ย้อนไปเมื่อปี 2563 ชื่อของ “ชญาธนุส ศรทัตต์” หรือ “เฌอเอม” ปรากฏในสปอตไลต์ ในฐานะผู้เข้าประกวดเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ พร้อมกับวาทะอันเฉียบคมจากการตอบคำถามรอบออดิชัน ที่แสดงถึงทัศนคติอันก้าวหน้า สะเทือนวงการนางงามและประทับใจกองเชียร์ไม่น้อย แม้ในที่สุดเธอจะไม่ได้เดินต่อบนเส้นทางความงาม แต่เธอก็ได้เลือกเส้นทางใหม่ นั่นคือการเป็นนักเคลื่อนไหวด้านชาติพันธุ์ และร่วมต่อสู้เพื่อให้ชาวกะเหรี่ยงจากบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้กลับคืนสู่มาตุภูมิที่พวกเขาเรียกว่า “ใจแผ่นดิน”
ครั้งแรกบนเวทีปราศรัย
ก่อนหน้านี้ สำหรับคุณเฌอเอม เรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยเป็นอีกหนึ่งประเด็นทางสังคมที่มีกระแสพูดคุยกันในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเรื่องราวของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ตัวแทนชาวบ้านบางกลอย ที่ถูกอุ้มหายเมื่อปี 2557 และเธอก็ได้รู้จักคนกลุ่มนี้อีกครั้งในการเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชนที่สนับสนุนประชาธิปไตย จนกระทั่งมีโอกาสได้ขึ้นเวทีปราศรัยในกิจกรรม #Saveบางกลอย เมื่อเดือนมีนาคม 2564 พร้อมสคริปต์ที่ใช้เวลาเตรียมการเพียง 1 คืน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กลายเป็นที่สนใจของคนทั่วไป ไม่ใช่แค่สุนทรพจน์ของเธอเท่านั้น แต่ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่กลายเป็น Talk of the town นั่นคือการนั่งและนอนเมื่อเพลงชาติดังขึ้น
“พอเพลงชาติดัง เราต้องหยุดค่ะ มันก็คือช่วงพัก จริงๆ ส่วนนั้นมันไม่ควรออกมาในสื่อไหนด้วยซ้ำ ตอนแรกเรายืน ชาวบ้านเขาก็ยืน แต่สิ่งที่เราพูดก็คือ มันไม่ผิดกฎหมาย ที่ไม่ยืนเคารพธงชาติ แล้วเขาไม่รู้ ก็จะมีคนที่นั่ง คนที่ไม่แน่ใจ คนที่ดูหวาดกลัว เพราะตรงนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนดูอยู่ห่างๆ เราก็เลยนั่ง พอเรานั่ง เขาก็ดูสบายใจขึ้น แต่เขาก็ยังรู้สึกไม่แน่ใจ คือเขาไม่รู้ว่าเรานั่งเพราะมันนั่งได้จริงๆ หรือเพราะว่าเราแค่แสดงออก เราก็เลยนอน” คุณเฌอเอมเล่าย้อนเหตุการณ์ในวันนั้น พร้อมเสริมว่า การนั่งและนอนในวันนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นการแสดงออกให้ชาวกะเหรี่ยงรู้ว่า เธอพร้อมจะยืนเคียงข้างพวกเขา
ภาคีSaveบางกลอย
“เรารู้ว่ามีคนที่ได้รับผลกระทบจากเพลงชาติอยู่ข้างหน้าเรา หน้าที่ของเราคือทำให้เขารู้ว่าเราไม่ทิ้งเขา แค่นั้นเอง เพราะฉะนั้น การนั่งลงมันก็คือการบอกว่า ในฐานะ speaker ที่เราพูดเพื่อชาวกะเหรี่ยง เราไม่ยอมรับวิธีการที่ชาติไทยปฏิบัติกับคนกะเหรี่ยง เราจะไม่ยอมรับชาติไทยที่ไม่มีคนกะเหรี่ยง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่รัก มันหมายความว่า เราต้องพัฒนากฎหมายสิทธิพลเมืองและสังคมของเราให้ดีกว่านี้ ดีจนกระทั่งกลุ่มชาติพันธุ์ทุกคนเขาไม่ต้องหวาดกลัวเพลงชาติ”
อย่างไรก็ตาม การแสดงออกในวันนั้น กลายเป็นอีกครั้งที่คุณเฌอเอมถูกตราหน้าว่าเป็น “คนชังชาติ” แต่เธอก็ยังยืนยันว่า ที่จริงแล้ว เธอก็เป็นคนที่รักชาติคนหนึ่ง
“เรารักชาติ แต่คำถามก็คือ ทำไมคุณต้องรู้ตลอดว่าคนไหนรักหรือไม่รัก ทำไมเราต้องย้ำเช้าเย็นว่าคุณรักชาติไหม คุณรักชาติ ยืนสิ อันนี้มันแสดงว่า การรักชาติคือการยืนตรงเท่านั้น ทั้งที่ทุกคนทำเพื่อชาติในแบบที่ต่างกัน อันดับที่สองก็คือ ถ้าเราคิดว่าทุกคนรักอยู่แล้ว เราจะไม่กลัวเมื่อมีใครไม่ยืน ที่สำคัญคือเราจะไม่ไปเน้นย้ำทุกเช้าเย็น เอมก็เลยมองว่า คอนเซ็ปต์ความรักชาติของไทยมันเปราะบางมากนะ ถ้าเรารู้สึกถึงความเป็นชาติที่มันหนักแน่น เราจะไม่ต้องมากังวลกับตรงนี้”
การค้นพบบนเส้นทางใหม่
“เรื่องของคนบางกลอยจริงๆ ต้องเทียบกับภาพคนเมือง ก็คือคุณอยู่ในพื้นที่หนึ่งมาก่อน มันเป็นบ้านของคุณมาหลายร้อยปี จนกระทั่งวันหนึ่ง มีคนจากไหนก็ไม่รู้มาประกาศว่า คุณอยู่ตรงนี้ไม่ได้ แล้วคุณก็ต้องอพยพออกไป แต่ปัญหาก็คือ ตอนที่คุณออกไป ข้างนอกก็ไม่ใช่บ้านของคุณเหมือนกัน ข้างนอกก็ไม่ได้มีที่ที่ต้อนรับหรือให้คุณทำกินได้ เพราะฉะนั้น คุณมี 2 ทางเลือกคือ อดตายอยู่ข้างนอก กับเรียกร้องให้คนที่มาประกาศพื้นที่อุทยานทับบ้านคุณ เขาเข้าใจ แล้วก็ตีเส้นเขตแดนให้คุณอยู่ได้ ส่วนใหญ่คนก็ต้องเลือกทางที่สอง” คุณเฌอเอมเล่าที่มาที่ไปของกรณีหมู่บ้านบางกลอยคร่าวๆ
ภาคีSaveบางกลอย
หลังจากการปราศรัยครั้งนั้น คุณเฌอเอมเล่าว่า ความเกลียดชังจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่เธอยืนข้างชาวกะเหรี่ยงผลักให้เธอต้องเรียนรู้เกี่ยวกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม จากเรื่องของชาติพันธุ์ ขยายไปสู่แนวคิดเรื่องชาติและวิธีการที่รัฐไทยปฏิบัติต่อชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่า
“อุทยานแห่งชาติของไทย มีอุทยานที่มีคนอยู่ เพราะ พ.ร.บ. เก่าๆ ไม่ได้ชัดเจนมากนักเกี่ยวกับชนเผ่าที่อยู่ในอุทยาน คือไม่ได้ไล่ แต่ก็ไม่ได้ให้อยู่ มันเหมือนทิ้งเขาไปเลยน่ะค่ะ เหมือนมองว่าไม่มีตัวตน อยู่ก็เหมือนไม่อยู่ จนกระทั่งอยากให้ไม่อยู่ค่อยบังคับใช้ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมาแก้ว่าจะอยู่อย่างไรให้ป่าอยู่ได้ด้วย ที่สำคัญก็คือ ในการอนุรักษ์ป่ามันเป็นหน้าที่ของคนข้างในด้วยไหมที่ต้องทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยาน ไม่ใช่หน้าที่ของอุทยานอย่างเดียว”
คุณเฌอเอมมองว่า ชาวกะเหรี่ยงไม่ใช่คนที่ทำลายป่า แต่มีหน้าที่เป็น “ผู้พิทักษ์ผืนป่า” ดังนั้น สิ่งที่นักเคลื่อนไหวต้องทำต่อไปก็คือ พิสูจน์ให้ได้ว่าวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงนั้นเป็นหนึ่งเดียวกับป่า จากนั้นจึงจะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันได้ในที่สุด
“เอมเชื่อว่า ชนพื้นเมืองต้องอยู่กับธรรมชาติ แล้วเอมก็เชื่อว่ากฎหมายไทยต้องเป็นกฎหมายสำหรับทุกคน” คุณเฌอเอมกล่าว
ภาคีSaveบางกลอย
สำหรับก้าวต่อไปในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ คุณเฌอเอมเล่าว่า ขณะนี้มีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายสภาชนเผ่า ให้เข้าสู่รัฐสภา เพื่อรวมเสียงของกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศเข้าด้วยกัน และสร้างกลไกในการต่อรองและร่างกฎหมายที่จะคุ้มครองและฟื้นฟูวิถีชีวิตชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งคุณเฌอเอมก็หวังว่าประชาชนทุกคนจะร่วมกันแสดงความคิดเห็นและผลักดันร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภาในที่สุด
“สิ่งที่มันชดเชยให้ชาวบ้านได้ และมันเป็นการรื้อระบบพวกนี้ทั้งหมด ถ้าเขาไปถึงใจแผ่นดินได้ เราก็รู้สึกว่าเราได้รับการชดเชย เรารู้สึกว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ ทำให้เรามาถึงจุดนี้ที่กลายเป็นนักกิจกรรม แทนที่เราจะเป็นนางแบบ แทนที่เราจะเป็น someone มันสมเหตุสมผลนะ และที่สำคัญคือมันมีประโยชน์ เราก็เลยตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราจะพาชาวบ้านกลับใจแผ่นดิน ความฝันเดียวที่เรามีตอนนี้ก็คือ เราต้องแก้ปัญหาให้ชาวกะเหรี่ยง เราต้องทำให้เขาเป็นพลเมืองที่ทุกคนเห็นเขา และไม่คิดว่ากะเหรี่ยงเผาป่า กะเหรี่ยงน่ารังเกียจ เราจะแก้ไขทั้งหมดตรงนี้ เราจะแก้ไขคำว่าชาติไทยที่มีต่อคนกะเหรี่ยง” คุณเฌอเอมกล่าว
ภาคีSaveบางกลอย
ไม่ใช่แค่บทเรียนใหม่เกี่ยวกับการเมืองเท่านั้น สิ่งที่คุณเฌอเอมค้นพบจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังเป็นความสุขอีกแบบหนึ่งที่หาไม่ได้จากการทำงานอื่นๆ โดยเธอกล่าวว่า เธอค้นพบเป้าหมายในการทำงานและรู้สึกว่างานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทำให้เธอมีความสุข ทำให้เธอรู้ว่าตัวเองมีประโยชน์และอยู่ถูกที่ถูกทาง
“สมมติว่าเอมต้องไปถ่ายซีรีส์เรื่องหนึ่ง แลกกับการที่ไม่เคลื่อนไหวเลย หรือเอมได้งานมางานหนึ่ง ที่เอมรู้ว่าเอมจะสุขสบาย แลกกับการที่เอมไม่ได้พูดอีกเลย แล้วจากการเลือกทางนั้น มันให้อะไรกับเรา เราอยู่กับตัวเองได้ไหม พอเราลองถามสิ่งนี้ เราจะรู้ว่าจริงๆ เราไม่ได้ต้องการอิสระด้านการเงินไปมากกว่าด้านการพูด มันไม่มีคำว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม แต่เราต้องมีอิสระที่เราเหลืออยู่ คือคนเรามีสิทธิ 2 อย่างที่ควรจะมีและต้องมีแน่ๆ หนึ่งคือสิทธิว่าคุณจะตายแบบไหน สองคือสิทธิเสรีภาพ ไม่หนึ่งก็สอง คุณมีแค่นี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเลือกสิทธิเสรีภาพไม่ได้ เราก็ควรจะเลือกได้ว่าเราจะไปถึงความตายของเราอย่างไร มันคือคุณจะสู้หรือคุณจะตาย แค่นั้นเอง”
กระโจนออกไปในเวลาที่ถูกต้อง
ปัญหาของชาวบางกลอยปรากฏในสื่อต่างๆ มาเป็นเวลานาน ทว่ากลับไม่มีบุคคลที่มีชื่อเสียงออกมาร่วมเรียกร้องการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเหมือนกับกรณีอื่นๆ ทว่าคุณเฌอเอมถือเป็นหนึ่งในคนดังกลุ่มแรกๆ ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น และใช้เสียงของเธอบอกเล่าเรื่องราวของชาวบางกลอย หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า เป็น “กระบอกเสียง” ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงนั่นเอง
“เอมมองว่าการเป็นกระบอกเสียงของสังคม มันจะไม่มีวันฟังมากกว่าพูด คนบางคนได้รับการฟังมาตลอดชีวิต แต่ไม่มีการตอบสนอง เพราะฉะนั้น การที่ไปนั่งฟังเขาเฉยๆ แล้วก็ดูชีวิตเขาเป็นไปแบบนั้น มันเหมือนทอดทิ้งเขาไปแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำคือฟังให้ดี แต่อย่าฟังอย่างเดียว ถ้าคุณจะเป็นกระบอกเสียง คุณต้องพูดให้ดีที่สุด ดังที่สุด ฟังให้ดี พูดให้ดัง นี่คือหน้าที่ของคนที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเป็นกระบอกเสียง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณพูดให้ดัง ให้ทุกคนกล้าที่จะพูดเหมือนคุณ แล้วก็พูดไปเรื่อยๆ พูดอย่าหยุด never shut up จนถึงจุดที่การเคลื่อนไหวนี้ได้รับการสนับสนุนจากคนหมู่มาก การพูดของคุณถึงจะสำเร็จ”
อย่างไรก็ตาม ทุกประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งในสังคมไทยและระดับโลก ล้วนยังไม่คลี่คลายว่าฝ่ายใดถูกหรือฝ่ายใดผิด ดังนั้น จึงอาจยากที่จะรู้ว่าเราเลือกข้าง “ใคร” กันแน่ กรณีเช่นนี้ คุณเอมให้ความเห็นว่า หลายครั้งการเคลื่อนไหวก็เกิดขึ้นเพราะผู้ที่ริเริ่มนั้นยึดถือ “หลักการ” บางอย่าง และการต่อสู้ท่ามกลางความขัดแย้งก็เป็นไปเพื่อทำให้หลักการนั้นได้รับการยอมรับ
“อย่ามองว่าการเป็นกระบอกเสียงหรือการออกมาพูด มันต้องรอจนกว่าจะปลอดภัยแน่ๆ แล้วจึงออกมา หลายๆ ครั้งมันมาจากการที่เราหาข้อมูลจนเราเข้าใจ แต่นั่นแหละ เมื่อไรที่เราเข้าใจและยึดถือ ต่อให้มันอันตราย คุณก็ต้องกระโจนลงไป นี่คือการออกไปในช่วงเวลาที่มันถูกต้อง ในช่วงที่มันเป็นจังหวะเวลาของเราจริงๆ ไม่เกี่ยวกับว่าข้างนอกมันปลอดภัยหรือยัง แต่คนที่ออกมาตอนนั้นเพราะเขาเชื่อในหลักการแล้ว เขารู้ว่าเขายึดถืออะไร เขาถึงออกไปทั้งที่รู้ว่ามันอันตราย”
“มันไม่มี safe game ในโลกของความเป็นจริง ถ้าคุณจะเปลี่ยนอะไรสักอย่าง คุณก็ต้องเปลี่ยนตอนนี้ ตั้งแต่ตอนที่มันยังเป็นปัญหา ยังเป็นข้อถกเถียง ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ถ้าคุณไม่กล้าออกมาพูด ถ้าคุณรอที่จะออกมาพูดตอนที่มันปลอดภัยแล้ว ทั้งที่คุณรู้ว่าปัญหามันคืออะไร มันก็ได้นะ แต่สุดท้ายคนที่เขาออกมาก่อนน่ะ เราจะไม่ทวงความยุติธรรมให้เขาเลยเหรอ สุดท้าย พอเรารอให้มันปลอดภัย เราก็แค่เป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลานั้น แต่เรากล้าพูดไหมว่าเรามาเพื่อเปลี่ยน” คุณเฌอเอมกล่าว
เสรีภาพที่แท้จริง
แม้คุณเฌอเอมจะถือว่าเป็นคนดัง แต่เธอบอกกับเราว่า การเคลื่อนไหวในแคมเปญ #Saveบางกลอย นี้ เธอทำในฐานะ “ประชาชนคนธรรมดา” คนหนึ่ง และหนทางที่ประชาชนจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ก็คือ พวกเขาจะต้องรู้ว่าตัวเองมีเสรีภาพในการพูด สามารถแสดงออกได้ว่าไม่พอใจในเรื่องอะไร และสามารถพูดถึงได้ทุกปัญหา
“การที่เราพูดไม่ได้เพียงปัญหาเดียว มันทำให้เราไม่สามารถพูดถึงทุกปัญหาได้อย่างเต็มที่ การที่เราไม่สามารถวิจารณ์ได้แค่เรื่องเดียว มันทำให้เราไม่สามารถวิจารณ์ทุกระบบในประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้น เสรีภาพที่แท้จริงคือการที่ไม่มีเรื่องไหนที่คุณพูดไม่ได้ อย่างปัญหาของชาวบางกลอย มันถูกตัดตอนกระบวนการยุติธรรมในช่วงที่คุณบิลลี่หายไป จากการถูกอุ้ม แล้วพอเราไม่สามารถพูดถึงเรื่องการอุ้มหายในสื่อใหญ่ๆ พูดถึงเรื่องใครเป็นคนอุ้มในที่สาธารณะได้ เราไม่สามารถปลุกระดมคนมาแก้ไขปัญหานี้ได้ว่าบิลลี่หายไปไหน ใครฆ่าบิลลี่ มันทำให้ปัญหาของบางกลอยไม่เคยได้รับการแก้ไข”
ส่วนจุดเริ่มต้นที่ประชาชนจะสามารถส่งเสียงเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา คุณเฌอเอมยกตัวอย่างสังคมไทยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ที่หลายคนเริ่มพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้ขยะที่ถูกซุกใต้พรมมานานถูกกวาดออกมาอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด นั่นแสดงว่า เสียงของทุกคนมีค่าและมีพลังจริง
“ทุกคนต้องออกมาพูดในสิ่งที่กลัว ออกมาพูดในสิ่งที่ไม่กล้า ตั้งแต่ปัญหาในครอบครัว ปัญหาในสถาบันการศึกษา ในที่ที่คุณทำงาน แล้วให้คนเห็นความกล้าของคุณ ค่อยๆ พูด ค่อยๆ เสริมพลังกัน ค่อยๆ ทำให้มันรู้สึกว่าฉันสำคัญ ปัญหาของฉันสำคัญ แล้วประชาชนก็จะสำคัญ” คุณเฌอเอมทิ้งท้าย