จังหวัดเชียงใหม่มียอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ทุบสถิติสูงสุดต่อวันแล้วที่ 412 ราย ล่าสุดวิกฤติเตียงของโรงพยาบาลสนามเริ่มหนักขึ้น เร่งปรับเปลี่ยนระดับการรับผู้ป่วยจากเตียงสีเขียว เป็นพื้นที่ดูแลรักษาผู้ป่วยเตียงสีเหลืองหรือผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เพื่อบรรเทาความแออัดของผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พร้อมจัดตั้ง CI หรือศูนย์แยกกักของแต่ละอำเภอสำหรับกระจายผู้ป่วยสีเขียวไปดูแล
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่เชียงใหม่อยู่ในระดับวิกฤติแล้ว เนื่องจากพบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง และคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้นกระจายไปทั่วพื้นที่ในหลายอำเภอด้วย ล่าสุดข้อมูลของวันที่ 21 ตุลาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 412 ราย ถือว่าทุบสถิติสูงสุดมาตั้งแต่มีโควิดระบาดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่แล้ว เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางจากต่างจังหวัด 5 ราย ประกอบด้วย กรุงเทพฯ จันทบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ และแม่ฮ่องสอน จังหวัดละ 1 ราย ส่วนผู้ติดเชื้ออีก 407 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด ทำให้ยอดรวมระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 มีผู้ติดเชื้อแล้ว 13,012 ราย
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ปัจจุบันที่โรงพยาบาลสนามเริ่มมีวิกฤติเรื่องเตียงไม่เพียงพอสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 300-400 ราย ทำให้เกิดกรณีปัญหาที่ว่ามีการรับตัวผู้ติดเชื้อมาเพื่อทำการคัดกรอง และต้องรอเตียงนานหลายชั่วโมงจนถึงช่วงกลางดึก เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนให้โรงพยบาลสนามที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติให้เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่รับผู้ป่วยอาการสีเหลือง ที่มีอาการสุ่มเสี่ยงจะวิกฤติ และให้แต่ละอำเภอตั้ง CI หรือศูนย์แยกกักแต่ละอำเภอ เพื่อรองรับผู้ป่วยอาการสีเขียวหรืออาการน้อยและไม่แสดงอาการ จึงทำให้คืนที่ผ่านมาเกิดปัญหามีผู้ที่รอคัดกรองและรอเตียงที่โรงพยาบาลสนาม ในช่วงที่แต่ละอำเภอยังคงเร่งเตรียมเตียงรองรับผู้ติดเชื้อที่จะถูกส่งไปกักตัว
บางรายถูกรับตัวมาแต่เช้ามารอคัดกรองและรอเตียงจนถึงค่ำมืด แต่ไม่มีอาหารรับประทานเนื่องจากยังไม่เข้าระบบที่เป็นผู้ป่วยมีเตียงในโรงพยาบาลสนาม บางรายก็แก้ปัญหาด้วยการสั่งอาหารผ่านไรเดอร์มาส่ง แต่บางรายก็สั่งไม่เป็นและติดต่อญาติที่อยู่ต่างอำเภอลำบาก จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องของอาหารการกินที่มีไม่เพียงพอ
ในส่วนของโรงพยาบาลสนาม โดย พญ.กชพร อินทวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงดาว ในฐานะรองผู้อำนวยโรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่กำลังเตรียมการที่จะปรับสถานภาพของโรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่ จากเดิมที่เปิดรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ให้เป็นสถานที่สำหรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองหรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง
ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนเตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองตามโรงพยาบาลต่างๆ เริ่มไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มนี้ เพราะการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการรักษาอาการของผู้ป่วย เนื่องจากเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการทางปอด จำเป็นต้องให้ยารักษา ให้น้ำเกลือ ให้ออกซิเจน ต้องมีการเอ็กซเรย์ปอดอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์และพยาบาล หากไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการดูแลไม่ดี อาจจะทำให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง มีอาการป่วยที่รุนแรงขึ้นจนกลายเป็นผู้ป่วยสีส้ม และสีแดง หรือผู้ป่วยอาการหนักถึงหนักมากได้ตามลำดับ และอาจจะส่งผลต่อชีวิตของผู้ป่วยได้
สำหรับแนวทางในการปฏิบัตินั้น จะทำการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในโรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปกติมีเตียงผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ป่วยที่แข็งแรงและไม่มีอาการ จำนวน 1,500 เตียง ให้กลายเป็นพื้นที่ดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง จำนวน 150 เตียงแทน โดยวานนี้ (21 ต.ค.) ได้เริ่มจัดพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองเป็นวันแรกแล้วในเบื้องต้น จำนวน 50 เตียง โดยมีผู้ป่วยสีเหลืองทยอยเข้ามารักษาแล้วกว่า 30 ราย
ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลสนามยังมีผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวคงค้างอยู่ในโรงพยาบาลสนามอีกประมาณ 1,000 เตียง ซึ่งหลังจากนี้จะเริ่มคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่เหลืออยู่ หากมีอาการแข็งแรงและผ่านการรักษาตัวครบ 10 วันแล้ว จะส่งไปกักตัวต่อที่ศูนย์พักคอยในแต่ละชุมชนหรือที่บ้าน เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามแนวทางของแพทย์ จากนั้นจะปรับเปลี่ยนเตียงที่เหลืออยู่ทั้งหมดให้เป็นเตียงสำหรับรักษาผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองอีก 100 เตียง จนครบ 150 เตียง ตามกำหนด ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในวันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการระบายผู้ป่วยสีเขียวออกไปได้มากน้อยเพียงใดด้วย
นอกจากนี้ พญ.กชพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการรักษาพยาบาลพบว่าการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวหรือผู้ป่วยที่แข็งแรงไม่มีอาการ 10 คน จะเท่ากับการดูแลผู้ป่วยสีเหลืองหรือผู้ป่วยที่มีอาการทางปอด 1 คน ดังนั้น สิ่งที่มีความจำเป็นที่สุดในขณะนี้ คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยในกลุ่มสีเหลือง ซึ่งปกติแล้วการดูแลผู้ป่วยสีเขียว 1,500 คน ที่โรงพยาบาลสนามจังหวัดเชียงใหม่จะใช้แพทย์ 2 คน และพยาบาล เจ้าหน้าที่ ดูแลผู้ป่วยผลัดละ 10 คน แต่เมื่อเปลี่ยนกลุ่มการรักษาเป็นผู้ป่วยสีเหลือง 150 คน จะต้องใช้พยาบาลและเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างน้อย 20-30 คน ใช้แพทย์อย่างน้อย 4 คน และแพทย์เฉพาะทางอีก 1 คน