“นักกีฬาระดับตำนาน” มักจะเป็นคำที่ใช้เรียกขานบุคคลที่ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นจนเป็นที่ประจักษ์ หรือสร้างคุณูปการให้กับกีฬาชนิดหนึ่ง
แต่อาจจะไม่ใช่สำหรับ เซโวรอด โบบรอฟ นักกีฬาของโซเวียต เมื่อเขาไม่ได้เก่งแค่ฟุตบอลเพียงอย่างเดียว แต่ยังเด่นในเรื่องฮอคกีน้ำแข็ง จนสามารถติดทีมชาติเข้าไปเล่นในโอลิมปิกทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาวในสองชนิดกีฬา แถมยังคว้าเหรียญทองมาได้อีกด้วย
นักเรียนกองทัพแดง
“การเมืองและกีฬาต้องแยกออกจากกัน” คือสิ่งผู้มีอำนาจพยายามพร่ำบอกมาโดยตลอด แต่ความเป็นจริงมันต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในโซเวียต ที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920s
ว่ากันว่านักกีฬาที่นี่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ว่าจะทางตรงและทางอ้อม เช่นกันกับ เซเวลอด โบบรอฟ (Vsevolod Bobrov) นักกีฬาอัจฉริยะของโซเวียต
Photo : en.fhr.ru
เขาเกิดในปี 1922 ที่เมืองมอร์แชงส์ เมืองเล็ก ๆ ที่ห่างจากกรุงมอสโก ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 400 กิโลเมตร แต่ 3 ปีหลังจากนั้น เขาและครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ที่เมือง Sestroretsk ใกล้กับเปโตรกราด หรือเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ในปัจจุบัน
และที่แห่งนี้ คือ จุดเริ่มต้นในเส้นทางลูกหนังของเขา เมื่อมันกลายเป็นสถานที่ที่โบบรอฟ เริ่มหัดเล่นฟุตบอลเป็นครั้งแรก หลังได้รับอิทธิพลจากพ่อที่ชื่นชอบในกีฬาชนิดนี้ โดยเขาถึงขั้นได้เข้าไปเล่นกับดินาโม เลนินกราด ตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี
อย่างไรก็ดี ด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 1939 ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในการสร้างยุทธภัณฑ์ทางทหาร ทำให้ โบบรอฟ ถูกเรียกตัวไปช่วยในโรงงานสร้างปืนใหญ่ที่เมืองออมสค์
ก่อนที่มันจะทำให้เขาได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนฝึกทหารของกองทัพแดง หรือกองทัพบกของโซเวียตในปี 1942 และจบการศึกษาพร้อมกับติดยศออกมาในปีต่อมา
Photo : russianfootballnews.com
อย่างไรก็ดี สำหรับ โซเวียต กองทัพไม่ได้เป็นเพียงที่ฝึกทหารเท่านั้น แต่ยังเป็นที่บ่มเพาะนักกีฬาชั้นยอด อันเป็นผลมาจากนโยบายพัฒนากำลังทหารไปพร้อมกับกีฬา ด้วยการผนวกอยู่ในโปรแกรมฝึกของกองทัพ
เพราะพวกเขามองว่า “กีฬา” คือ เครื่องมือทางการเมืองชั้นดี ที่สามารถสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำหรับรัฐขนาดใหญ่อย่างโซเวียต ที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์
“กีฬากลายเป็นนิยามของการฝึกเพื่อเตรียมเป็นทหาร และบรรลุมาตรฐานของความฟิตและการป้องกันประเทศอย่างเปิดเผย” เจมส์ ริออร์แดน นักประวัติศาสตร์ด้านกีฬา อธิบายในบทความวิชาการของเขาที่ชื่อว่า Totalitarianism And Sport In Russia
ทำให้แต่ละกองทัพมีสโมสรกีฬาเป็นของตัวเอง เพื่อรองรับเหล่านักกีฬาทหารที่มีความสามารถโดดเด่น โดยสำหรับกองทัพแดง พวกเขามี ซีดีเคเอ มอสโก (CDKA Moscow) บรรพบุรุษของ ซีเอสเคเอ มอสโก ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1911 และเป็นสโมสรที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโซเวียต
และสโมสรแห่งนี้ก็คือจุดเริ่มต้นแห่งประวัติศาสตร์จากชายที่ชื่อว่า เซเวลอด โบบรอฟ
ยอดดาวยิงแห่งโซเวียต
แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายน 1945 หลังมาโมรุ ชิเงมิตสึ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ลงนามยอมจำนน แต่สำหรับในยุโรป มันเริ่มคลี่คลายลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 1945 หลังกองทัพแดงตีโต้ จนกลับมายึดกรุงเบอร์ลินของเยอรมันได้สำเร็จ
ทำให้ฟุตบอล ที่เว้นวรรคไปตั้งแต่ปี 1941 จากภาวะสงครามได้หวนกลับมาเตะอีกครั้ง เช่นเดียวกับ โซเวียต ท็อปลีก ของสหภาพโซเวียต ที่กลับมาเตะตั้งแต่กลางปี 1945
Photo : www.rferl.org
และมันก็กลายเป็นการเปิดตัวที่ยอดเยี่ยมของสมาชิกคนใหม่อย่าง โบบรอฟ เมื่อดาวยิงวัย 23 ปี ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นตั้งแต่ซีซั่นแรก ด้วยการซัดไปถึง 24 ประตูจาก 22 นัดในลีก คว้าตำแหน่งดาวซัลโวของ โซเวียต ท็อปลีก พร้อมพาทีมจบในอันดับ 2 โดยมีแต้มห่างจากดินาโม มอสโก เพียงแค่คะแนนเดียว
ด้วยผลงานดังกล่าวยังทำให้เขา ถูกยืมตัวจาก ดินาโม ทีมแชมป์ ร่วมทีมไปทัวร์สหราชอาณาจักร หลังจบฤดูกาล ที่กลายเป็นอีกหนึ่งเวทีสร้างชื่อของ โบบรอฟ หลังยิงไปถึง 6 ประตู ในการพบกับทีมอย่าง กลาสโกว์ เรนเจอร์, อาร์เซนอล, และเชลซี
“นักเตะรัสเซียทุกคนต่างยอดเยี่ยม พวกเขาสามารถเล่นกับทีมไหนก็ได้ในสหราชอาณาจักร ผมอยากจะพูดถึงนักเตะคนหนึ่งที่โดดเด่นมาก เขาชื่อว่า เซเวลอด โบบรอฟ และเขาก็สร้างปัญหาให้กับนักเตะของเรามาก” ชาร์ลส บูชาน นักข่าวในตำนานของอังกฤษกล่าว
Photo : occerfootballwhatever.blogspot.com
แต่นั่นเป็นแค่ปฐมบทเท่านั้น เมื่อหลังจากนั้น โบบรอฟ ก้าวขึ้นมาเป็นยอดดาวยิงของโซเวียต ด้วยการยิงประตูแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม และคว้ารางวัลดาวซัลโวลีกได้อีกครั้งในปี 1947 และรองดาวซัลโวในปี 1948 พร้อมพาซีดีเคเอ ผงาดคว้าแชมป์ลีกโซเวียตได้ 3 สมัยติดต่อกันในปี 1946-1948 และแชมป์โซเวียตคัพอีก 2 ครั้งในปี 1945 และ 1948
อย่างไรก็ดี แม้จะทำผลงานได้อย่างโดดเด่นให้กับทีมของกองทัพแดง แต่ในปี 1950 เขาก็มีอันต้องย้ายไปเล่นให้กับ วีวีเอส มอสโก (VVS Moscow) สโมสรของกองทัพอากาศที่มี วาซิลี สตาลิน ลูกชายของ โจเซฟ สตาลิน ผู้นำจอมเหี้ยมโหดของโซเวียต เป็นประธานสโมสร
Photo : allthatsinteresting.com
แน่นอนว่าเรื่องนี้มีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่ เพราะในตอนนั้น โบบรอฟ คือยอดดาวยิงแห่งยุค ในขณะที่ วีวีเอส เพิ่งจะก่อตั้งในปี 1944 และเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดในปี 1947 สิ่งเดียวที่ทำให้เกิดขึ้นได้คือคำประกาศิตจาก วาซิลลี เท่านั้น
เนื่องจากในปี 1948 ลูกชายของ สตาลิน เลื่อนขั้นขึ้นมาเป็น ผู้บัญชาการกองกำลังอากาศของเขตมอสโก และได้ดำรงตำแหน่งประธานสโมสรโดยอัตโนมัติ ทำให้เขาพยายามที่จะสร้างทีมให้ขึ้นมาทัดเทียมกับ ซีดีเคเอ ที่เป็นของกองทัพบก และ สปาร์ตัก มอสโก ทีมของตำรวจ หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ คือการบีบบังคับให้เหล่านักเตะฝีเท้าดีมาเล่นที่นี่ และโบบรอฟก็เป็นหนึ่งในนั้น
แม้ว่าผลงานของเขา ในสีเสื้อของ วีวีเอส อาจจะไม่ได้เปรี้ยงปร้างเหมือนเล่นให้ทีมเก่า แถมในปี 1952 เขายังถูกดันขึ้นไปผู้เล่น-ผู้จัดการทีม แต่โบบรอฟ ก็ยังไม่ทิ้งลายความเป็นดาวยิงหลังซัดให้ทีมไป 14 ประตูจาก 32 นัดในช่วงปี 1950-1952
Photo : trequartismi.wordpress.com
จุดเด่นของโบบรอฟ คือความเป็นคนกล้าคิดกล้าทำ และจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ เขาพร้อมจะทุ่มเทเพื่อทำประตู ที่ทำให้เขาสามารถยิงประตูได้อย่างถล่มทลาย จนแทบไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่ 8 ปีในเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพ เขาจะซัดไปได้ถึง 99 ประตูจาก 114 นัด หรือ 0.91 ประตูต่อเกม
มันยังพิสูจน์ให้เห็นในตอนที่รับใช้ทีมชาติ เพราะแม้ว่าโบบรอฟ จะเล่นให้โซเวียตไปเพียงแค่ 3 นัด แต่ทุกนัดล้วนมีความหมาย โดยเฉพาะการสวมปลอกแขนกัปตันทำแฮตทริค พาโซเวียต ที่ถูก ยูโกสลาเวีย นำไปก่อนถึง 5-1 ไล่ตามตีเสมอ 5-5 ในฟุตบอลโอลิมปิกที่ เฮลซิงกิ ฟินแลนด์ เมื่อปี 1952
“เมื่อมองย้อนกลับไปในชีวิตนักฟุตบอลของผม โอลิมปิก 1952 เป็นสิ่งที่ผมจำได้อย่างแจ่มชัดที่สุด ผลงานของเซเวลอด โบบรอฟในเกมนั้นคือความสุดยอดที่สุดที่ผมเคยเห็นในสนามฟุตบอล” สเตฟาน โบเบ็ค ตำนานของยูโกสลาเวีย หนึ่งในผู้เล่นที่อยู่ในเกมวันนั้นกล่าว
“เขาคือซูเปอร์สตาร์อย่างแท้จริง ที่เล่นโดยแรงขับเคลื่อนและความปรารถนาอย่างมหาศาล”
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เขาทำได้ดีไม่แพ้กัน
จอมถล่มประตูฮอคกีน้ำแข็ง
ด้วยความที่โซเวียตปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งทุกอย่างเป็นของรัฐ ทำให้แต่ละองค์กรไม่ได้มีเพียงสโมสรฟุตบอลเท่านั้น พวกเขายังมีกีฬาประเภทอื่นที่ใช้ชื่อเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น ฮอคกีน้ำแข็ง, ยิมนาสติก, ว่ายน้ำ, วอลเลย์บอล, บาตเกตบอล หรือแม้กระทั่งขี่ม้า
ทว่าในจำนวนกีฬาที่มากมายเหล่านี้ สองกีฬาที่พวกเขาเน้นเป็นพิเศษก็คือฟุตบอลและฮอคกีน้ำแข็ง ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมของโซเวียต และมันก็กลายเป็นโอกาสที่ทำให้ โบบรอฟ ได้เฉิดฉายในอีกกีฬาหนึ่ง
Photo : conwaysrussianhockey.wordpress.com
โบบรอฟ ไม่ได้เป็นนักฮอคกีน้ำแข็งมาตั้งแต่แรก มันเป็นความบังเอิญ ตอนที่เขาไปทัวร์สหราชอาณาจักรกับดินาโม เมื่อในขณะที่ออกไปเดินเล่นกับเพื่อนร่วมทีม เขาไปเห็นคนอังกฤษกำลังต่อแถวทำอะไรไม่รู้จนยาวออกมานอกอาคาร
ด้วยความสงสัยเข้าจึงไปถามคนที่อยู่แถวนั้น แต่ด้วยความที่เขารู้ภาษาอังกฤษอย่างจำกัด ทำให้เขาได้ยินกลับมาแค่เพียงว่า “ฮอคกี” แน่นอนเขารู้จักกีฬาชนิดนี้ เพราะมันคล้ายกับ Bandy ของโซเวียต แต่มันต้องเล่นกลางแจ้งเท่านั้น จึงชวนเพื่อนไปดูให้เห็นกับตาว่ามันคืออะไรกันแน่
และนั่นก็เป็นครั้งแรกที่ทำให้โบบรอฟ ได้รู้จักกับฮอคกีน้ำแข็ง มันมีความคล้ายกับกีฬาแบนดี้ ของพวกเขา ที่เล่นบนพื้นน้ำแข็งเหมือนกัน แต่มีขนาดสนามที่เล็กกว่า รวมถึงใช้ผู้เล่นน้อยกว่า (แบนดี้ใช้ผู้เล่น 11 คน ฮอคกีน้ำแข็งใช้ผู้เล่น 6 คน) ก่อนที่มันจะทำให้เขาตกหลุมรักในกีฬาชนิดนี้
ทำให้ทันทีที่เดินทางกลับถึงโซเวียต โบบรอฟ ได้หัดเล่นมันอย่างจริงจังในปี 1946 อันที่จริงเขาพอมีพื้นฐานอยู่บ้างจากการเคยเล่นแบนดี้ มาก่อนสมัยเด็กๆ ทำให้เขาพัฒนาฝีมืออย่างก้าวกระโดด จนก้าวมาเป็นกำลังสำคัญของทีมฮอคกี ซีดีเคเอ
Photo : russianfootballnews.com
เพราะเพียงแค่ 2 ปีที่เพิ่งหัดเล่น โบบรอฟ ก็สถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นยอดดาวยิงในวงการฮอคกีน้ำแข็ง แม้จะเล่นในตำแหน่งปีกซ้าย แต่เขาก็สามารถทำประตูได้อย่างถล่มทลายให้กับ ซีดีเคเอ ด้วยการยิงไปถึง 52 ประตูในปี 1948 ที่ทำให้เขาคว้าดาวซัลโวของลีก โดยทิ้งห่างอันดับ 2 ที่ยิงไป 23 ประตูอย่างลิบลับ
แต่นั่นไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เขามายืนในจุดนี้ เมื่อโบบรอฟ ยังสามารถคว้ารางวัลดาวซัลโวของลีกฮอคกีได้อีก 2 สมัย ตอนย้ายไปเล่นให้กับ วีวีเอส ทีมลูกของสตาลิน ด้วยผลงาน 41 ประตูในปี 1951 และ 34 ประตูในปี 1952
และสิ่งนี้ก็ทำให้เขากลายเป็นนักกีฬาประวัติศาสตร์
ทั้งร้อนและหนาว
โบบรอฟ ยังคงเล่นทั้งฮอคกีและฟุตบอล ตลอดชีวิตการค้าแข้งกับ ซีดีเคเอ และ วีวีเอส เพราะเขาเชื่อว่าทั้งสองสิ่งสามารถทำไปด้วยกันได้ ในฤดูร้อนเขา คือ นักฟุตบอล และเปลี่ยนมาจับไม้ฮอคกีในฤดูหนาว
Photo : soccerfootballwhatever.blogspot.com
อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนก็มาถึงในปี 1953 เมื่อการเสียชีวิตของ สตาลิน ทำให้ขั้วอำนาจทางการเมืองต้องเปลี่ยนไป และสโมสร วีวีเอส ของลูกสตาลินก็หนีไม่พ้น เมื่อมันถูกสั่งยุบ หลัง วาซิลี ถูกส่งเข้าคุกด้วยข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของโซเวียต
การยุบสโมสรทำให้นักเตะของพวกเขาต้องแยกย้ายไปคนละทิศละทาง เช่นกับสำหรับโบบรอฟ เขาต้องย้ายไปเล่นให้กับ สปาร์ตัก มอสโก อีกทีมดังประจำเมืองมอสโก
แม้ว่าเขาจะทำผลงานไม่เลวที่นั่น ด้วยการยิงให้ทีมไป 3 ประตูจาก 4 นัด แต่ดูเหมือนว่าเขาจะรู้สึกพอแล้วสำหรับกีฬานี้ และตัดสินใจหันหลังให้กับมันในปี 1953 ด้วยวัยเพียง 31 ปี เพื่อกลับมาโฟกัส ให้กับอีกสิ่งที่เขาตกหลุมรักนั่นก็คือ “ฮอคกีน้ำแข็ง”
Photo : chunkletskhl.tumblr.com
และมันก็คือการตัดสินใจที่ถูกต้อง เมื่อโบบรอฟ ที่เคยแข็งแกร่งอยู่แล้วในกีฬาชนิดนี้ ยิ่งแข็งแกร่งขึ้นไปอีก การเลิกเล่นฟุตบอล ทำให้ร่างกายเขาไม่บอบช้ำมาก และมาทุ่มเทกับฮอคกีน้ำแข็งได้อย่างเต็มที่
เขากลับมาอยู่กับ ซีดีเอสเอ อดีตทีมเก่าของเขาที่เปลี่ยนชื่อมาจาก ซีดีเคเอ ตั้งแต่ปี 1954 และยังทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ยิงไปถึง 25 ประตูในซีซั่นนั้น ก่อนจะยิงอีก 17 ประตูในปี 1956 พร้อมพาทีมคว้าแชมป์ลีกได้สมัย
ทำให้เขากลายเป็นดาวเด่นของวงการนี้ ที่สามารถพาทีมคว้าแชมป์ลีกรวมได้ถึง 7 สมัย และมีสถิติการยิงประตูรวมที่ยอดเยี่ยมถึง 243 ประตูจาก 130 นัด ทั้งที่เพิ่งหัดเล่นกีฬาชนิดนี้ตอนอายุ 24 ปี แถมช่วงแรกยังเล่นฟุตบอลควบคู่ไปด้วย
Photo : Russia in RSA