เฉลยแล้ว หินศักดิ์สิทธิ์หายาก หรือ ข้าวตอกพระร่วง คือสิ่งนี้

Home » เฉลยแล้ว หินศักดิ์สิทธิ์หายาก หรือ ข้าวตอกพระร่วง คือสิ่งนี้


หินศักดิ์สิทธิ์หายาก

หินศักดิ์สิทธิ์หายาก หรือที่ชาวบ้านเรียก “ข้าวตอกพระร่วง” อ.เจษฎา โร่เฉลยแล้ว สิ่งที่เห็นคือ “ทองคนโง่” ้เพราะเป็นแร่ที่ไม่มีราคา

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 จากกรณีรายงานข่าว ชาวบ้านแห่เก็บ หินศักดิ์สิทธิ์หายาก หรือที่เรียกกันว่า “ข้าวตอกพระร่วง” ที่มีอยู่เต็มลานวัดลานตาเมือง หมู่ 6 ต.บ้านใหม่ไชยมงคล อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นของดีหายาก เป็นหินศักดิ์สิทธิ์แห่งกรุงสุโขทัย ทั้งพระ-เณร-ชาวบ้านต่างถิ่นแห่กันมาเก็บ ติดตัวไว้บูชาและทำเป็นของขลัง ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ (อ.เจษฎ์) อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ให้ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยระบุรายละเอียดว่า “ข้าวตอกพระร่วง จริงๆ มันคือหินไพไรต์ ชนิดที่มีแร่ ไลมอไนต์ (limonite) ครับ ไม่ได้หายากมากมาย ไม่ได้ราคาแพงอะไร เป็นแค่ความเชื่อกันเองในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ครับ”

จริงๆ แล้ว “ข้าวตอกพระร่วง” นี้ก็เป็นแค่หินแร่กลุ่มไพไรต์ (pyrite หรือ fool’s gold ทองคนโง่) ที่มีลักษณะโครงสร้างเป็นลูกบาศก์ โดยมีแร่ “ไลโมไนต์ limonite” เข้าไปแทรกในเนื้อของแร่ไพไรต์ ทำให้เนื้อคล้ายโลหะ หินแร่ไพไรต์ พวกที่มาเรียกกันว่า “ข้าวตอกพระร่วง” นี้ มักถูกนำมาทำเป็นแผ่นหินปูตามสถานที่ทางศาสนา เช่น วัด แล้วพอถูกทุบหรือผุพัง แผ่นหินจะผุแตก ดูเป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกเต๋า หรือสี่เหลี่ยมทรงยาว ขนาดเล็กใหญ่ต่างกันไป ยาวตั้งแต่ 0.5-3 เซนติเมตร

ชื่อแร่ มาจากภาษาละติน “Limus” ซึ่งแปลว่า โคลน (Mud) และภาษากรีก หมายถึง Meadow ซึ่งแสดงถึงคุณลักษณะการเกิดในที่ลุ่มชื้น และที่มีการออกซิไดส์ของแหล่งสินแร่ คุณสมบัติทางฟิสิกส์ ไม่มีระบบผลึก (Amorphous) มักเกิดเป็นรูปมนโค้งหรือรูปหินงอก หรือเป็นก้อนแข็งขรุขระหรือคล้ายดิน สีน้ำตาลแก่ถึงดำ สีผงสีน้ำตาลเหลือง ความแข็ง 5-5.5 ชนิดละเอียดมากแข็งเพียง 1 เปราะ ความถ่วงจำเพาะ 3.6-4 ทึบแสง วาวคล้ายดิน ไม่มีแนวแตกเรียบ คุณสมบัติทางเคมี สูตรเคมี FeO(OH).NH2O มี Fe2O3 89.86% H2O 10.14% มักมีแร่ฮีมาไทต์ปนอยู่ด้วยเสมอ และยังพบแร่ดินกับแมงกานีส ออกไซด์ปนในปริมาณที่ไม่แน่นอน ลักษณะเด่นและวิธีตรวจ มีสีผงสีน้ำตาลเหลือง หลอมละลายยากขั้นที่ 5-5.5 ถ้าเผาในเปลวลดออกซิเจนจะมีสมบัติเป็นแม่เหล็กอย่างแรง เผาในหลอดทดลองชนิดปิดทางเดียวจะมีน้ำเกาะมาก ตรวจความถ่วงจำเพาะ ความแข็ง และสีผง การเกิด เป็นแร่ทุติยภูมิ เกิดจากการผุสลาย แปรสภาพ หรือได้จากการสลายที่เดิมมีแร่เหล็กอยู่ด้วย แร่ไลมอในต์และเกอไทต์เป็นส่วนประกอบสําคัญของกอสซัน (Gossan) หรือหมวกเหล็ก (Iron Hat) ซึ่งพื้นผิวถูกออกซิไดส์ จะเห็นได้ชัดตรงบริเวณสายแร่ซัลไฟด์ แหล่งที่สำคัญซึ่งแต่ก่อนเคยวิจัยไว้ว่าเป็นไลมอไนต์ ปัจจุบันแน่ชัดแล้วว่าเป็นเกอไทต์ จึงเป็นการยากที่จะแยกแร่ทั้งสองตัวด้วยหลักวิชาแร่ ในภาคสนามจึงมักเรียกเหล็กไฮดรัสออกไซด์ ซึ่งยังไม่ทราบชนิดแน่นอนว่าไลมอไนต์ แร่ไลมอในต์ทำให้ดินเหนียวและมีสีเหลือง เมื่อผสมกับดินเหนียวละเอียดเรียก “Yellow Ocher” ไลมอไนต์มักเกิดร่วมกับแร่เกอไทต์ ฮีมาไทต์ ไพโรลูไซต์ แคลไซต์ และซิเดอไรต์

ทั้งนี้ ประเทศไทย พบทั่ว ๆ ไปในแหล่งแร่เหล็กต่าง ๆ ของประเทศ เพราะเป็นแร่ที่เกิดจากการผุสลายท้ายสุด ในบริเวณที่เคยมีแร่ซัลไฟด์ของเหล็กชนิดต่าง ๆ เช่น ไพไรต์ ก็จะผุสลายให้แร่นี้ เช่น ที่เรียก “ข้าวตอกพระร่วง” จะเห็นว่ายังคงรูปลูกบาศก์ของไพไรต์ และถ้าผ่าดูอาจเห็นไพไรต์สีทองเหลืองซีด ๆ ซึ่งยังไม่ผุสลายเหลือค้างอยู่ภายใน แร่นี้เป็นตัวสำคัญส่วนหนึ่งของศิลาแลงที่พบเกือบทุกจังหวัดด้วย ส่วนในต่างประเทศ พบแหล่งใหม่ในประเทศคิวบา ซาอีร์ เวเนซุเอลา บราซิล แคนาดา และอินเดีย โดยประโยชน์ของแร่ เป็นตัวให้สี Yellow Ocher และเป็นสินแร่เหล็ก

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ