เจ็ตสกีฝีมือไทย ถ่ายสดทั่วโลก! โชว์ศักยภาพไม่แพ้ชาติใด 5 องค์กรชื่นชมผลงาน

Home » เจ็ตสกีฝีมือไทย ถ่ายสดทั่วโลก! โชว์ศักยภาพไม่แพ้ชาติใด 5 องค์กรชื่นชมผลงาน


เจ็ตสกีฝีมือไทย ถ่ายสดทั่วโลก! โชว์ศักยภาพไม่แพ้ชาติใด 5 องค์กรชื่นชมผลงาน

WGP#1 แบรนด์ทัวร์นาเม้นท์กีฬาไทยที่เติบโตเป็นผู้นำโลก เตรียมรุกหนักปีนี้ โดยเปิดแผนงานใหญ่ฤดูกาล 2023 ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ทัวร์นาเม้นต์เจ็ตสกีเก็บคะแนนชิงแชมป์โลก หรือ WGP#1 Waterjet World Series ที่กำลังประสบความสำเร็จต่อเนื่อง เตรียม “แสดงคุณค่ากีฬาไทยและการท่องเที่ยว ถ่ายทอดสดทั่วโลก ตลอดทั้งปี” บนสถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ซึ่งมีฐานการรับชมกว่า 1,000 ล้านครัวเรือน สร้างจุดเปลี่ยน ให้เห็นว่าการบริหารทัวร์นาเม้นต์กีฬา คนไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก ขณะที่ 5 องค์กรสำคัญชื่นชมและยกเป็นต้นแบบแนวคิดเชิงรุกด้านกีฬา ปริเขตเผยความสำเร็จเกิดจากทุกฝ่ายร่วมมือกัน โดยเฉพาะการกีฬาแห่งประเทศไทย และกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ

นายปริเขต สืบสหการ ผู้อำนวยการทัวร์นาเม้นต์เจ็ตสกีโลก WGP#1 เปิดเผยว่า “WGP#1 พร้อมแล้วที่จะเริ่มงานทัวร์นาเม้นต์เจ็ตสกีเก็บคะแนนชิงแชมป์โลก 2023 (WGP#1 Waterjet World Series) ที่ไทยขึ้นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และบริหารทัวร์นาเม้นท์ฯ โดยในปฏิทินการแข่งขันฤดูกาล 2023 เพิ่มเป็น 4 สนาม ได้แก่ สนามที่ 1 วันที่ 18-21 พฤษภาคม 2566 ณ ประเทศโปแลนด์, สนามที่ 2 วันที่ 27-30 กรกฎาคม 2566 ณ ประเทศฝรั่งเศส, สนามที่ 3 วันที่ 5-8 ตุลาคม 2566 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และสนามที่ 4 ชิงชนะเลิศ วันที่ 13-17 ธันวาคม 2566 ณ เมืองพัทยา ประเทศไทย

ในด้านกลยุทธ์การพัฒนากีฬาชาติ ปีนี้จะนำคุณค่ากีฬาไทยและการท่องเที่ยว ถ่ายทอดสดไปทั่วโลกตลอดปี ทั้ง 4 สนาม เป็นการย้ำเผยแพร่ สิ่งดีๆ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย ไปบนเครือข่ายการรับชมผ่านสถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านครัวเรือน ซึ่งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างสูงในหลายด้าน อีกทั้งการสร้างชื่อเสียงความสำเร็จว่า คนไทยก็ทำงานบริหารกีฬาโลก บนระบบนิเวศน์สูงสุด ได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก เช่นกัน

จุดเปลี่ยนสำคัญจะเห็นว่าคอนเท้นท์กีฬาที่คนไทยผลิต สามารถเติบโตบนสื่อนานาชาติได้ แต่การมาถึงจุดนี้ ก็ต้องค่อยๆสร้างการยอมรับเชื่อถืออย่างต่อเนื่อง เพราะไทยยังไม่ค่อยมีเครดิตในด้านนี้มาก่อน ส่วนการยิงสัญญาณขึ้นดาวเทียมจากภูมิภาคต่างๆของโลก ก็เป็นความท้าทายอย่างมาก ซึ่งรายการทั้งหมดทำโดยทีมงานคนไทย จึงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ ทั้งนี้ เมื่อไทยขับเคลื่อนวงการกีฬาโลก แน่นอนไทยก็ได้รับผลตอบแทนอย่างสมเหตุสมผล เช่นด้านการประชาสัมพันธ์ไทย การกำหนดให้สนามชิงชนะเลิศต้องจัดที่ประเทศไทย ด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

พร้อมกันนั้นต้องขอขอบคุณ 5 องค์กรสำคัญ ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมทรัพย์สินทางปัญญา นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดี และคณะอนุกรรมาธิการการกีฬาอาชีพและอุตสาหกรรม พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการธิการฯ ที่ได้สนับสนุนแนวคิดเชิงรุกของการพัฒนากีฬาไปสู่เวทีโลก กรุณาให้ความสำคัญเป็นต้นแบบการพัฒนากีฬาด้านนี้

เชื่อว่าความสำเร็จเกิดขึ้นเป็นเพราะทุกฝ่ายได้ร่วมมือกัน โดยเฉพาะการกีฬาแห่งประเทศไทย นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกองทุนฯ นางสาวสุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนฯ เรียนตามตรงว่า การที่ประเทศไทยมี 2 องค์กรหลักนี้ ทำให้วงการกีฬาไทยแข็งแกร่ง มีโอกาสแข่งขันกับคู่แข่งในวงการกีฬาโลกมากขึ้น เช่น โครงการกีฬาเจ็ตสกีนี้ อาจต้องใช้เวลา 10-20 ปี ถ้าทำโดยลำพัง แต่สามารถสร้างความสำเร็จจุดนี้เพียง 4 ปี พร้อมตอบแทนความสำเร็จมากมายให้กับประเทศไทย จึงอยากเรียนว่า ในการพัฒนากีฬาสมัยใหม่ ที่ต้องเริ่มด้วยการมีวิสัยทัศน์กีฬา และทุกฝ่ายก็ต้องมีความร่วมมือกันอย่างดีด้วย กีฬาไทยจึงจะไม่ชะงัก สามารถนำประโยชน์ที่มี 2 องค์กรดังกล่าว ไปสร้างโอกาสความสำเร็จระดับโลกได้อีกมากมาย”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ