"เจ้าภาพ = เจ๊ง?" : โปแลนด์ เจ้าภาพยูโร 2012 กับการถอนทุนคืนที่เพอร์เฟกต์ที่สุด

Home » "เจ้าภาพ = เจ๊ง?" : โปแลนด์ เจ้าภาพยูโร 2012 กับการถอนทุนคืนที่เพอร์เฟกต์ที่สุด

แคนาดา, กรีซ, บราซิล หรือแม้กระทั่ง ญี่ปุ่น คือประเทศที่รู้ซึ้งกับการรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาระดับโลกแล้วเจ๊ง บางประเทศถึงขั้นทำลายสมดุลเศรษฐกิจในประเทศของไปหลายสิบปี

แต่มีหนึ่งประเทศที่ทุกคนยกให้เป็นความแตกต่าง และผู้ทำลายภาพจำ “เจ้าภาพ = เจ๊ง” อย่างยอดเยี่ยม นั่นคือ โปแลนด์ กับการเป็นเจ้าภาพในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร เมื่อปี 2012 

อะไรคือความต่าง ประเทศอื่นเจ๊ง แต่พวกเขาไม่เจ๊ง.. เราจะย่อยให้คุณเข้าใจง่ายๆ ติดตามที่ Main Stand

จากสถิติ.. เขาว่ามีแต่เจ๊ง

ทุกครั้งที่มีการประกาศรับสมัครเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาระดับโลก มักจะมีหลายชาติที่เข้ามาท้าชิงเพื่อรับสิทธิ์นั้น นั่นเป็นเรื่องที่น่าแปลก เพราะตามสถิติที่มีการบันทึกไว้คือ “ชาติไหนเป็นเจ้าภาพ.. ชาตินั้นเจ๊ง” 

ยกตัวอย่างเช่น โอลิมปิก ปี 1976 ที่มอนทรีออล ประเทศแคนาดา เป็นเจ้าภาพ ครั้งนั้นพวกเขาวางงบประมาณสำหรับการจัดการแข่งขันไว้ที่ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทว่าเมื่อลงมือทำจริง งบประมาณพุ่งสูงเกินพิกัดไปไกลถึง 5.6 เท่า (1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งการจัดการแข่งขันครั้งนั้นทำให้ มอนทรีออล เป็นหนี้ก้อนโต พวกเขาต้องใช้เวลาถึง 30 ปีในการใช้หนี้ให้กับสหรัฐอเมริกาที่ปล่อยกู้ในช่วงเวลาที่รัฐบาลและฝ่ายจัดกำลังชักหน้าไม่ถึงหลัง 

1

ชัดที่สุดยิ่งกว่าที่ มอนทรีออล คงหนีไม่พ้น โอลิมปิก ปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เป็นเจ้าภาพ นั่นแหละของจริง กรีซ ใช้งบประมาณไปถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 5% ของ จีดีพี ประเทศตลอดทั้งปี (Gross Demestic Product) หรือหากจะเข้าใจกันง่ายๆ จีดีพี คือหนึ่งในตัววัดภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไหนมีตัวเลข จีดีพี สูง ก็พอจะบ่งชี้ได้ว่าประเทศนั้นจะมีทิศทางที่ดีในอนาคต

การถลุงชุดใหญ่เพื่อจัดมหกรรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติครั้งนั้นทำให้ กรีซ เจ็บหนัก พวกเขาเดิมพันในช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศกำลังย่ำแย่ และสุดท้าย กรีซ ก็ขาดทุนย่อยยับ แทนที่จะได้กำไร กลับกลายเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจพังพินาศ เพราะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เรียกง่ายๆว่ามีแต่เงินออกโดยรายรับที่เข้ามาน้อยกว่าเยอะ ซึ่งแน่นอนว่าการจัดโอลิมปิกถือเป็นการจ่ายที่เกินกำลังของพวกเขาโดยตรง

2

ไม่ใช่แค่โอลิมปิกเท่านั้น ตัวอย่างในวงการฟุตบอลก็มีเช่นกัน บราซิล เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ด้วยเงิน 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งพวกเขาก็ขาดทุนอีกเพราะอีก 2 ปีต่อมา บราซิล ก็เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2016 ถลุงเงินไปอีก 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินจากที่ตั้งงบฯไว้ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เห็นได้ชัดว่าผู้จัดส่วนใหญ่มักจะเจ๊งในแง่ของตัวเลข แต่เหตุผลที่หลายคนอยากรู้คือ ทำไมหลายชาติยังต้องการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาเหล่านี้อีก? ซึ่งเรื่องราวใน ยูโร 2012 ที่ประเทศโปแลนด์ เป็นหนึ่งในชาติเจ้าภาพ คือตัวอย่างที่อธิบายให้เห็นภาพได้อย่างดี

โปแลนด์-ยูเครน 2012

โปแลนด์ เป็นประเทศในยุโรปตอนกลาง ในอดีตพวกเขาเคยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ทว่านับตั้งแต่ม่านเหล็กพังทลาย โปแลนด์ กลับเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีมาตลอด โดยเฉพาะในเรื่องของตัวเลข จีดีพี พวกเขาติดระดับท็อป 10 ของทวีปยุโรปแทบทุกปี

และด้วยความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจที่มีกำลังมากพอที่จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬา นั่นจึงทำให้ โปแลนด์ ลงแข่งขันในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันยูโร 2012 และสุดท้ายพวกเขาได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับประเทศยูเครนในที่สุด

ก่อนที่การตัดสินใจสิ้นสุด สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ได้พิจารณาประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพถึง 5 ประเทศได้แก่ โปแลนด์ และ ยูเครน (เป็นเจ้าภาพร่วม), อิตาลี, โครเอเชีย และ ฮังการี 

3

เหตุผลที่ โปแลนด์ และ ยูเครน เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในการโหวตจากคณะกรรมการก็อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น พวกเขาเป็นประเทศที่มีสถานะทางการเงินแกร่งกว่าทุกประเทศที่กล่าวมา และพร้อมที่จะจัดการแข่งขันอย่างเต็มกำลัง ซึ่งจุดนี้ฝ่ายจัดก็ต้องการคุณสมบัติดังกล่าว เพราะพวกเขาไม่ต้องการเห็นประเทศที่ทำอะไรเกินตัวเหมือนกับ กรีซ ที่ล่มสลายจากการใช้เงินเกินกำลัง

แต่สิ่งสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ศักยภาพทางการเงินเท่านั้น ทุกมหกรรมกีฬา หลายประเทศที่เป็นเจ้าภาพจะต้องขาดทุนอยู่แล้วหากวัดจากงบประมาณที่ลงไปทั้งหมด เทียบกับสิ่งที่ได้อย่าง ยอดผู้เข้าชม, การถ่ายทอดสด, สปอนเซอร์ และเงินสนับสนุนจากองค์กรนั้น (อาทิ จัดฟุตบอลโลก ก็จะได้เงินสนับสนุนจาก ฟีฟ่า เป็นต้น)   

4

ทั้งๆที่จัดไปก็ขาดทุนในแง่ของรายรับ แต่ โปแลนด์ คือประเทศที่คิดไปไกลกว่าตรงนั้นเยอะพอสมควร พวกเขามีการวางแผนและการจัดการที่ยอดเยี่ยม พวกเขาไม่ใช่ลงแข่งขันชิงการเป็นเจ้าภาพเพียงเพราะต้องการเป็นหน้าเป็นตาและสร้างชื่อเสียงให้โลกรู้จัก แต่พวกเขารู้ว่าการขาดทุนครั้งนี้จะได้สิ่งที่ตามมาอีกมหาศาล

นี่ไม่ใช่เรื่องของการหาเรื่องใส่ตัวหรือหาเหาใส่หัวแต่อย่างใด มันคือการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว และสิ่งที่ได้มา พวกเขาชั่งน้ำหนักแล้วว่ามันคุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไป สิ่งนั้นก็คือ “การพัฒนาประเทศไปอีกขั้น” นั่นเอง

จัดอย่างไรให้ไม่เจ๊ง?

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “เวลามีมูลค่า” บ่อยๆในช่วงนี้ ของบางอย่างยิ่งสร้างเร็วยิ่งเสร็จเร็วก็ยิ่งดี เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ค่าเงินผันผวน เงินเริ่มจะเฟ้อขึ้น บางสิ่งที่จะสร้างก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่นการซื้อทองสักบาท ในปี 2007 ราคาทองคำประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 10,000 บาท ต่อทองคำ 1 บาท หากคุณกล้าลงทุนกับทองคำในปีนั้น ทุกวันนี้เงิน 10,000 บาทของคุณจะเพิ่มขึ้นเป็น 26,000 บาทโดยประมาณ

เปรียบเทียบกับเพื่อนของคุณที่มัวแต่รอเวลาไม่กล้าได้กล้าเสีย เมื่อถึงเวลาที่ทองคำขึ้นก็สายเกินไปเสียแล้ว หากพวกเขาจะลงทุนซื้อทองคำเก็บไว้ เขาจะต้องจ่ายเงินเพื่อลงทุนมากกว่า และมีความเสี่ยงในการลงทุนมากกว่าคุณที่ลงทุนไปเมื่อ 14 ปีก่อนนั่นเอง

5

เช่นเดียวกันกับการสร้างตึกรามบ้านช่อง สร้างถนน สนามบิน หรือแม้กระทั่งรถไฟความเร็วสูง เมื่อเวลาผ่านไป ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น ทั้งค่าแรง, ค่าสินค้า ค่าอุปกรณ์ และค่าอื่นๆอีกมากมาย

นั่นแหละคือสิ่งที่โปแลนด์ทำ พวกเขาเลือกลงทุนในเวลาที่เหมาะสม พวกเขาอาจจะเสียเงินไปกับการจัดการแข่งขันและนำมาซึ่งการขาดทุน แต่ประเทศพวกเขาจะได้สิ่งที่คงอยู่ตลอดไปและใช้งานได้อีกหลายสิบปี ซึ่งถ้าลงมือสร้างเสียตั้งแต่ตอนนี้จะใช้เงินน้อยกว่าอย่างแน่นอน

คารอล โอเบิร์บสกี (Karol Obrebski) นักเขียนและที่ปรึกษาทางกฎหมายด้านการค้าและอสังหาริมทรัพย์ ได้เขียนบทความวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ประเทศของเขาจะได้จากการจัด ยูโร 2012 ว่า..

6

“ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าโปแลนด์จะได้รับเงินช่วยเหลือจาก EU (สหภาพยุโรป) สำหรับการเตรียมการจัดยูโร 2012 ถึง 40,000 ล้านยูโร และคาดการณ์ว่าในการแข่งขันนี้จะทำให้ จีดีพี ของประเทศเติบโตถึง 6% แต่สิ่งที่ตามมามันมีอะไรที่มากกว่านั้นเยอะ”

“การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันในระดับโลกแบบนี้ สิ่งที่ประเทศเจ้าภาพต้องเตรียมการคือการปรับปรุงสนามกีฬา การปรับปรุงถนนหนทาง การสร้างมอเตอร์เวย์ที่ทันสมัยทำให้การเดินทางสำหรับผู้มาเยือนสะดวกสบาย ตลอดจนโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆในประเทศก็ต้องเตรียมพร้อมด้วย” เขากล่าวเริ่ม ซึ่งคำพูดดังกล่าวหมายถึงสิ่งที่ตามมาจากการเป็นเจ้าภาพ ไม่ว่าจะเป็น ถนนหนทางที่ดีขึ้น, ตลาดโรงแรม และ อสังหาริมทรัพย์ จะเกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่ 

คมนาคม, ท่องเที่ยว และโรงแรม รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ สิ่งเหล่านี้คือประโยชน์ที่จะตามมาจากการขาดทุนในการจัดยูโร 2012 ซึ่งพวกเขาทำการบ้านมาแล้วว่า “คุ้มแน่นอน” 

เพื่อให้เห็นภาพ เราจะเอาทุกอย่างที่กล่าวมาผูกรวมกัน และคุณจะเห็นได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขาคาดหวังว่าจะเติบโตขึ้นนั้น เป็นการเกื้อกูลและส่งผลประโยชน์ให้กันและกัน เรียกง่ายๆว่า “วิน-วิน” กันทุกฝ่ายนั่นเอง

7

เริ่มจากจุดแรก และเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง “นักท่องเที่ยว” ในศึกยูโร 2012 หัวเมืองต่างๆที่รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ มียอดนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นทันที 300,000 คน ภายในช่วงเวลา 1 เดือนของการจัดการแข่งยูโร 2012 พวกเขาคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวราว 489,000 คน แต่เมื่อถึงเวลาจัดแข่งจริงๆ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก (ไม่นับประเทศเพื่อนบ้าน) เข้ามามากถึง 766,000 คน และนักท่องเที่ยวจำนวนนี้เข้ามาใช้จ่ายในประเทศเป็นการกระจายไปยังท้องถิ่นมากถึง 7 พันล้านซวอตือโปแลนด์ (ราว 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เลยทีเดียว 

สาเหตุที่นักท่องเที่ยวใช้เงินกันสะพัดคือ แต่ละเมืองรณรงค์กันอย่างแข็งขันในหัวข้อ “Feel Like Home” (รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน) เพื่อรับแขกบ้านแขกเมือง และนโยบายนี้ได้ผลเกินคาด มีการสำรวจว่าแฟนบอลต่างชาติที่มาเที่ยวโปแลนด์ในฟุตบอลยูโร 2012 รู้สึกว่าประเทศโปแลนด์ ทำให้พวกเขารู้สึก “ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน” ถึง 92% และมีอีก 85% ที่พอใจมากในแง่การจัดการต่างๆของฝ่ายจัดการแข่งขันครั้งนี้ 

8

เมื่อนักท่องเที่ยวมากขึ้น ก็เดินทางมาถึงจุดที่ 2 ที่เชื่อมต่อกัน ในการบริการผู้แวะเยี่ยมเยือนจึงเป็นเรื่องสำคัญ โรงแรม อพาร์ทเมนต์ และอสังหาริมทรัพย์ต่างๆซึ่งใช้เป็นที่ต้อนรับและให้นักท่องเที่ยวไว้พักผ่อนก็เติบโตขึ้นเพราะมีการลงทุนปรับปรุงให้ได้คุณภาพและสร้างความประทับใจให้กับแฟนๆที่เดินทางมาไกล และการลงทุนครั้งนี้เป็นการลงทุนระยะยาวที่สามารถเรียกนักท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แม้จะไม่มีการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ๆตามมาในภายหลังก็ตาม 

เมื่อภาคเอกชนเริ่มพัฒนาตัวเองแล้ว ภาครัฐก็เข้ามาเชื่อมต่อในจุดที่ 3 โปแลนด์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากมายเพื่อการแข่งขันยูโร 2012 ที่กรุงวอร์ซอ เมืองหลวง มีการวางแผนสร้างมอเตอร์เวย์ความยาว 900 กิโลเมตร เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทาง นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงทางรถไฟ, ปรับปรุงสนามบิน 8 แห่งที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัย ทั้งหมดนี้ใช้กระแสยูโร 2012 เป็นตัวขับเคลื่อนอย่างแท้จริง

เพราะเดิมทีแล้วงบประมาณสำหรับการทำถนน ทางด่วน หรือปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างของรัฐนั้นจำเป็นจะต้องมีหลายขั้นตอน อาทิ การเข้าสภา, ลงประชามติ หรือวิธีการใดๆก็ตามก่อนจะได้เงินมาทำโครงการดังกล่าว แต่สำหรับในช่วงยูโร พวกเขาได้สิทธิ์เรียกว่า พระราชบัญญัติยูโร 2012 ที่ทำให้ทุกอย่างลัดขั้นตอนที่ยาวนาน เพราะบริษัทต่างๆจะได้รับการยกเว้นในการจัดจ้างจากรัฐบาลเพื่อให้เสร็จและพร้อมก่อนการแข่งขัน ยูโร 2012 จะมาถึง 

9

โปแลนด์ ลงทุนกับโปรเจกต์เป็นเจ้าภาพยูโร 2012 เป็นเงินโดยคาดการณ์ไว้ว่า 26,000 ล้านซวอตือโปแลนด์ (ราว 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และอาจจะโดนต่อต้านจากคนบางกลุ่มในช่วงแรก แต่สุดท้ายแล้วการลงทุนครั้งนี้ก็ตอบแทนกลับมาในระยะยาว พวกเขาไม่มีทางได้เงินคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป แต่ถนนหนทาง, ตลาดอสังหาริมทรัพย์, การท่องเที่ยว จะเป็นสมบัติให้พวกเขาใช้และได้ประโยชน์อีกหลายสิบปี

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจความคิดเห็นของชาวโปแลนด์ หลังจากยูโร 2012 จบลง และได้ข้อสรุปว่า การแข่งขันยูโรครั้งนี้ได้ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของโปแลนด์ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก 72%, มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอีก 86% นั่นคือคำตอบที่ว่าทำไมพวกเขาจึงเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันที่หลายคนคิดว่า “เจ้าภาพ = เจ๊ง”

10

พวกเขาอาจจะเจ๊งจริงๆ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่ได้กลับมาคือกำไรที่แท้จริง ยอมขาดทุนเพื่อก้าวกระโดดไปในทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต และการแข่งขันยูโร 2012 นี้ ถูกเรียกว่า “Poland Shines” (โปแลนด์ เปล่งประกาย) เลยทีเดียว

“ยูโร 2012 เป็นการเปล่งประกายของโปแลนด์ และการยกระดับเจ้าภาพให้สูงขึ้นมากในอนาคต ต่อไปนี้ใครที่คิดจะเป็นเจ้าภาพ พวกเขาจะต้องเจอมาตรฐานเหนือชั้นที่โปแลนด์เคยทำไว้” มิเชล พลาตินี ประธาน ยูฟ่า ณ เวลานั้นกล่าว

ขณะที่ คารอล โอเบิร์บสกี เคยวิเคราะห์ไว้เมื่อปี 2008 (4 ปีก่อนการแข่งขันจะเริ่ม) ว่าการได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพยูโร 2012 คือชัยชนะของประเทศโปแลนด์ตั้งแต่ที่การแข่งขันยังไม่เริ่มเลยด้วยซ้ำ

11

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่า แม้จะเหลือเวลาอีก 3 ปีกว่าๆก่อนที่การแข่งขันนัดแรกจะเริ่มขึ้น แต่โปแลนด์ได้ชัยชนะไปแล้ว ยูโร 2012 จะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของโปแลนด์ และไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันจะปรับปรุงชื่อเสียงและเพิ่มความสำคัญของโปแลนด์ในเวทีต่างประเทศ ชาวยุโรปทุกคนจะจดจำโปแลนด์ใหม่ จากที่พวกเขาเคยคิดว่าเราเป็นประเทศที่เคยอยู่ใต้เงาของโซเวียตและเป็นประเทศที่ยากจน”

“สิ่งเดียวที่ชาวโปแลนด์ควรกังวลหลังจากนี้ คือการอย่าไปสุงสิงและให้ราคาพวกองค์กรน้ำเน่าที่หวังจะคอร์รัปชั่นและสร้างความอับอายให้กับประเทศก็พอ การคบค้ากับพวกนี้มีแต่จะทำให้ประเทศย่ำแย่ลง และกัดกินเราให้ลงทุนมากขึ้น ทำงานช้ากว่ากำหนดโดยไม่จำเป็น” เขากล่าวทิ้งท้าย 

และแน่นอนว่า โปแลนด์ ฉลาดพอที่จัดการทุกอย่างให้ออกมาได้อย่างเพอร์เฟกต์ จนยูโร 2012 กลายเป็น “โปแลนด์ เอฟเฟกต์” จนถึงทุกวันนี้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ