เชอรีฟ ตีราสโพลล์ : แชมป์ลีกมอลโดวา ที่แบกปัญหาการเมืองสู่สายตาชาวโลกผ่าน UCL

Home » เชอรีฟ ตีราสโพลล์ : แชมป์ลีกมอลโดวา ที่แบกปัญหาการเมืองสู่สายตาชาวโลกผ่าน UCL

ในศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2021-22 “เชอรีฟ ตีราสโพลล์” อาจเป็นชื่อสโมสรที่แฟนฟุตบอลคุ้นหูน้อยที่สุด เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ทีมฟุตบอลจากประเทศมอลโดวา ก้าวเข้าสู่ทัวร์นาเมนต์อันดับหนึ่งของยุโรป

ข้อมูลแบบผิวเผินระบุว่า พวกเขาเป็นแชมป์ลีกมอลโดวา แต่เบื้องหลังของสโมสรแห่งนี้มีมากกว่านั้น เพราะ “เชอรีฟ ตีราสโพลล์” แท้จริงแล้ว เป็นทีมฟุตบอลจากประเทศที่ไม่ได้มีการรับรองจากสหประชาชาติในยุโรปตะวันออก 

แถมเจ้าของสโมสรยังพัวพันกับการโกงผลการเลือกตั้งในประเทศอีกต่างหาก “เชอรีฟ ตีราสโพลล์” จึงไม่ได้มาเพื่อสร้างเซอร์ไพร์สในสนามฟุตบอลเพียงอย่างเดียว แต่ยังลากปัญหาการเมืองระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน-มอลโดวา-ทรานส์นีสเตรีย” ติดตัวมาสู่สังเวียนลูกหนังยุโรปอีกด้วย

ทีมจากดินแดนเถื่อน

เชอรีฟ ตีราสโพลล์ ถือเป็นสโมสรที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลของประเทศมอลโดวา พวกเขาคว้าแชมป์ลีก 19 ครั้ง แชมป์ฟุตบอลถ้วยอีก 10 สมัย แต่คุณจะรู้สึกอย่างไรหากเราจะบอกว่า ทีมฟุตบอลแห่งนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศมอลโดวาด้วยซ้ำ…

สาธารณรัฐมอลเดเวียพรีดเนสโตรวี หรือ ทรานส์นีสเตรีย คือ บ้านเกิดของสโมสรเชอรีฟ ตีราสโพลล์ ดินแดนแห่งนี้คือเขตปกครองพิเศษที่ตั้งอยู่บนชายแดนระหว่างเขตของประเทศมอลโดวาและยูเครน 


Photo : dandlwandering10.blogspot.com

แม้สหประชาชาติจะรับรองพวกเขาในฐานะส่วนหนึ่งของมอลโดวา แต่ ทรานส์นีสเตรีย ก็มีรัฐบาลเป็นของตัวเอง และไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของมอลโดวาแต่อย่างใด

 

ทรานส์นีสเตรีย จึงมีลักษณะคล้ายสาธารณรัฐปกครองตนเอง และไม่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐชาติใด 

แม้จะไม่มีประเทศไหนในสหประชาชาติรับรองพวกเขาในฐานะประเทศเอกราช แต่ทรานส์นีสเตียก็ไม่ใช่รัฐที่อ่อนแอ 

พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลรัสเซีย และเคยเกือบจะได้ประกาศตนเป็นเอกราชจากมอลโดวา เนื่องจากอิทธิพลของวิกฤตการณ์ไครเมีย เมื่อปี 2014 โดยก่อนหน้านั้นในปี 2006 ประชาชนชาวทรานส์นีสเตีย 97 เปอร์เซ็นต์ ลงประชามติให้แยกตัวออกจากมอลโดวา แต่สหภาพยุโรปและนานาชาติไม่รับรองผลมติครั้งนี้

ทั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกหากคนไทยจะไม่เคยได้ยินชื่อของทรานส์นีสเตรีย เพราะชาวยุโรปจำนวนมากก็ไม่เคยได้ยินชื่อของสาธารณรัฐแห่งนี้

 

อย่างมากก็อาจเจอชื่อทรานส์นีสเตรียในหนังสือประเภท “รวมเรื่องแปลก” เพราะพวกเขาคือรัฐเดียวในโลกที่ยังใช้สัญลักษณ์ค้อน-เคียวแบบสหภาพโซเวียตบนธงชาติ 

นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นของ วลาดิเมียร์ เลนิน นักปฏิวัติคอมมิวนิสต์ และบิดาแห่งสหภาพโซเวียต ตั้งเด่นเป็นสง่าหน้ารัฐสภาแบบไม่แคร์สายตาชาวโลก

ด้วยเหตุนี้ หากจะบอกว่าเศรษฐกิจภายในทรานส์นีสเตรีย มีลักษณะคล้ายคลึงกับสหภาพโซเวียตก็คงไม่ผิดนัก 

กล่าวคือ รัฐมีหน้าที่จัดหาสินค้าและบริการทุกชนิดแก่ประชาชน ตามแนวทางของประเทศคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น ซึ่งทรานส์นีสเตรียนำระบบเศรษฐกิจดังกล่าวมาปรับแต่งให้เหมาะสม เปลี่ยนจากรัฐซึ่งเคยทำหน้าที่ทุกอย่าง เป็นการจัดหาสินค้าและบริการภายใต้บริษัทเอกชนผูกขาดแทน

“เชอรีฟ” บริษัทที่มีตราสัญลักษณ์คล้ายตรานายอำเภอจากหนังคาวบอย จึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกรมตำรวจ เพราะพวกเขาเป็นธุรกิจผูกขาดขนาดใหญ่อันดับสองของทรานส์นีสเตรีย

 

ไม่ว่าจะเป็น ปั๊มน้ำมัน, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ช่องโทรทัศน์, สำนักพิมพ์, บริษัทก่อสร้าง, บริษัทนำเข้ารถเมอร์เซเดส-เบนซ์, บริษัทเอเจนซี่โฆษณา, โรงกลั่นสุรา, โรงงานขนมปัง, เครือข่ายโทรศัพท์ และโรงแรมห้าดาว ทั้งหมดล้วนเป็นธุรกิจในเครือบริษัทเชอรีฟทั้งสิ้น

ผูกขาดขนาดนี้คงไม่ต้องบอกว่า เชอรีฟ จะรวยและมีอำนาจขนาดไหน ยกตัวอย่างเช่นการเลือกตั้งของประเทศมอลโดวา เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 

บริษัทแห่งนี้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการโกงผลการเลือกตั้ง จากการซื้อเสียงประชาชนชาวทรานส์นีสเตรีย ให้เข้าคูหากาเบอร์ผู้สมัครที่เชอรีฟหนุนหลัง 

มีรายงานว่า เชอรีฟจ่ายเงินซื้อเสียงหัวละ 25 ดอลลาร์สหรัฐ หรือตกคนละประมาณ 800 บาท นับเป็นตัวเลขเม็ดเงินที่สูงมาก หากเทียบกับความจริงที่มอลโดวายังเป็นหนึ่งในประเทศยากจนแห่งหนึ่งในยุโรป

 

ขนาดเวทีเลือกตั้งยังยื่นมือเข้าไปวุ่นวายได้สบาย คงไม่ใช่เรื่องยากหากเชอรีฟจะครองความยิ่งใหญ่ในโลกฟุตบอล 

หลังจากที่พวกเขาตัดสินใจตั้งทีมฟุตบอลเชอรีฟ ตีราสโพลล์ ขึ้นมาในปี 1997 บริษัทก็อัดเงินมหาศาลลงไป เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีทีมใดในมอลโดวามาขัดขวางความยิ่งใหญ่ของพวกเขา 

หลายฝ่ายเชื่อว่า นี่คือการพยายามแสดงอำนาจของทรานส์นีสเตรียเหนือมอลโดวา ผ่านชัยชนะบนสนามฟุตบอล

สโมสรแห่งนี้ใช้เวลาเพียงปีเดียวก้าวสู่ลีกสูงสุด แล้วสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วยสมัยแรกในฤดูกาล 1998-99 และต่อยอดสู่แชมป์ลีกสมัยแรกในฤดูกาล 2000-01

 

ก่อนประกาศความยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง ด้วยการสร้างสนาม “เชอรีฟ สเตเดียม” โดยได้มีการเปิดใช้งานเมื่อปี 2002 จากทุนของบริษัทเชอรีฟ ที่ทุ่มเงินถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาสนามแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กีฬาครบวงจร ประกอบด้วย สนามแข่งขัน, สนามฝึกซ้อม 5 แห่ง, สนามฟุตบอลในร่มสำหรับฤดูหนาว และโรงแรมห้าดาว

การสร้างสนามของตัวเอง ถือเป็นไม้ตายเด็ดขาดที่ช่วยให้ เชอรีฟ ตีราสโพลล์ ผูกขาดความยิ่งใหญ่ของวงการฟุตบอลมอลโดวามาจนถึงปัจจุบัน 

เพราะนอกจากสโมสรแห่งนี้แล้ว ก็ไม่มีทีมฟุตบอลใดในประเทศมอลโดวาที่มีสนามฟุตบอลเป็นของตัวเอง เชอรีฟ ตีราสโพลล์ ถือเป็นทีมแรกที่ปรับตัวเข้าสู่วงการฟุตบอลยุคใหม่ได้ทัน ส่งผลให้พวกเขากลายเป็นแชมป์ลีกสูงสุด 19 สมัย ที่แม้แต่ทีมสำรองของเชอรีฟ ตีราสโพลล์ ก็ยังกลายเป็นทีมที่คว้าแชมป์ลีกรองมากที่สุด ด้วยจำนวน 6 ครั้ง

พิชิตเวทียุโรป

เชอรีฟ ตีราสโพลล์ ครองความยิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอลมอลโดวา มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000s ก้าวต่อไปของพวกเขา จึงต้องการสร้างชื่อบนเวทียุโรป แต่พวกเขาต้องใช้เวลานานหลายปีเพื่อเรียนรู้ว่า การแข่งขันระดับทวีปไม่ง่ายเหมือนฟุตบอลในประเทศ

นับตั้งแต่ เชอรีฟ ตีราสโพลล์ คว้าตั๋วใบแรกเพื่อลงเล่นในรอบคัดเลือกฟุตบอลยูโรป้าลีก (อดีตคือ ยูฟ่า คัพ) เมื่อฤดูกาล 2001-02 สโมสรแห่งนี้ต้องอกหักตกรอบถึง 8 ปีติดต่อกัน กว่า เชอรีฟ ตีราสโพลล์ จะทะยานสู่การแข่งขันรอบแบ่งกลุ่มได้สำเร็จ ต้องรอถึงฤดูกาล 2009-10 ก่อนจะต่อยอดเข้ามาถึงรอบแบ่งกลุ่มอีกครั้งในฤดูกาล 2010–11, 2013–14 และ 2017–18

ว่ากันตามตรง เชอรีฟ ตีราสโพลล์ ไม่เคยเข้าใกล้คำว่า “ม้ามืด” หรือ “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” อะไรทำนองนั้นเลย ทั้งสี่ครั้งที่พวกเขาก้าวเข้าสู่ฟุตบอลยูโรป้าลีก จบลงด้วยการตกรอบแรกทั้งหมด 

แต่ดูเหมือนว่าทีมผู้บริหารสโมสรจะไม่สนใจอะไรนัก เพราะเป้าหมายสูงสุดของพวกเขาคือ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก การแข่งขันฟุตบอลอันดับหนึ่งของยุโรป

ความทะเยอทะยานของเชอรีฟ ตีราสโพลล์ ที่ต้องการร่วมชิงชัยถ้วยบิ๊กเอียร์ ส่งผลให้พวกเขาทุ่มเงินว่าจ้าง ยูริ เวอร์นีดับ เฮดโค้ชชาวยูเครนผู้เคยพาสโมสรซอร์ย่า ทีมดังในบ้านเกิดยันเสมอ เฟเนร์บาห์เช่ และ เฟเยนูร์ด ร็อตเตอร์ดัม รวมถึงสู้กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้อย่างสูสี ในศึกยูโรป้าลีก ฤดูกาล 2016-17

สำหรับขุมกำลังผู้เล่น เชอรีฟ ตีราสโพลล์ แทบจะเป็นทีมรวมดาราโลก พวกเขากว้านซื้อนักเตะจากทุกภูมิภาค ตั้งแต่ ยุโรปตะวันออก, แอฟริกา จนถึงอเมริกาใต้ และมีนักเตะมอลโดวาอยู่ในทีมเพียง 5 คนเท่านั้น ที่เหลือคือแข้งต่างชาติที่ถูกดึงตัวเข้ามาเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับทีมได้มากที่สุด

ทีเด็ดในการเสริมทัพของเชอรีฟ ตีราสโพลล์ คือการดึงผู้เล่นระดับทีมชาติของประเทศขนาดเล็กที่ไม่มีใครสนใจเข้ามาสู่ทีม 

ไมว่าจะเป็น มาลาวี, อุซเบกิสถาน, ตรินิแดดและโตเบโก หรือ ลักเซมเบิร์ก โดยซูเปอร์สตาร์อันดับหนึ่งของทีมขณะนี้คือ อดาม่า ตราโอเร่  กองหน้าชาวมอลโดวาที่เพิ่งย้ายมาจากเม็ตซ์ และระเบิด 9 ประตู จากการลงสนาม 16 นัด นอกจากนี้พวกเขายังมี แฟรงค์ คาสตาเนด้า กัปตันทีมชาวโคลอมเบียที่ยิงไป 33 ประตูในฤดูกาลที่ผ่านมา

ความแข็งแกร่งของ เชอรีฟ ตีราสโพลล์ ชุดนี้ จึงกลายเป็นเซอร์ไพร์สของยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก เมื่อพวกเขาแสดงให้เห็นถึงเกมรุกอันโหดเหี้ยม จากการเปิดบ้านถล่มดินาโม ซาเกร็บ 3-0 ก่อนโชว์เกมรับสุดแกร่งด้วยการบุกไปยันเสมอในเกมเยือน 0-0 ส่งผลให้แชมป์ลีกมอลโดวาคว้าตั๋วลุยยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ได้เป็นครั้งแรก

เชอรีฟ ตีราสโพลล์ ยังเขียนประวัติศาสตร์ในฐานะทีมฟุตบอลมอลโดวาทีมแรกในประวัติศาสตร์ ที่ได้ลงเล่นใน ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่ม โดยคู่แข่งของพวกเขาที่รออยู่ถือว่าเป็นทีมบิ๊กเบิ้ม ได้แก่ เรอัล มาดริด, อินเตอร์ มิลาน และ ชัคตาร์ โดเนตสค์ 

โดยเฉพาะทีมหลังคือคู่แข่งที่ถูกจับตามากที่สุด เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย อาจส่งผลต่อความตึงเครียดระหว่างแฟนบอลทั้งสองฝ่ายแน่นอน

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับ เชอรีฟ ตีราสโพลล์ ในยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2018-19 พวกเขาอาจแพ้ 6 นัดรวดตกรอบแบบมือเปล่า หรืออาจจะพลิกชนะ อินเตอร์ มิลาน และ เรอัล มาดริด แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ใจได้คือ พวกเขาไม่ได้เข้ามาสู่จุดนี้ได้ด้วยความบังเอิญ แต่มาจากการพัฒนาสโมสรอย่างยาวนานกว่า 20 ปี

ท้ายที่สุดแล้ว ความสำเร็จของ เชอรีฟ ตีราสโพลล์ คือการสะกิดให้คนทั่วโลกหันไปมอง ทรานส์นีสเตรีย ท่ามกลางความจริงที่ดินแดนแห่งนี้กำลังประสบปัญหาประชากรลดน้อย เนื่องจากพิษเศรษฐกิจและความยากจน ซึ่งเกิดจากการปิดกั้นทางการค้าจากนานาประเทศ

คงมีแต่พระเจ้าที่รู้ว่า เชอรีฟ ตีราสโพลล์ จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวทรานส์นีสเตรียได้มากแค่ไหน แต่อย่างน้อย แฟนบอลทั่วโลกคงได้รับรู้เรื่องราว และมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในมอลโดวาและภูมิภาคยุโรปตะวันออกมากขึ้น ผ่านการเข้ามาถึงยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่ม ของ เชอรีฟ ตีราสโพลล์

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ