ศาลแขวงฟุกุโอะกะ ใน จ.ฟุกุโอะกะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ตัดสินประหารชีวิต นายซะโตะรุ โนะมุระ สมาชิกอาวุโสของแก๊งคุโด วัย 74 ปี เ้มื่อวันอังคาร (24 ส.ค.) จากการสั่งการฆ่าผู้อื่นและการใช้ความรุนแรงระหว่งปี 2541-2557 ซึ่งเชื่อว่าเป็นการพิพากษาประหารเจ้าพ่อยากูซ่าคนแรกของญี่ปุ่น
ระหว่างนั้นแก๊งคุโด ซึ่งเป็นแก๊งที่ถูกมองว่ารุนแรงที่สุดในญี่ปุ่น ไม่พอใจที่กลุ่มสหกรณ์การประมงเริ่มมีอิทธิพลแทนที่กลุ่มของตนเกี่ยวกับโครงการสร้างท่าเรือหลายโครงการในพื้นที่ จึงมีการสังหารผู้นำของสหกรณ์หลายคนเมื่อปี 2541 รวมถึงหัวหน้าของสหกรณ์
ต่อมาเมื่อปี 2555 ตำรวจคนหนึ่งที่ทำคดีของแก๊งคุโดก็ถูกทำร้าย โดยได้รับบาดเจ็บที่เอวและขา แต่รอดชีวิตมาได้
ปี 2556 สมาชิกแก๊งคุโดแทงพยาบาลคนหนึ่งที่ทำงานที่โรงพยาบาลที่นายโนะมุระเข้ารับการรักษา และเมื่อปี 2557 ญาติคนหนึ่งของผู้นำสหกรณ์ฺที่ถูกฆ่าตาย ก็ถูกทำร้ายจากแก๊งนี้
หนังสือพิมพ์นิชินิปปง รายงานว่า หลังมีคำตัดสินดังกล่าว นายโนะมุระ กล่าวกับผู้พิพากษาว่า “ฉันขอคำตัดสินที่ยุติธรรม… แกจะเสียใจไปตลอดชีวิตของแกแน่”
ก่อนหน้านั้น ระหว่างการพิจารณาคดี นายโนะมุระให้การต่อศาลว่าตนไม่ได้เป็นคนวางแผนให้มีการใช้ความรุนแรงอย่างที่ถูกกล่าวหา
สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่น รายงานว่า แม้คดีดังกล่าวนี้ไม่หลักฐานที่ระบุโดยตรงว่านายโนะมุระเป็นผู้สั่งให้ใช้ความรุนแรง แต่ศาลมองว่าแก๊งนี้มีกฎที่เข้มงวดมากจนเชื่อไม่ได้ว่าการตัดสินใจใดๆ ที่เกิดขึ้นจะไม่ผ่านการอนุมัติของผู้นำแก๊ง
ด้านสำนักข่าวเกียวโด เผยโดยอ้างอิงคำบอกเล่าของทนายความนายโนะมุระว่า จำเลยมีแผนจะยื่นอุทธรณ์ ขณะที่นายฟุมิโอะ ทะโนะอุเอะ ผู้นำอันดับ 2 ของแก๊งคุโดถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต
ในอดีต ยากูซ่าถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ช่วยคงระเบียบและกฎเกณฑ์ในสังคมญี่ปุ่น และทำให้เรื่องต่างๆ บรรลุเป้าหมายโดยไม่สนใจว่าจะใช้วิธีการที่โหดเหี้ยมเพียงใด แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา การออกกฎควบคุมกลุ่มผู้มีอิทธิพลมากขึ้น ภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนในไปสายตาผู้คน และเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ไม่ขยายตัว ส่งผลให้สมาชิกแก๊งยากูซ่าลดน้อยลงเรื่อยๆ
ถึงอย่างนั้น ยากูซ่า กลับมีสถานะที่ต่างจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือมาเฟียในหลายประเทศ เพราะไม่ใช่สมาคมที่ผิดกฎหมาย และแต่ละกลุ่มมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ชัดเจนโดยอยู่ภายใต้การจับตาอย่างใกล้ชิดของตำรวจ
ส่วนญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาแล้วไม่กี่ประเทศที่ยังคงโทษประหารชีวิตเอาไว้ และยังได้รับการสนับสนุนอย่างสูงในสังคม แม้เผชิญจากเสียงวิจารณ์ของนานาชาติก็ตาม