เครื่องจับเท็จไฮเทคทำงานอย่างไร กฎหมายแต่ละประเทศรองรับมากแค่ไหน

Home » เครื่องจับเท็จไฮเทคทำงานอย่างไร กฎหมายแต่ละประเทศรองรับมากแค่ไหน



ศาสตราจารย์ยาเอล ฮานีน ติดขั้วไฟฟ้าจำนวนหนึ่งลงบนหน้าฝั่งซ้ายของฉัน

“ขยับตาหน่อยค่ะ กะพริบตา ยิ้ม คราวนี้ก็พยายามผ่อนคลาย” เธอกล่าว “อีกครู่เดียว เราก็จะรู้แล้วว่า คุณเป็นคนโกหกเก่งหรือเปล่า”

ศ.ยาเล ฮานีน เตรียมติดเครื่องมือให้นาตาลี ลิสโบนา ผู้สื่อข่าว เพื่อเข้ารับการทดสอบตรวจจับการโกหกของ

ที่มาของภาพ, Tomer Neuberg

ศ.ฮานีนและศ.ดีโน เลวี เพื่อนร่วมงาน เป็นหัวหน้าทีมพัฒนาวิธีการตรวจจับการโกหกแบบใหม่ขึ้นมาที่มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟของอิสราเอล

พวกเขาบอกว่า พวกเขาระบุตัวคนโกหกได้สองแบบคือ คนที่มีการขยับคิ้วโดยอัตโนมัติเมื่อพูดเรื่องโกหก และคนที่ไม่สามารถควบคุมการขยับมุมปากได้เล็กน้อย

ขณะนี้ซอฟต์แวร์ของพวกเขาและอัลกอริทึมของมันสามารถตรวจจับการโกหกได้ 73% และพวกเขาตั้งใจที่จะปรับปรุงตัวเลขให้ดีขึ้น โดยกำลังมีการพัฒนาระบบนี้อยู่ “เมื่อคุณลองปกปิดการโกหก หนึ่งอย่างที่คุณพยายามเลี่ยงคือ ปฏิกิริยาทางร่างกายทุกประเภท” เธอกล่าว

ศ.เลวี กล่าวเพิ่มเติมว่า “แต่ด้วยเทคโนโลยีนี้ ทำให้คุณปกปิดการโกหกได้ยากมาก ๆ”

เครื่องจับเท็จแอนะล็อก

ที่มาของภาพ, Getty Images

วิธีการจับโกหกหลายวิธีน่าจะเคยถูกนำมาใช้งานมาแล้ว ตราบใดที่ผู้คนยังคงเล่าเรื่องโกหกอยู่ หนึ่งในตัวอย่างที่มีหลักฐานชิ้นแรกมาจากช่วง 1,000 ปีก่อนคริสตกาลในจีน ซึ่งผู้ต้องสงสัยต้องอมเมล็ดข้าวไว้ในปาก

เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ก็จะมีการตรวจดูว่า ถ้าข้าวยังแห้งอยู่ แสดงว่าผู้นั้นโกหก ทฤษฎีนี้เชื่อว่าเมื่อคนโกหก เขาหรือเธอจะหวาดกลัวและประหม่า ส่งผลให้ปากแห้ง

ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีการประดิษฐ์เครื่องจักรตรวจจับการโกหกเครื่องแรกขึ้น หรือที่เรียกว่า เครื่องจับเท็จ โดยเครื่องจับเท็จที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ “เครื่องจับเท็จแอนะล็อก” ซึ่งจะมีเข็มบรรจุหมึก 3-4 เข็ม ขีดเส้นลงบนกระดาษแผ่นยาวที่ขยับไปมา

มีการติดอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณไว้ที่นิ้วมือ แขน และลำตัวของผู้ต้องสงสัย จากนั้นเครื่องจะวัดอัตราการหายใจ ชีพจร ความดันโลหิต และเหงื่อ ขณะที่พวกเขาตอบชุดคำถาม

แต่ก็ยังคงมีความกังวลเกิดขึ้นต่อไปเกี่ยวกับความแม่นยำของเครื่องอุปกรณ์เหล่านี้ และเป็นไปได้ไหมที่จะหลอกเครื่องจับเท็จ ดังนั้นนักวิจัยและบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งทั่วโลกจึงกำลังพัฒนาระบบจับเท็จไฮเทคกว่านี้ขึ้นมาก

ผู้หญิงเข้าเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ที่มหาวิทยาลัยอีราสมุส (Erasmus University) ในเมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ดร.เซบาสเตียน สเปียร์ และทีมงานของเขา กำลังใช้การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging—MRI) ในการดูว่า คนกำลังโกหกหรือหลอกลวงอยู่หรือเปล่า ด้วยการดูการเปลี่ยนแปลงของสีในการสแกนสมองที่มีการตอบสนองต่อคำถามต่าง ๆ

“เราเห็นหลายพื้นที่ [ต่าง ๆ กันของสมอง] ที่ถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง เวลาที่คนตัดสินใจที่จะโกหกหรือพูดความจริง” ดร.สเปียร์กล่าว

ระบบตรวจจับการโกหกไฮเทคที่ถูกใช้งานอยู่ระบบหนึ่งคือ EyeDetect ของบริษัท Converus ตั้งอยู่ในรัฐยูทาห์ โดยระบบนี้จะมุ่งเน้นไปที่การเคลื่อนไหวของลูกตาโดยอัตโนมัติเพื่อตรวจจับการโกหก

โดยจะมีการถามคำถามให้คนเลือกตอบว่า จริงหรือเท็จ ใช่หรือไม่ใช่ จำนวนหนึ่ง ขณะที่พวกเขาตอบคำถาม ซอฟต์แวร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของลูกตาจะคอยเฝ้ามองและศึกษาการตอบสนองของพวกเขา จากนั้นจะทราบผลภายในเวลา 5 นาที และทางบริษัทอ้างว่า มีความแม่นยำสูงถึง 86-88%

ผู้หญิงเข้ารับการทดสอบ EyeDetect

ที่มาของภาพ, EyeDetect

Converus (ซึ่งเป็นคำในภาษาละติน แปลว่า “ด้วยความจริง”) ระบุว่า ปัจจุบันมีลูกค้ามากกว่า 600 รายใน 50 ประเทศใช้งาน EyeDetect รวมถึงหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในสหรัฐฯ มากกว่า 65 แห่ง และอีกเกือบ 100 แห่งทั่วโลก

ทอดด์ มิกเคิลเซน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ทางการและบริษัทต่าง ๆ กำลังใช้ประโยชน์จากการทดสอบนี้ในการคัดกรองหาสิ่งต่าง ๆ “อาจรวมถึงอาชญากรรมในอดีต การใช้ยาเสพติดในอดีตและปัจจุบัน การกระทำผิดวินัยต่าง ๆ ที่ไม่มีการรายงาน การโกหกในการสมัครงาน การเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้าย”

ขณะที่เจ้าหน้าที่สอบสวนของตำรวจสามารถใช้ EyeDetect ในการถามคำถามที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับอาชญากรรมได้

แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องย้ำว่า การใช้อุปกรณ์จับเท็จในทางกฎหมายมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ในสหราชอาณาจักร สำนักงานคุมประพฤติใช้เครื่องจับเท็จ “ในการบริหารจัดการผู้ที่ถูกตัดสินว่าผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดทางเพศ” ตั้งแต่ปี 2014 และขณะนี้กำลังมีการทดลองใช้งานกับผู้กระทำผิดด้านการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

แต่ผลของการทดสอบเครื่องจับเท็จไม่สามารถนำไปใช้ในคดีอาญาได้ในระบบกฎหมาย 3 ระบบที่แยกจากกันคือ อังกฤษและเวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ

ขณะเดียวกัน นายจ้างในสหราชอาณาจักรได้รับอนุญาตให้ใช้การทดสอบตรวจจับการโกหกกับพนักงานได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของพนักงานด้วย

ในสหรัฐฯ มีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ และจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเมื่อต้องพิจารณากฎหมายของสหรัฐฯ ที่ครอบคลุมทั่วประเทศร่วมด้วย

ยกตัวอย่าง รัฐแคลิฟอร์เนียอนุญาตให้ใช้หลักฐานการทดสอบตรวจจับการโกหกในศาลอาญาระดับรัฐได้ ถ้าทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ แต่ในรัฐนิวยอร์ก ไม่ได้รับอนุญาตไม่ว่ากรณีใด ๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจของสหรัฐฯ ไม่สามารถกำหนดให้ผู้ต้องสงสัย หรือบุคคลที่ถูกจับกุมตัวเข้ารับการทดสอบได้

ขณะที่กฎหมายป้องกันการจับเท็จลูกจ้างในสหรัฐฯ (Federal Employee Polygraph Protection Act) จะสกัด ไม่ให้บริษัทต่าง ๆ ใช้การทดสอบนี้ในการรับสมัครงาน

คริสโตเฟอร์ เบอร์เกสส์

ที่มาของภาพ, Christopher Burgess

คริสโตเฟอร์ เบอร์เกสส อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอ เตือนว่า ไม่ควรมองว่าอุปกรณ์จับเท็จเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของอาชญากรหรือสายลับ

“มันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกใช้งานในขั้นตอนการสอบปากคำในการสอบสวน” เขากล่าว “หลักฐานคือวิธีการที่คนโกหก คนพาล คนโกง และพวกกุเรื่อง ถูกจับได้”

นายเบอร์เกสส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง กล่าวเพิ่มเติมว่า อุปกรณ์ไม่มีความแม่นยำอย่างสมบูรณ์แบบ และกล่าวว่า ย้อนกลับไปในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ตัวเขาเองเคยตีความผิดพลาดจากผลทดสอบที่ไม่ถูกต้อง

ขณะที่กำลังเริ่มมีการใช้งานระบบตรวจจับการโกหกที่ไฮเทค เขากล่าวว่า ยังคงมี “คำถามด้านศีลธรรมและจริยธรรม” อยู่

กลับไปที่มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ นักวิจัยหวังว่า ขั้วไฟฟ้าจะถูกแทนที่ด้วยกล้องวิดีโอและซอฟต์แวร์ที่สามารถตรวจจับการโกหกได้จากระยะไกลหรือแม้แต่ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ โดยดูจากการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบนใบหน้า

นาตาลี ลิสโบนา

ที่มาของภาพ, Natalie Lisbona

“ในธนาคาร ในการสอบปากคำของตำรวจ ที่สนามบิน หรือในการสัมภาษณ์งานทางออนไลน์ กล้องความคมชัดสูงที่ถูกออกแบบมาเพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้าจะสามารถระบุข้อความที่เป็นจริงได้จากคำโกหกต่าง ๆ” ศ.เลวี ทำนาย

หลังจากที่ฉันถูกสอบปากคำ ฉันถามว่า ฉันผ่านไหมคะ

ศาสตราจารย์ทั้งสองท่านกล่าวว่า “คุณโกหกไม่เก่งเลย”

……………………………

  • นาตาลี ลิสโบนา
  • ผู้สื่อข่าวธุรกิจ กรุงเทลอาวีฟ

……………………………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ