คีโตเจนิค อาจเหมาะกับผู้ที่อยากลดน้ำหนัก และผู้ป่วยเบาหวาน เพราะสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงควบคู่กันไปด้วย
การกินอาหารแบบ “คีโตเจนิค” มีความเกี่ยวพันธุ์กับระดับน้ำตาลในเลือด เพราะการกินคีโตเจนิคคือการกินอาหารโดยหลีกเลี่ยงแป้ง และน้ำตาล (คาร์โบไฮเดรต) โดยกินไขมันทดแทน เพื่อให้ร่างกายรู้สึกว่าอดอาหาร จึงไปสลายไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกาย โดยไขมันที่ถูกสลายไป เรียกว่า “คีโตน”
ประโยชน์ของ คีโตเจนิค
รศ. พญ. ธนินี สหกิจรุ่งเรือง จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า คุณสมบัติของอาหารคีโต มีดังนี้
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
- ลดความดันโลหิตได้ในผู้ที่เป็นเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 1 ปีแรก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากน้ำหนักตัวที่ลดลงได้ในระยะแรก
- ช่วยลดระดับอินซูลิน
ผู้ที่สามารถกินคีโตเจนิคได้
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- คนทั่วไปที่ต้องการลดน้ำหนัก
- ผู้ที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวที่ต้องระมัดระวัง เช่น โรคตับ โรคไต ฯลฯ
ผู้ที่ไม่สมควรกินคีโตเจนิค
- ผู้ป่วยเบาหวานที่กำลังกินยาลดระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ เนื่องจากมีโอกาสเกิดปัญหาระดับน้ำตาลต่ำได้มากขึ้น
- ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ต้องรับอินซูลิน (รวมถึงเด็ก และวัยรุ่นที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1) เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความเป็นกรดจากสารคีโตนในเลือดมาก รวมถึงการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำมากเกินไป
- ผู้ที่มีภาวะไตเสื่อมอาจต้องระวังการกินโปรตีนมากเกินไปจากการกินอาหารคีโต ทำให้ไตเสื่อมมากขึ้นได้
จะเห็นได้ว่า แม้ว่าคีโตเจนิคจะเหมาะกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน แต่ก็ไม่เสมอไป ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนพิจารณากินคีโต เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในภายหลัง