบรับความท้าทายที่กำลังเข้ามาในชีวิต
เคอิจิ มุโต จึงไม่ใช่แค่เรื่องราวของนักมวยปล้ำผู้ยิ่งใหญ่ แต่เป็นการเดินทางของผู้ชายคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคหรือความเจ็บปวดที่เข้ามา เพื่อรักษาเกียรติยศที่สร้างไว้ให้คงอยู่ตราบวันสุดท้ายของชีวิต