เครือข่ายแรงงาน ถูกใจเพื่อไทย ดันค่าแรง 600 จ่อร้องพปชร.หาเสียงค่าแรงหลอกลวง

Home » เครือข่ายแรงงาน ถูกใจเพื่อไทย ดันค่าแรง 600 จ่อร้องพปชร.หาเสียงค่าแรงหลอกลวง


เครือข่ายแรงงาน ถูกใจเพื่อไทย ดันค่าแรง 600 จ่อร้องพปชร.หาเสียงค่าแรงหลอกลวง

เครือข่ายแรงงาน ถูกใจเพื่อไทย ดันค่าแรง 600 จ่อร้องพปชร.หาเสียงค่าแรงหลอกลวง อัดรัฐบาลประยุทธ์ ทำไม่ได้จริง แถมมาดิสเครดิต

วันที่ 8 ธ.ค.65 หลังจากพรรคเพื่อไทย ประกาศผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี เริ่มต้นที่ 25,000 บาท โดยยืนยันจะทำให้สำเร็จภายในปี 2570 หากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2566

น.ส.ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวว่า เป็นที่ถูกใจแรงงาน และสอดคล้องกับข้อเสนอของแรงงานเรื่องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ อีกทั้งยังเป็นนโยบายที่เชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้ ส่วนใหญ่ค่าแรงขั้นต่ำไม่ถือว่ามากมาย เพราะไม่ได้ขึ้นทีเดียวเป็น 600 บาท แต่ค่อยขยับๆ หากนับไปอีก 4 ปี ถึง 2570 ก็คิดเป็นขึ้นค่าแรงปีละ 65 บาทโดยเฉลี่ย จึงมีความเป็นไปได้

น.ส.ธนพร กล่าวว่า แม้แต่พรรคก้าวไกลยังไม่เคยเสนอนโยบายเช่นนี้ ถึงจะเป็นพรรคที่มีส.ส.ปีกแรงงาน ก็ตาม คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ก็เคยออกแบบสำรวจพบว่า ต้องมีค่าแรงอย่างน้อย 720 บาท แรงงานจึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้ แล้วเหตุใดพรรคจึงไม่ออกมาประกาศนโยบายในเรื่องดังกล่าว ส.ส.ปีกแรงงานกลับไม่ชูนโยบายนี้เหมือนพรรคเพื่อไทย ซ้ำยังมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ลำปาง ของพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นเชิงวิพากษ์คัดค้านนโยบายเพิ่มค่าแรงดังกล่าวด้วย

“ความจริงค่าจ้างของแรงงานถูกกดมาหลายปี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมาแค่ 21 บาท ซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ 3 ซอง แล้ว นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.งแรงงาน ออกมาพูดว่านโยบายเพิ่มค่าแรงจะเป็นหายนะของประเทศ คุณเป็นรมว.แรงงาน ควรแสดงวิสัยทัศน์ว่าถ้าทำได้จริงก็ควรสนับสนุน เพราะพรรคพลังประชารัฐที่เคยหาเสียงไว้ก็ทำไม่ได้” น.ส.ธนพรกล่าว

น.ส.ธนพร กล่าวถึงกรณี นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยบชร สภาผู้แทนราษฎร ร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบนโยบายดังกล่าวของพรรคเพื่อไทยว่าทำได้จริงหรือไม่ ตนจะไปร้องต่อกกต.เช่นกัน ให้ตรวจสอบนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่เคยหาเสียงไว้ด้วย ถือเป็นการหลอกลวงแรงงานหรือไม่ เพราะบริหารเป็นรัฐบาลมาถึง 8 ปีแล้ว ก็ยังทำไม่ได้เลย ตนเคยไปเรียกร้องประเด็นนี้ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กลับได้คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ส่วนข้อกังวลว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการนั้น น.ส.ธนพร มองว่า นายจ้างโดยธรรมชาติ เมื่อเห็นว่าจะเสียประโยชน์ก็จะออกมาทักท้วงไว้ก่อน เพราะต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นมาถึง 250 บาทโดยประมาณจากค่าแรงปัจจุบัน แต่ตนเห็นว่าควรมองมุมกลับ พิจารณาอย่างมีเหตุผล ที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงว่าต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจในภาพรวม เปรียบเหมือนแรงงานในโรงงานผลิตสินค้ามาจำหน่ายได้เยอะ แรงงานก็สามารถเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างประจำดีได้เช่นกัน ซึ่งหากนายจ้างทำไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่หาเสียงไว้ ต้องออกมาตรการช่วยเหลือด้วย เช่น ทำข้อตกลงการค้ากับต่างประเทศ หรือหาช่องทางลดภาษีให้ผู้ประกอบการ

น.ส.ธนพร กล่าวว่า ตนมองมุมกลับว่า รัฐบาลปัจจุบันใช้วิธีบังคับแจก ใครจนแล้วจะได้ สุดท้ายผลประโยชน์จะเข้าทุนใหญ่ ต้องซื้อของที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐ เงินจะเข้าสู่ทางเดียว แต่หากเงินเข้าสู่แรงงาน เงินจำนวนนั้นจะหมุนเวียนไปทั้งระบบ รวมถึงธุรกิจรายย่อย การขนส่ง และชุมชน

“ควรมองอย่างไม่มีอคติ แน่นอนมันเกิดการถกเถียง แต่ต้องเป็นไปด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่สาดเสียว่าทำไม่ได้หรอก ก็คุณเป็นรัฐบาลแล้วคุณทำไม่ได้ จะรอให้เขาเป็นรัฐบาลก่อนไหม ถ้าเขาทำได้แล้วคุณจะทำยังไง 8 ปี สำหรับพวกคุณ ก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น คนงานก็แย่ ตกงาน การจ้างงานใหม่ๆ ก็ไม่มี”น.ส.ธนพร กล่าว

น.ส.ธนพร มั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยสามารถทำนโยบายดังกล่าวให้เป็นไปได้จริง เพราะตัวเลขไม่ได้สูง เมื่อเทียบเฉลี่ยต่อ 4 ปี แต่พรรคเพื่อไทยควรชี้แจงรายละเอียดให้ชัดว่ามีมาตรการใดบ้าง เพื่อดูแลนายจ้าง หากเศรษฐกิจดีขึ้นจริง จะมีส่วนสนับสนุนนายจ้างได้ เช่น เรื่องภาษี แหล่งทุน ลดดอกเบี้ย เพื่อให้นายจ้างมีความสบายใจ

“แน่นอนว่าคนตะลึง เพราะเขาคิดใหญ่ แต่คิดว่าเขาต้องทำได้ เพราะเห็นว่าถ้าทำไม่ได้จะเป็นปัญหา ก็เหมือนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั้งประเทศ ทำให้แรงงานไม่ต้องกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะไม่มีใครอยากจากบ้านมา ก็จะช่วยลดงบประมาณด้านสาธารณูปโภคที่เขาต้องดูแล หรือในเขตนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงนโยบายอื่นๆ ก็สอดคล้องกัน เช่น นโยบายเกษตรกร เพราะเกษตรกรก็คือพ่อแม่ของเรา” น.ส.ธนพร กล่าว

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ