แม้ว่าการ “ห้ามสูบบุหรี่” จะถือเป็นกฎที่ทุกเที่ยวบินทั่วโลกยึดถือเช่นเดียวกัน แต่หากสังเกตให้ดีๆ จะพบว่าห้องน้ำบนเครื่องบินมักมี “ที่เขี่ยบุหรี่” ทำให้หลายคนสงสัยว่าที่เขี่ยบุหรี่มีไว้เพื่ออะไร?
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นดูขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด และแน่นอนว่าการออกแบบที่เขี่ยบุหรี่ไว้ในห้องน้ำนั้น ไม่ได้หมายความว่าสายการบิน “ยอมรับ” การสูบบุหรี่บนเครื่องบิน แต่ความจริงมีไว้เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเกิด “ไฟไหม้”
หากย้อนไปในอดีตครั้งกระโน้นนนน ผู้โดยสารเคยสามารถซื้อบุหรี่ จุดไฟ และสูบบุหรี่ได้อย่างอิสระ ขณะที่เครื่องบินอยู่บนระดับความสูงกว่า 9,000 เมตร โดยไม่มีใครให้ความสนใจในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา มีการ “ห้ามสูบบุหรี่” ในทุกเที่ยวบินทั่วโลก เพื่อความปลอดภัยของผู้ร่วมเดินทางทุกคน
จากข้อมูลของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ ในรายการอุปกรณ์ที่จำเป็นบนเครื่องบิน “ที่เขี่ยบุหรี่” เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานที่ควรติดตั้งบนเครื่องบิน เพราะแม้ว่าจะมีการสั่งห้าม แต่ผู้โดยสารบางคนก็ยังคงไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ และแอบสูบบุหรี่ ซึ่งสถานที่ถูกเลือกก็หนีไม่พ้น “ห้องน้ำ” เป็นสถานที่ในการกระทำนั้น
ดังนั้น หากไม่มีที่เขี่ยบุหรี่ คนเหล่านั้นก็มักจะทิ้งก้นบุหรี่ไว้ในที่ถังใส่กระดาษชำระ หรือกดลงในโถส้วม ซึ่งการกระทำนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง และอาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง
สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงอันตรายของการไม่มีที่เขี่ยบุหรี่บนเครื่องบินคือ ในปี พ.ศ.2516 ผู้โดยสาร 123 คนเสียชีวิตบนเที่ยวบิน Varig 820 จากรีโอเดจาเนโร (บราซิล) ไปยังปารีส (ฝรั่งเศส) เนื่องจากไฟไหม้ลุกลามจากบุหรี่ที่ถูกโยนลงถังขยะ ในห้องน้ำ ห้องโดยสารของเครื่องบินเต็มไปด้วยควัน และนักบินถูกบังคับให้ลงจอดฉุกเฉินในสนามที่อยู่ห่างจากเมืองหลวงของฝรั่งเศสไปทางใต้ 15 กม.
ด้วยเหตุนี้ แม้จะห้ามสูบบุหรี่บนเที่ยวบิน แต่การติดตั้งที่เขี่ยบุหรี่ในห้องน้ำก็ยังมีความสำคัญอย่างมาก เพราะถ้าใครฝ่าฝืนจุดบุหรี่สูบ ก็ต้องมีที่สำหรับทิ้งก้นบุหรี่ได้อย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ แน่นอนว่ากรณีจงใจฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ก็จะถูกลงโทษอย่างเหมาะสมเช่นกัน เพราะทันทีที่ควันปรากฏขึ้น ระบบแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้บนเครื่องบินจะทำงาน และประณามผู้ฝ่าฝืนโดยเจตนา ส่วนบทลงโทษนั้นอยู่กับข้อบังคับของแต่ละบริษัท และแต่ละประเทศ ผู้โดยสารที่ฝ่าฝืนกฎอาจถูกตักเตือน หรือปรับเป็นเงิน อาทิเช่น ในสหรัฐอเมริกา ค่าปรับอาจสูงถึง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7 แสนบาท)