เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ จี้ กระจาย "ไฟเซอร์" อย่างโปร่งใส ให้ติดตามตรวจสอบได้

Home » เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ จี้ กระจาย "ไฟเซอร์" อย่างโปร่งใส ให้ติดตามตรวจสอบได้
เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ จี้ กระจาย "ไฟเซอร์" อย่างโปร่งใส ให้ติดตามตรวจสอบได้

วันนี้ (30 ก.ค.) เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ ได้ออกหนังสือ ถึงกระทรวงสาธารณสุข เรื่องร้องขอความโปร่งใสในการจัดสรรวัคซีน Pfizer ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา หลังเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาการรับมอบวัคซีนดังกล่าวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามแผนการของทางรัฐบาล ระบุว่าจะจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 700,000 โดส จากทั้งหมด 1.54 ล้านโดส โดยเนื้อหาใจความระบุว่า

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศในปัจจุบันนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่าวันละหนึ่งหมื่นราย และผู้เสียชีวิตสะสมมากกว่าสี่พันราย นับเป็นหนึ่งในวิกฤตทางสุขภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยได้ประสบมา

ณ เวลานี้ บุคลากรสาธารณสุขทุกคนล้วนเหนื่อยล้า ท่ามกลางภาระงานที่หนักหน่วง และเต็มไปด้วยความเสี่ยง บุคลากรจำนวนมากไม่อาจกลับบ้านเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายเดือน ด้วยกังวลว่าจะนำเชื้อโรคไปสู่ครอบครัว บุคลากรหลายท่านต้องขึ้นเวรติดต่อกันแม้ว่าจะตั้งครรภ์อยู่ หลายท่านติดเชื้อโควิดหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกันกับประชาชนทุกท่านที่ล้วนตกอยู่ภายใต้ความลำบากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

แม้ว่าบุคลากรส่วนใหญ่ จะได้รับวัคซีน Sinovac แล้วครบ 2 เข็ม แต่ทว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าทวีคูณมากขึ้น และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าวัคซีน Sinovac นั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธ์เดลต้าน้อยกว่าอย่างมีนัยะสำคัญเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น จากข้อมูลปัจุบันในเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า บุคลากรติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 2,000 ราย ขณะเดียวกัน บุคลากรอีกนับหมื่นรายต้องกักตัวเพื่อตรวจเชื้อซ้ำ ซึ่งลดทอนอัตรากำลังในขณะที่ระบบต้องการบุคลากรมากที่สุด

การประกาศของสถานทูตอเมริกาล่าสุดวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ที่ระบุว่าสหรัฐอเมริกาจะบริจาควัคซีน Pfizer ให้กับประเทศไทยจำนวน 2.5 ล้านโดส โดยจะมีการนำเข้าล็อตแรก มากกว่า 1.5 ล้านโดสภายในเดือนนี้ และมีกลุ่มเป้าหมายคือ บุคลากรด่านหน้า ผู้สูงอายุ และผู้มีความเสี่ยงเป็นหลัก จึงเป็นเหมือนหลักประกันให้แก่บุคลากรด่านหน้า ให้พอคลายความกังวลใจได้ว่าจะเสี่ยงติดเชื้อจากการทำงานน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนและไม่ชัดเจนในการจัดสรรวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเนื้อหาในเอกสารราชการหลายฉบับ ทำให้ประชาชน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เกิดความวิตกว่า การกระจายวัคซีนจะไม่เป็นไปตามความจำเป็น หรือว่าจำนวนวัคซีน Pfizer ที่ได้รับมาอาจไม่ถูกจัดสรรให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ต้องการ

ด้วยเหตุนี้ พวกเรา ซึ่งเป็นตัวแทนของบุคลากรด่านหน้า ทั้งแพทย์ พยาบาล ช่างเทคนิค รังสี เวรเปล เจ้าหน้าที่ท่านอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลและสัมผัสกับผู้ป่วย ร่วมกับประชาชนกว่า 62,000 คนที่ร่วมลงชื่อผ่านแคมเปญ change.org/VaccineWeTrust รวมทั้งที่แสดงพลังผ่าน #เก็บไฟเซอร์ไว้ให้ใคร จึงขอวิงวอนให้ทางกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการจัดสรรวัคซีนเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มอย่างถี่ถ้วน จัดสรรวัคซีนอย่างยุติธรรมให้ผู้ที่สมควรได้รับ รวมถึงเปิดเผยแผนการ และจำนวนการจัดสรรวัคซีน Pfizer ในทุกขั้นตอน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่บุคลากรด่านหน้า ซึ่งกำลังรับศึกอย่างต่อเนื่องไม่เว้นแต่ละวันโดยไม่ทราบชะตากรรม

เพื่อความโปร่งใสและการกระจายวัคซีนให้ถึงมือผู้ควรได้รับตามความเสี่ยงและความจำเป็น หมอไม่ทน, ภาคีบุคลากรสาธารณสุข, Nurses Connect, สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand), DNA บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร, นิสิตนักศึกษาแพทย์เพื่อประชาธิปไตย และภาคีเทคนิคการแพทย์ จึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงสาธารณสุขดังนี้

  1. นำวัคซีน mRNA มาเป็นวัคซีนหลักให้ประชาชนคนไทยทุกคน
  2. ชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลว่ามีบุคลากรฯ ได้รับวัคซีน AstraZeneca เป็นบูสเตอร์โดสจำนวนเท่าใด และยังเหลือบุคลากรฯ ที่ยืนยันจะรับ Pfizer เป็นจำนวนเท่าใด
  3. นำข้อมูลสำคัญที่จะพิสูจน์ความโปร่งใสกลับมาบรรจุในระบบ Cold-chain tracking นั่นคือเส้นทางการกระจายวัคซีนโดยระบุยี่ห้อและล็อตต่างๆ ของวัคซีน และเปิดให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เพื่อแสดงความรับผิดชอบของรัฐต่อประชาชน และให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการก้าวข้ามวิกฤต
  4. มีความชัดเจนในการสื่อสารข้อมูลต่างๆ แก่ประชาชน ด้วยการรายงานความคืบหน้าในการจัดสรรวัคซีนพร้อมหลักฐานยืนยันอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและความไม่มั่นใจ โดยข้อมูลที่สื่อสารจากแต่ละแผนกของหน่วยงานราชการ ควรเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกัน

ทางเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ หวังว่ากระทรวงสาธารณสุขจะทบทวน ปรับปรุงการทำงานและพิจารณาถึงข้อเรียกร้องข้างต้น เพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศไทย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ