กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ กาแล็กซี่อันไกลโพ้น … มีศิลปะการต่อสู้โดยการใช้ดาบไม้ไผ่ของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “เคนโด้” ถูกคิดค้นขึ้นมา กลายเป็นกีฬาที่มีอิทธิพลต่อการดวลดาบพลังแสงสุดอันตรายระหว่างเจไดและซิธในจักรวาลของมหากาพย์ สตาร์ วอร์ส จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของแฟรนไชส์นี้ได้อย่างน่าจดจำ
แม้ว่าในบางภาคของ สตาร์ วอร์ส อย่างในไตรภาคยุคก่อนจักรวรรดิ (ภาค 1, 2 และ 3) การดวลไลท์เซเบอร์จะมีความรวดเร็วและมีท่าทางที่หวือหวามาก จนเหมือนจอมยุทธ์จากหนังกำลังภายในของประเทศจีน แต่ความจริงแล้ว ลักษณะเด่นของการดวลไลท์เซเบอร์นั้น ต้องมีความขึงขังและอันตรายเสมือนการดวลดาบของซามูไรจากประเทศญี่ปุ่นมากกว่า อย่างในไตรภาคหลังการเกิดขึ้นของจักรวรรดิกาแลคติก (ภาค 4, 5 และ 6)
เบื้องหลังของการนำศิลปะการต่อสู้ของประเทศญี่ปุ่นมาสู่หนึ่งในมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกนี้มีที่มาอย่างไร ? ทำไมต้องเป็นเคนโด้ ?
Main Stand ขอชวนมานั่งยานข้าม Hyperspace โจนทะยานไปหาคำตอบด้วยกัน
สงครามอวกาศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สตาร์ วอร์ส” (Star Wars) คือหนึ่งในแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก รวมไปถึงในกระแสของวัฒนธรรมร่วมสมัย ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนของภาพยนตร์ชุดดังกล่าวหรือไม่ ก็ต้องเคยเห็นหรือเคยได้ยินอะไรเกี่ยวกับ สตาร์ วอร์ส มาบ้างไม่มากก็น้อย อย่างอัศวินเจได, ซิธลอร์ด, ดาบพลังแสงไลท์เซเบอร์ หรือคำกล่าวอวยพรให้โชคดีสุดโด่งดังอย่าง “ขอพลังจงสถิตอยู่แก่ท่าน” (May The Force Be With You)
Photo : arstechnica.com
ภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส ถือกำเนิดและออกสู่สายตาประชาชนครั้งแรกในปี 1977 ผ่านการรังสรรค์ของชายที่ชื่อว่า “จอร์จ ลูคัส” โดยความตั้งใจเดิมของเขา คือการพยายามที่จะสร้างภาพยนตร์ “แฟลช กอร์ดอน” ซีรีส์ไซไฟที่เคยโด่งดังในทศวรรษ 1960s ฉบับรีเมกขึ้นมาเพราะความชอบในวัยเด็ก แต่เนื่องจากติดปัญหาเรื่องของลิขสิทธิ์ ทำให้เขาตัดสินใจสร้างมหากาพย์การผจญภัยในอวกาศเรื่องใหม่ของตนเองขึ้นมาแทน
สตาร์ วอร์ส เป็นเรื่องเกี่ยวกับสงครามอวกาศที่อุบัติขึ้นระหว่างฝ่ายจักรวรรดิกาแลคติกที่พยายามจะยึดครองจักรวาลกับฝ่ายพันธมิตรกบฏ ขั้วตรงข้ามที่พยายามต่อต้านและนำสันติภาพมาสู่จักรวาล กล่าวอย่างง่ายที่สุด คือเป็นเรื่องราวของฝ่ายธรรมะปะทะอธรรมนั่นเอง
โลกของ สตาร์ วอร์ส จะประกอบไปด้วยกลุ่มตัวละครหลักที่เรียกว่าอัศวิน “เจได” ที่เป็นตัวแทนของฝั่งธรรมะ มีอาวุธคู่กายคือดาบพลังแสงหรือที่เรียกว่า “ไลท์เซเบอร์” เจไดคือบุคคลที่ฝึกฝนจิตและร่างกายจนเป็นหนึ่งเดียวกับ “พลัง” (Force) สิ่งเร้นลับที่ว่ากันว่าไหลเวียนอยู่ในกายของมนุษย์ หากนำมาใช้อย่างถูกวิธีก็จะเป็นเครื่องมือที่คอยค้ำจุน ดูแลความมั่นคงของกาแล็กซีได้ แต่ถ้านำมาใช้ในทางที่ผิด ก็จะถูกครอบงำทำให้จิตใจเข้าสู่ด้านมืด จนกลายเป็นฝ่ายที่พยายามคุกคามความสงบสุขที่เรียกกันว่า “ซิธ” อดีตเหล่าเจไดที่ฝักใฝ่ในพลังและอำนาจมากเกินไป มีอาวุธคู่กายคือไลท์เซเบอร์เช่นกัน
เรื่องราวของ สตาร์ วอร์ส จะเล่าผ่านมุมมองของตระกูลสกายวอล์คเกอร์ ตระกูลที่สืบทอดการใช้พลังมารุ่นต่อรุ่น ที่มีต้นตระกูลคือ “อนาคิน สกายวอล์คเกอร์” ผู้เคยขึ้นชื่อว่าเป็น “ผู้ถูกเลือก” ที่จะสามารถนำพลังอันยิ่งใหญ่มากอบกู้จักรวาลได้ แต่เขากลับกลายเป็นผู้ที่หลงในอำนาจมากเกินไป จนแปรเปลี่ยนกลายเป็น “ดาร์ธ เวเดอร์” หนึ่งในซิธลอร์ดผู้ทรงพลังที่สุด และเป็นแม่ทัพของฝ่ายจักรวรรดิกาแลคติก
Photo : www.inafarawaygalaxy.com
หลายคนที่เคยรับชมภาพยนตร์แฟรนไชส์ สตาร์ วอร์ส มาบ้าง มักจะเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับแรงบันดาลใจและอิทธิพลอันมากมายที่ จอร์จ ลูคัส หยิบยืมมาสร้างเรื่องราวของตนเอง อย่างเรื่องการออกแบบตัวละคร หมวกของตัวร้ายสุดโด่งดังอย่าง ดาร์ธ เวเดอร์ ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากหมวกของชุดเกราะซามูไรของญี่ปุ่น หรือโมเดลความยิ่งใหญ่อันเต็มไปด้วยความชั่วร้ายของฝ่ายจักรวรรดิกาแลคติก ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภัยคุกคามของลัทธินาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นอย่างมาก คือเรื่องการใช้อาวุธอย่างไลท์เซเบอร์ของเจได ที่รู้หรือไม่ว่าแรงบันดาลใจที่แท้จริงมาจากกีฬาฟันดาบเคนโด้ของญี่ปุ่น
สำหรับแฟน สตาร์ วอร์ส ที่กำลังอ่านอยู่ อาจจะนึกสับสนเล็กน้อย เพราะว่าจริง ๆ แล้วเรื่องที่หลายคนเคยได้ยินมา คือ สตาร์ วอร์ส นั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า “Seven Samurai” หรือในชื่อไทยว่า “เจ็ดเซียนซามูไร” ภาพยนตร์แอ็กชัน-ดราม่า ชั้นครู จากผู้กำกับ “อากิระ คุโรซาว่า” ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวีรบุรุษซามูไรไร้นาย ที่ลุกขึ้นมาปกป้องชาวบ้านจากการรุกรานของโจร
Photo : medium.com
เป็นความจริงที่ จอร์จ ลูคัส เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ยกย่อง อากิระ คุโรซาว่า จนถึงขนาดนำเทคนิคหลาย ๆ อย่างมาใส่ในหนังของตน และการดวลไลท์เซเบอร์ประหนึ่งการดวลดาบซามูไรก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจในแง่ของการนำเสนอ แต่ในเบื้องหลังของไอเดีย ก็เป็นความจริงเช่นเดียวกันที่กีฬาเคนโด้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่การดวลไลท์เซเบอร์ และยังเป็นกีฬาที่ถือกำเนิดขึ้นเพราะซามูไรอีกด้วย
เคนโด้ ซามูไร และ สตาร์ วอร์ส ต่างก็เกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น การจะกล่าวรวม ๆ ว่าการดวลดาบไลท์เซเบอร์นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากการฟันดาบของญี่ปุ่นก็คงไม่ผิดนัก และเรื่องนี้ก็ได้รับการยืนยันแล้วโดย ลุค สกายวอล์คเกอร์
กายและจิตที่หลอมรวมเป็นหนึ่ง
เมื่อปี 2015 มาร์ค แฮมิล นักแสดงผู้รับบท ลุค สกายวอล์คเกอร์ ได้ออกมาทวีตข้อความไว้ใน Twitter ว่า
“ศาสตร์ศิลปะโบราณของเคนโด้ได้รับการยอมรับสักที !” พร้อมกับติดแฮชแท็ก #StarWars และ #Kendo
Photo : movies.mxdwn.com
มาร์ค ได้โควตทวีตเอาไว้ เพราะเขากำลังพูดถึงสารคดีที่เขารับหน้าที่เป็นผู้บรรยายที่มีชื่อว่า “The Evolution of Lightsaber Duel” สารคดีเกี่ยวกับประวัติของกีฬาเคนโด้ในแง่ของการเป็นแรงบันดาลใจให้แก่การดวลไลท์เซเบอร์โดยเฉพาะ ร่วมสร้างสรรค์โดยทีมงานที่สร้าง Star Wars กับสื่อกีฬา ESPN (ซึ่งปัจจุบันทั้งคู่อยู่ในเครือ Disney เช่นกัน)
ในสารคดีเรื่องดังกล่าวได้มีการพูดถึงกีฬาเคนโด้ ในแง่มุมที่น้อยคนจะทราบนักว่า กีฬาฟันดาบชนิดนี้จากญี่ปุ่น แท้จริงแล้วก็มีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างจักรวาล สตาร์ วอร์ส ขึ้นมา และ มาร์ค แฮมิล ผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น ก็เคยศึกษาร่ำเรียนเคนโด้และยูโดมาก่อน และทราบเรื่องนี้มาตลอด ให้สัมภาษณ์กับ ESPN ไว้ว่า
“ผมใช้เวลาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นราว ๆ 2 ปี เมื่อตอนเรียนมัธยมปลาย วัฒนธรรมญี่ปุ่นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผมตั้งแต่เด็ก”
“ผมรู้สึกว่าเคนโด้มีอิทธิพลอย่างมากกับสิ่งที่เราทำในหนัง ถึงเวลาที่กีฬาชนิดนี้จะได้รับการยอมรับแล้ว มันเลยกำหนดมานานเกินไปแล้ว”
เคนโด้ คือศิลปะการป้องกันตัวที่มีอุปกรณ์หลักคือ ดาบ ซึ่งดาบสำหรับชาวญี่ปุ่นถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความแข็งแกร่งและความงามมาตั้งแต่ยุคสมัยเฮอันที่ขึ้นชื่อว่าเป็นยุคร่ำรวยในศิลปะวัฒนธรรมมากที่สุดของญี่ปุ่น อยู่ในช่วงราว ค.ศ.794-1185 และดาบถือเป็นอาวุธสำคัญสำหรับซามูไร มีความสำคัญประหนึ่งเป็นหัวใจของนักรบ
ต่อมาในยุคที่มีการปกครองแบบกระจายอำนาจจากษัตริย์ไปสู่ขุนนางหรือที่เรียกกันว่าระบบการปกครองแบบศักดินาสวามิภักดิ์ ที่ลากยาวไปจนถึงยุคสมัยเอโดะ ราวศตวรรษที่ 17 ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดโรงเรียนฝึกสอนวิชาดาบที่เรียกกันว่า “เคนจุทสึ” (Kenjutsu) ขึ้นมา ซึ่งไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ว่ากันว่าวิชาดังกล่าวเป็นวิชาดาบที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากการฝึกซามูไรอีกทอดหนึ่ง
ในระยะแรกของการฝึกเคนจุทสึจะใช้ดาบจริง แน่นอนว่ามีความอันตรายจนกลายเป็นข้อพิพาทขึ้นมาในช่วงเวลาหนึ่ง วิชาดาบถูกห้ามเผยแพร่ต่อมานานจนถึงศตวรรษที่ 19 ในยุคการปฏิรูปเมจิ เคนจุทสึถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในฐานะการฝึกของตำรวจที่ต้องรับมือกับกบฏซามูไรผู้ต่อต้านรัฐบาล
การฝึกวิชาดาบตั้งแต่นั้นมาจึงจำเป็นต้องสวมชุดเกราะและเปลี่ยนจากดาบจริงเป็นดาบไม้ไผ่ที่เรียกว่า “ชิไน” (Shinai) เพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น จนในที่สุดก็ได้เปลี่ยนชื่อจาก เคนจุทสึ มาเป็น “เคนโด้” (Kendo) ที่ให้ความหมายว่า “วิถีแห่งดาบ” จนกลายมาเป็นหนึ่งในศิลปะการป้องกันตัวสมัยใหม่แขนงหนึ่งที่เรียกว่า “บูโด” (Budo) ของญี่ปุ่นจนถึงทุกวันนี้ และกลายมาเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันกันทั่วโลก
การแข่งขันเคนโด้ในแต่ละครั้งจะแข่งทีละคู่ แต่ละฝ่ายจะถือชิไนคนละเล่ม ทำคะแนนได้จากการถือดาบเข้าไปตีอีกฝ่ายให้ได้ 4 จุด ได้แก่ ส่วนหัว ข้อมือ ลำตัว หรือเล็งแทงไปที่บริเวณคอ จุดใดจุดหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขคือ ทุกครั้งก่อนตีผู้เข้าแข่งขันจะต้องตะโกนออกมาและจะต้องตีให้อยู่ในบริเวณที่พอเหมาะของดาบ ไม่ตีให้ปลายดาบหมิ่นเกินไปหรือตีเข้าไปลึกจนถึงโคนดาบ นอกจากนี้ ยังต้องตีให้ถูกด้านของดาบด้วย ในด้านหนึ่งของดาบจะมีเส้นเอ็นขึงอยู่ เป็นด้านที่ต้องให้อยู่ข้างบนเมื่อฟันลงไป การฟันโดนหนึ่งครั้งจะได้อิปป้ง 1 คะแนน และถ้าคะแนนนำอยู่ที่ 2-0 จะถือว่าชนะทันที
แม้จะเป็นกีฬาที่ต้องออกแรงมหาศาลและอาศัยความเร็วปานสายฟ้า แต่กฎและกติกาที่ซับซ้อนเช่นนี้ ทำให้เคนโด้กลายเป็นกีฬาที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ใจความหลักของการเล่นเคนโด้จึงอยู่ที่เรื่องสมาธิ ผู้ฝึกจะต้องไม่วอกแวกตลอดระยะเวลาการแข่งขัน 10 นาที และต้องพร้อมตีอีกฝ่ายอยู่เสมอ หากวอกแวกเมื่อทำคะแนนได้ อย่างการออกท่าทางดีใจหรือแสดงอาการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน จะถูกปรับทันที
กีฬาเคนโด้ คือ กีฬาที่มุ่งเน้นสร้างวินัยผ่านการต่อสู้อันเฉียบขาดและแม่นยำ ถึงแม้จะไม่ใช่ดาบจริง แต่การเล่นเคนโด้ก็เปรียบเสมือนการดวลดาบที่ใช้ชี้เป็นชี้ตายได้ เป็นการแข่งขันที่เต็มไปด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแบบนักรบซามูไร อีกทั้งยังเป็นการหลอมการฝึกกายและใจเข้าด้วยกัน เรื่องนี้ค่อนข้างกระจ่างแบบไม่ต้องสืบต่อเลยว่า คอนเซ็ปต์การเป็นหนึ่งเดียวกับพลัง พร้อมอาวุธระดับพระกาฬของเจไดจากสตาร์ วอร์ส ไปได้แรงบันดาลใจมาจากไหน
เป็นที่น่าสนใจว่าการต่อสู้ของเจไดและซิธนั้นมีความหมายมากกว่าแค่การสู้เพื่อการเอาชนะกัน การลงดาบของแต่ละฝ่าย ต่างก็เป็นเรื่องของเกียรติและปกป้องในสิ่งที่ตนยึดถือ อย่างเจไดที่ถือเรื่องของสันติภาพและความยุติธรรมเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่ฝั่งซิธถือเรื่องของอำนาจและความต้องการครอบครองทุกสิ่งเป็นสำคัญ
จอห์น โบเยก้า นักแสดงที่รับบท ฟินน์ อดีตทหารสตอร์มทรูเปอร์ที่กลับใจจากฝ่ายจักวรรดิกาแลคติกมาอยู่ฝ่ายกบฏในไตรภาคล่าสุด (ภาค 7, 8 และ 9) ของ สตาร์ วอร์ส ก็ดูจะเข้าใจต่อเรื่องดังกล่าวเช่นกัน เขาลงความเห็นต่อเรื่องความคล้ายคลึงของเคนโด้กับการดวลดาบไลท์เซเบอร์ไว้กับ ESPN ว่า
“ความหลงใหลในพลังมากเกินไป หรือการฝึกที่มากเกินไป การขาดการควบคุมอารมณ์ สามารถทำให้ใครก็ตามเข้าสู่ด้านมืดไปก็ได้”
“เรื่องพวกนี้มันขัดกับหลักและประเพณีของเจได ความคล้ายคลึงกันระหว่างเคนโด้กับการต่อสู่ของซิธกับเจไดในความเห็นของผม คือเรื่องของการควบคุม เรื่องของความสงบ มันไม่เคยเกี่ยวข้องกับความกระหายในการสู้ มันคือการปกป้องและการโต้ตอบ”
Photo : www.reddit.com
เขายังเสริมต่ออีกว่า การต่อสู้ทั้งสองคือเรื่องของจิตใจล้วน ๆ เป็นความเด็ดขาดที่การดวลไลท์เซเบอร์และเคนโด้มีร่วมกัน
“คุณสามารถจบการต่อสู้ลงได้ภายในสองนาที แทนที่จะทุ่มสุดตัว ปลดปล่อยด้วยความโกรธและอารมณ์ที่คุณมีตอนนั้น คุณเลือกที่จะควบคุมตัวเอง ตั้งรับแล้วก็จัดการอีกฝั่งให้เสร็จในคราวเดียวได้”
“เคนโด้เป็นเรื่องที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณ มีความเชื่อมโยงถึงกัน บางครั้งถ้าคุณมองนักแข่งเคนโด้ที่อยู่ในสนามสองคน มันเหมือนกับว่าพวกเขากำลังร่ายรำเลยล่ะ”
อย่างไรก็ตาม ใน สตาร์ วอร์ส ไตรภาคก่อนจักรวรรดิ อันประกอบไปด้วยภาค The Phantom Menace (1999), Attack of the Clones (2002) และ Revenge of the Sith (2005) การกวัดแกว่งดาบใน สตาร์ วอร์ส นั้นได้รับการปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากขึ้น ด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นในการต่อสู้ ทำให้มีความต่างจากไตรภาคคลาสสิกอย่าง A New Hope (1977), The Empire Strikes Back (1980) และ Return of the Jedi (1983) พอสมควร
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความร่วมสมัยตามกาลเวลาขึ้นก็จริง แต่นั่นก็ทำให้เสน่ห์ของการดวลไลท์เซเบอร์หายไปด้วย ดาบพลังแสงกลายเป็นอาวุธที่ดูไม่ค่อยน่ากลัว ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าไม่ได้เป็นอาวุธที่อันตรายแต่อย่างใด อีกทั้งยังดูขาดสมาธิ เรื่องนี้รบกวนจิตใจ มาร์ค แฮมิล และผู้กำกับอย่าง จอร์จ ลูคัส ประมาณหนึ่ง
“ตอนที่เราถ่ายฉากต่อสู้ในภาคดิ เอ็มไพร์ สไตรค์ แบ็ค จอร์จเข้ามาดูแล้วก็บอกว่า ‘พี่ไม่ค่อยชอบนะเวลาน้องเอามือออกไป คือน้องต้องถือดาบสองมือตลอดเวลาสิ’ ผมถามเขาว่า ‘พี่หมายความว่าไงนะครับ ?’ จอร์จตอบกลับมาว่า ‘ก็มันหนักนะโว้ย ประมาณ 20 กิโลได้เชียวนะ'”
Photo : Lucasfilm.com
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าไอเดียดั้งเดิมของจอร์จ คือความตั้งใจที่จะทำให้ไลท์เซเบอร์เป็นสุดยอดอาวุธอันตราย การกวัดแกว่งไปอย่างง่ายดายไม่ใช่สิ่งที่เจไดจะประสบความสำเร็จในการฝึกได้ง่าย ๆ แต่ก็เป็นจอร์จเองที่เลือกจะละทิ้งกฎดังกล่าวไปในภายหลัง จนทำให้ มาร์ค แฮมิล ถึงกับเซ็ง แต่ก็เป็นความเซ็งที่ออกแนวตลกมากกว่าเพราะเขายังนึกกับตัวเองเลยว่า ถ้าจะเป็นเซียนควงดาบได้ขนาดนั้นต้องฝึกวิชานานขนาดไหน
ความน่ากลัวเพียงประการเดียวของอาวุธดังกล่าวในไตรภาคก่อนจักรวรรดิ คือตอนที่ไลท์เซเบอร์ ถูกใช้เป็นอาวุธในการสังหารหมู่เจได จากคำสั่งกวาดล้างเจได “Order 66” ที่มีพาดาวันหรือเจไดฝึกหัดที่ยังเป็นเด็กอยู่ด้วย
เพื่อฟื้นความขลังของอาวุธแห่งสภาสูงและเพื่อความทันสมัยอีกครั้ง ในยุคนี้การดวลไลท์เซเบอร์จึงย้อนกลับไปยึดเรื่องของความสมจริง พร้อมยึดหลักการแบบเคนโด้ตามเดิมในไตรภาคล่าสุดที่เพิ่งจบลงไปในปี 2019 นี้เอง
OG SWORDSMANSHIP
การประกาศนำตำนานของ สตาร์ วอร์ส มาสานต่ออีกครั้งในปี 2015 ภายใต้การผลิตของ วอลต์ ดิสนีย์ หลังจาก จอร์จ ลูคัส ขายลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ที่ตนสร้างขึ้นมาไปในปี 2012 สร้างความตื่นเต้นให้แฟน ๆ เป็นอย่างมาก ภาพยนตร์ The Force Awakens หรือในชื่อไทยคือ “อุบัติการณ์แห่งพลัง” ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากแฟน ๆ ทั่วโลก ตามมาด้วย The Last Jedi หรือ “ปัจฉิมบทแห่งเจได” ในปี 2017 และ The Rise of Skywalker หรือ “กำเนิดใหม่สกายวอล์คเกอร์” ในปี 2019 เป็นการจบไตรภาคใหม่โดยสมบูรณ์
Photo : movies.xenite.org
แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงเกิดขึ้นมากมายจากแฟนภาพยนตร์ ที่มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ จนเกิดเป็นกระแสปะปนกันไป หนึ่งสิ่งที่ต้องยอมรับคือเรื่องของเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสร้างภาพยนตร์ ทำให้โลกของ สตาร์ วอร์ส เป็นโลกแฟนตาซีที่น่าค้นหามากยิ่งขึ้น อีกทั้งการออกแบบการต่อสู้ด้วยไลท์เซเบอร์ที่กลับมาเป็นอาวุธที่น่าเกรงขามอีกครั้ง
การออกแบบการต่อสู้ด้วยการใช้ไลท์เซเบอร์ในไตรภาคนี้มีความสมจริงมากยิ่งขึ้น สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะเพื่อความสอดคล้องกับเรื่องราวของตัวละคร เพราะแต่ละคนไม่ได้มีความชำนาญในการใช้ดาบแต่อย่างใด อาทิ เรย์ (นำแสดงโดย เดย์ซี่ ริดลีย์) ตัวละครหลักของไตรภาค ที่ในช่วงแรกเป็นเพียงหญิงสาวที่ไม่ทราบอะไรเลยเกี่ยวกับอาวุธดังกล่าว หรือ ฟินน์ ที่เป็นอดีตทหารสตอร์มทรูเปอร์ ในทางกลับกัน ไคโล เรน (นำแสดงโดย อดัม ไดรเวอร์) ตัวร้ายหลัก เป็นคนที่ได้รับการฝึกฝนมามากที่สุด แต่ถึงอย่างไรเขาก็เป็นคนที่ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ในการต่อสู้
เจเจ อับรามส์ ผู้กำกับผู้กรุยทางให้แก่ สตาร์ วอร์ส ไตรภาคใหม่นี้ กล่าวกับ ESPN ว่า
“สำหรับผม ตอนที่ได้ดูการดวลไลท์เซเบอร์ตอนเด็ก ๆ นั้น มันน่าตื่นเต้นมาก มันเป็นสิ่งที่ทรงพลังและไม่ได้ถูกออกแบบการเคลื่อนไหวมาก่อน เคยมีการถกเถียงกันว่าการดวลดาบในไตรภาคคลาสสิกนั้นน่าเบื่อ แต่ผมว่ามันเต็มไปด้วยอารมณ์และความทรงพลัง”
“ใน The Force Awakens เราเลยพยายามที่จะกลับไปทำให้มันดูดิบเถื่อน ให้เหมือนการสู้กันจริง มากกว่าเหมือนการซ้อมมา”
การดวลไลท์เซเบอร์ใน สตาร์ วอร์ส ไตรภาคล่าสุดกลับมามีความขึงขังตามแบบฉบับหนังซามูไรและเต็มไปด้วยอารมณ์ หากใครที่สงสัยให้ลองเปิดดูความแตกต่างจากภาพยนตร์หรือคลิปสั้น ๆ ในอินเทอร์เน็ตได้ แล้วจะพบว่าการสู้ในแต่ละไตรภาคนั้นไม่มีความเหมือนกันแม้แต่น้อย
เราไม่อาจตัดสินได้ว่าแบบไหนดีกว่ากัน ภาพของการดวลไลท์เซเบอร์ในจักรวาลของ สตาร์ วอร์ส แต่ละภาคนั้นมีความแตกต่างกัน ใครจะชอบแบบไหนก็ไม่ผิด และการพัฒนาปรับปรุงก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าเสมอ
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ คือการทำความเข้าใจที่มาและให้ความเคารพแก่สิ่งที่เคยสร้างแรงบันดาลใจต่อหนึ่งในอาวุธที่เป็นไอคอนแห่งวงการภาพยนตร์ เพราะความสำเร็จของแฟรนไชส์สงครามอวกาศ เกิดจากการผสมรวมกันของหลายสิ่งไว้ด้วยกัน และเรื่องราวเหล่านี้ก็ถือเป็นเสน่ห์ของมหากาพย์ สตาร์ วอร์ส ที่ไม่รู้ก็ได้ แต่ถ้ารู้ก็อาจจะทำให้ดูหนังสนุกอีกขึ้นเป็นกอง
May the Force Be With You