เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ทางด้านเพจเฟซบุ๊ก POLICETV สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า ที่ชมรมทนายความจิตอาสา ต.เสาธงหิน อ.บางใหญ่จ.นนทบุรี นางเคน ปุริทัศน์ อายุ 86 ปี พร้อมด้วย นางบุญโลม ปุริทัศน์ อายุ 60 ปี สองแม่ลูกชาว จ.กาฬสินธุ์ เดินทางเข้าพบ นายเกียรติคุณ ต้นยาง หรือทนายโป้ง ประธานชมรมทนายความจิตอาสา
- ราชทัณฑ์ ไล่ออก-ให้ออกราชการ 4 ราย เซ่นปมช่วย “ประสิทธิ์ เจียวก๊ก”
- โซเชียลแชร์! น้องขายถั่วเกิดทุกวัน ชลบุรี ล่าสุด ตระเวรขายในห้างดัง
- ผลวิจัย ชี้ PM2.5 เสี่ยงทารก พิการแรกคลอด โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดสูง
เพื่อให้ช่วยเหลือกรณีนำโฉนดที่ดินจำนวน 36 ไร่ 1 งาน เอาไปจำนองไว้กับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 5 แสนบาท ดอกเบี้ยที่โฆษณาร้อยละ 1.25 บาท ต่อเดือน หลังทำสัญญาเสร็จพบดอกเบี้ยพุ่งสูงถึงร้อยละ5 ต่อเดือน ซึ่งไม่ตรงตามที่โฆษณา ทำให้หนี้เพิ่มเกินต้าน ส่งดอกไม่ไหว นายทุนแนะกู้เพิ่มอีก 2 เเสน หักดอกเก่า-ใหม่ หนี้ท่วมทะลุ 7 แสน แต่ไม่ได้จับเเม้แต่บาทเดียว สุดท้ายไปต่อไม่ไหว ค้างดอกเบี้ยหลายเดือน นายทุนจ่อฟ้องยึดที่ ก่อนรับซื้อไว้เอง จากนั้นขายทอดตลาดให้บุคคลที่สาม ซึ่งบ้านห่างนายทุนไม่เกิน 200 เมตร ทำยายเดือดร้อนหนัก ไร้ที่ทำกิน ขณะเดียวกันหลานชายโพสต์เฟซบุ๊คขอความเป็นธรรม ชาวโซเชียลแห่คอมเมนท์ให้กำลังใจคุณยายอย่างท่วมท้น
นางบุญโลม (ลูกสาว) กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 ก.ค.2554 ตนมีความคิดที่จะประกอบกิจการค้าขายอาหาร และเปิดร้านขายของชำ แต่ไม่มีเงินทุน จึงนำโฉนดที่ดินจำนวน 36 ไร่ 1 งาน ซึ่งเป็นที่ดินของคุณแม่ ไปจำนองไว้ที่ร้านทองแห่งหนึ่งใน อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ จำนวน300,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 15,000 บาท (หรือร้อยละ 5 บาท) หลังจากส่งดอกเบี้ยได้ประมาณ 4 เดือน ตนสังเกตเห็นป้ายโฆษณารับจำนองที่ดินของสถาบันการงานแห่งหนึ่ง คิดดอกเบี้ยร้อยแค่ละ 1.25 บาท ต่อเดือน ซึ่งถูกกว่าร้านทองที่ตนเอาที่ดินไปจำนองไว้ก่อนหน้านี้
ต่อมาวันที่ 23 ม.ค.55 ตนกับคุณเเม่จึงไปยื่นเรื่องกู้เงินกับสถาบันการเงินแห่งใหม่ จำนวน 500,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ1.25 ต่อเดือน หรือ 6,250 บาท (เป็นราคาดอกเบี้ยที่ป้ายโฆษณาระบุเอาไว้) หลังจากทำสัญญาเสร็จ ปรากฎว่าดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามที่โฆษณาระบุเอาไว้ โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ5 บาท ต่อเดือน ซึ่งราคาเท่ากับที่เก่า แต่เนื่องจากทำสัญญาไปแล้วสุดท้ายก็ต้องจำใจยอมรับสภาพแต่โดยดี ซึ่งตนต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยที่กู้มา 5 แสน เดือนละ35,000 บาทหรือ ร้อยละ5 ต่อเดือน
หลังจากนั้นตนจึงนำเงินจำนวนดังกล่าวไปปิดยอดเงินกู้จากเจ้าเเรก จำนวน 370,000 บาท เหลือเงินส่วนต่างหลังปิดยอดเก่าจำนวน 130,000 บาท จนกระทั่งเดือน มกราคม ปี 2557 เศรษฐกิจไม่ดี ของก็ขายไม่ค่อยได้ จึงทำให้ขาดส่งค่าดอกเบี้ยจำนวน 6 เดือน คิดเป็นเงิน 150,000 บาท ดังนั้นนายทุนจึงให้มาเปลี่ยนสัญญาการกู้เงินใหม่อีกครั้งจากยอดเดิม 5 แสนบาท เพิ่มวงเงินเป็น 7 แสน บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาท ต่อเดือนเท่าเดิม ซึ่งวงเงินที่เพิ่มมา 2 แสนบาทนั้น นายทุนได้นำไปหักกับดอกเบี้ยที่ค้างเอาไว้ก่อนหน้านี้ส่วนเงินที่เหลือนายทุนได้เอาไปหักกับดอกเบี้ยล่วงหน้าที่ยังไม่ครบกำหนดจ่าย ซึ่งยอดเงินที่เพิ่มมาทั้งหมดตนไม่ได้รับแม้เเต่บาทเดียว
หลังจากเพิ่มวงเงินตนต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเป็นเดือนละ 35,000 บาท บางเดือนมีก็จ่าย บางเดือนไม่มีก็ค้างไว้ก่อน จนกระทั่งต้นปี2556 มีหมายศาลมาที่บ้านเกี่ยวกับการกู้เงินดังกล่าว โดยระบุว่าตนเป็นหนี้ทั้งหมดจำนวน 1.7 ล้านบาท ตอนนั้นตนกับเเม่รู้สึกตกใจอย่างมากจึงรีบไปพบนายทุนที่บริษท ซึ่งทางพนักงานเเจ้งว่าไม่ต้องไปศาล ให้นำเงินมาชำระตามปกติ ตนจึงพยายามหาหยิบยืมเงินมาชำระให้ตรงตามกำหนด แต่ก็มีบ้างบางเดือนที่ค้างชำระ แต่ก็จ่ายมาตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งมีหนังสือจากกรมบังคับคดี จ.กาฬสินธุ์ มาที่บ้านโดยระบุข้อความว่าให้ไปพบเจ้าหน้าที่ภายในวันที่ 2 กันยายน ปี2559 เนื่องจากที่ดินดังกล่าวจะทำการขายทอดตลาด พอถึงกำหนดวันที่ 2 ก.ย.ตนกับแม่จึงเดินทางไปที่กรมบังคับคดีทันที เมื่อไปถึงปรากฎว่ามีคนมาซื้อที่ดินของตนเป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งคนที่ซื้อก็คือบริษัทที่รับจำนองที่ดินของตนนั่นเองและในวันเดียวกันนายทุนได้ทำการขายต่อที่ดินให้กับบุคคลที่สามทันที
จากนั้นจึงไปปรึกษากับนักกฎหมาย และแต่งตั้งทนายความให้ระงับการซื้อ-ขายที่ดินดังกล่าวโดยเสียค่าใช้จ่ายให้ทนายความทั้งหมดจำนวน 1.3 แสนบาท แต่สุดท้ายทนายความที่แต่งตั้งกลับไม่ได้ดำเนินการยื่นเรื่องคัดค้านแต่อย่างใด เเละมาทราบภายหลังว่าทนายคนดังกล่าวถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้แล้ว และไม่สามารถรับว่าความได้อีก จึงทำให้ที่ดินของตนเปลี่ยนผู้ครองครองโดยชอบด้วยกฎหมายไปโดยปริยาย
หลังจากนั้นตนจึงต่อสู้ยื่นเรื่องร้องเรียน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ และแต่งตั้งทนายความคนใหม่เพื่อต่อสู้คดี เกี่ยวกับที่ดินปรปักษ์ ต่อมาปี 2560 ศาลชั้นต้นตัดสินให้ตนแพ้คดี จากนั้นปี2562 ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ตนชนะคดี ล่าสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี 2566 ศาลฎีกาตัดสินให้ตนแพ้คดี นางบุญโลม กล่าวต่ออีกว่า ตลอดระยะเวลา 12 ปี ที่ผ่านมาครอบครัวของตนพยามยามต่อสู้ทุกช่องทางเพื่อทวงคืนที่ดินของคุณแม่ที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษให้กลับคืนมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน แต่เนื่องจากครอบครัวของตนไม่ได้มีฐานะร่ำรวย เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา หาเช้ากินค่ำ จบแค่ชั้น ป.4 ไม่มีความรู้ และไม่มีอะไรที่จะไปสู้รบกับกลุ่มของนายทุนได้ จึงทำให้ที่ดิน 36 ไร่ 1 งาน ตกไปเป็นของคนอื่น
ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ตนเชื่อว่าครอบครัวของตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ผ่านมาไปยื่นเรื่องร้องเรียนและร้องทุกข์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกที่ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ วันนี้จึงตัดสินใจเดินทางจากจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ามาพบทนายโป้งซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของตน ขอให้ทนายโป้งช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมก่อนที่จะถูกขับไล่ออกจากที่ดินซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ
ขณะที่ยายเคน อายุ 86 ปี (เจ้าของที่) กล่าวด้วยน้ำตานองหน้าพร้อมกับยกสองมือขึ้นมาพนมขอร้องให้ทนายโป้งช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมและขอให้เอาที่ดินของยายกลับคืนมา พร้อมทั้งฝากไปถึงคนที่เอาที่ดินของยายไปว่า ยายอยู่ที่ดินตรงนี้มาตั้งแต่เกิด เป็นที่ดินที่ยายได้รับมรดกมาจาก ปู่ย่า ตายาย ซึ่งยายตั้งใจจะเก็บเอาไว้ให้ลูกให้หลาน จะให้ยายซื้อคืนก็ได้ อย่าทำกับยายแบบนี้เลย เห็นใจยายเถอะ ตอนนี้ยายไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ให้ลูกหลานทำมาหากินแล้วต้องเร่ร่อนไปอาศัยหลานอยู่ ขอให้ช่วยยายด้วยเถอะ หลังจากพูดจบยายเคนยกมือไหว้ท่วมหัวและอยู่ในอาการซึมเศร้าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นภาพที่เห็นแล้วหดหู่ยิ่งนัก
ทางด้านทนายโป้ง กล่าวว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกับคุณยายและตรวจสอบเอกสารหลักฐานเบื้องต้นทราบว่าคุณยายได้ไปทำสัญญาจำนองที่ดินไว้จริง แต่สัญญาที่ทำกับจำนวนเงินที่ได้มันไม่ตรงกัน โดยสัญญาระบุว่าจำนวนเงินเกินกว่าที่คุณยายได้รับมา แต่คุณยายก็จ่ายดอกเบี้ยถูกต้องครบถ้วนมาตลอด จนกระทั่งวันที่ถูกฟ้องคุณยายกับลูกก็ได้ไปหาโจทก์ ซึ่งทางโจทก์บอกกับคุณยายว่าถ้าจ่ายดอกเบี้ยตลอด ทางเขาก็จะไม่ฟ้องและคุณยายก็ไม่ต้องไปศาล สุดท้ายมีการบังคับคดีขายที่ดินทอดตลาด ซึ่งคุณยายก็ไปติดต่อที่กรมบังคับคดี
โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าทางโจทย์ได้ทำการซื้อที่ดินของคุณยายและขายทอดตลาดไปแล้ว คุณยายถึงรู้ตัวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถูกหลอก ตนจึงแนะนำไปว่าถ้าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ เข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง เพราะเรื่องของการกู้ยืมการจำนองมันมีอยู่จริง ซึ่งเวลาที่คุณไปฟ้องเขา คุณไปบอกกับเขาว่าถ้าจ่ายดอกเบี้ยแล้วจะไปถอนฟ้องเเละจะไม่ฟ้องแล้ว คุณยายและลูกหลานเขาก็จ่ายดอกครบถ้วนมีหลักฐานการโอนทุกอย่าง การกระทำแบบนี้ถือว่าเป็นการหลอกลวง กล่าวข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อ เสียทรัพย์สิน เงินทอง ก็เป็นเรื่องของการฉ้อโกง เบื้องต้นแนะนำให้คุณยายไปแจ้งความดำเนินคดีกับโจทก์ของคุณยาย
ส่วนเรื่องของการเจรจาขอซื้อที่ดินคืน เนื่องจากทรัพย์นั้นถูกซื้อโดยบุคคลที่สามไปแล้ว และมีการขายทอดตลาด ซึ่งมีการคุ้มครองตั้งแต่คนเเรก นอกจากนี้บุคคลที่สามได้มีการซื้อขายโดยสุจริต เปิดเผย เสียค่าตอบแทน ได้รับกฎหมายคุ้มครอง คุณยายต้องลองติดต่อเจรจาขอซื้อคืนในราคาที่เหมาะสม ซึ่งก็ต้องแล้วเเต่ว่าเขาจะยอมหรือไม่ สุดท้ายนี้อยากจะฝากไปถึงพี่น้องประชาชนทุกท่านที่คิดจะแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ควรจะนำทรัพย์สินของท่านไปฝากไว้กับสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงหรือบริษัทห้างร้านที่มีความน่าเชื่อถือ และมีหลักประกันที่แน่นอน อย่าได้หลงเชื่อโดยที่มิได้มีการตรวจสอบ มิฉะนั้นท่านอาจจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพทำให้เกิดความเสียหายตามมาภายหลังได้ ทนายโป้งกล่าว
ติดตามข่าวสาร Bright today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY