เชื่อเหอะ! จนท.ทะเบียน ม.ฮาร์วาร์ด ยัน "พิธา" จบการศึกษาที่นี่จริง

Home » เชื่อเหอะ! จนท.ทะเบียน ม.ฮาร์วาร์ด ยัน "พิธา" จบการศึกษาที่นี่จริง



เชื่อเหอะ! เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนมาเอง ขอยืนยัน “พิธา” จบการศึกษาจากฮาร์วาร์ดจริง พร้อมเปิดรายงานตอนเรียนโชว์

หลังจากพรรคก้าวไกลประกาศชัยชนะเลือกตั้ง 66 ได้เกิดกระแสข่าวลือที่ถูกแชร์อย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งอ้างว่า “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่เป็นโรงเรียนชื่อฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

โดยมีข้อความระบุว่า “สรุปว่าพิธาไม่ได้จบมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่เป็นโรงเรียนชื่อฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ ทำไมไม่พูดแต่แรกให้เคลียร์ว่า ไม่ได้จบมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด” ซึ่งโพสต์ครั้งนี้ถูกแชร์ออกไปหลายร้อยครั้ง มีหลายคนเชื่อว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นความจริง

โพสต์ที่กล่าวอ้างว่า พิธาไม่ได้จบจากฮาร์วาร์ด

ต่อมาวันที่ 23 พ.ค. 66 เอเอฟพี รายงานถึงการตรวจสอบข่าวลือดังกล่าวว่า “นายจิม มีแฮน” เจ้าหน้าที่ทะเบียนจากวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ได้ส่งอีเมลยืนยันว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจริง

“ฝั่งทะเบียนแห่ง HKS ยืนยันว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลงทะเบียนเรียนเต็มเวลาในระดับรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ที่วิทยาลัยการปกครองจอห์น เอฟ เคนเนดี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยเริ่มการศึกษาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 และสำเร็จการศึกษารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554″

ข้อความข้างต้นมีเนื้อความตรงข้ามกับข่าวลือที่ถูกเผยแพร่ก่อนหน้า เพราะจากข้อมูลทางการของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด “HKS” ถือเป็นหนึ่งใน 11 วิทยาลัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด วิทยาเขตเคมบริดจ์

ข้อมูลบนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดระบุว่า Harvard Kennedy School (HKS) เป็นหนึ่งในวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด วิทยาเขตเคมบริดจ์

ขณะที่ คริสเตียน คีเทลส์ หนึ่งในอาจารย์จากโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (HBS) กล่าวกับเอเอฟพีว่า พิธา ได้ลงเรียนในวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคเพื่อการแข่งขัน ซึ่งเป็นวิชาที่สอนโดยโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด ในปี 2554 โดยวิชาดังกล่าวเป็นการเรียนควบทั้งกับ HBS และวิทยาลัยปกครองเคนเนดี้

“คุณลิ้มเจริญรัตน์ได้ลงเรียนวิชานี้ในฐานะนักเรียนจากวิทยาลัยเคนเนดี้ เขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย”

สำหรับรายงานประเด็นอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่พิธาร่วมเขียนนั้น ได้ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด สามารถอ่านได้ที่นี่ (คลิก)

รายงานประเด็นอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่พิธาร่วมเขียน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ