เคนย่า แชมป์วิ่ง อะเมซิ่ง มาราธอน – หารือ ชัชชาติ ดันขึ้นทำเนียบงานวิ่งระดับโลก

Home » เคนย่า แชมป์วิ่ง อะเมซิ่ง มาราธอน – หารือ ชัชชาติ ดันขึ้นทำเนียบงานวิ่งระดับโลก


เคนย่า แชมป์วิ่ง อะเมซิ่ง มาราธอน – หารือ ชัชชาติ ดันขึ้นทำเนียบงานวิ่งระดับโลก

การแข่งขันวิ่งมาราธอนส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก รายการ “วิ่งผ่าเมือง”อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน Amazing Thailand Marathon Bangkok 2022 Presented by Toyota ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อคืนวันที่ 3 ธันวาคม เข้าสู่วันที่ 4 ธันวาคม มี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน

โดยจุดสตาร์ทอยู่ที่ ราชมังคลากีฬาสถาน (ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร, 21.1 กิโลเมตร) และ โลหะปราสาท ถ.ราชดำเนิน (ระยะทาง 10 กิโลเมตร, 5 กิโลเมตร) ผ่านเส้นทางที่เป็นแลนมาร์คสำคัญของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระที่นั่งอนันตสมาคม, สะพานพระราม 8, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร, วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) ฯลฯ ก่อนจะเข้าเส้นชัยที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีนักวิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมแข่งขันกว่า 25,000 คน รวมทั้ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะเข้าร่วมแข่งขันในประเภทฮาล์ฟมาราธอน (ระยะทาง 21.1 กิโลเมตร) ด้วย

ผลการแข่งขัน ระยะมาราธอน 42.195 กิโลเมตร ชายทั่วไป (โอเวอร์ออล) แชมป์ตกเป็นของ อาริ ยิเมอร์ จากเอธิโอเปีย 2.21.36 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเงินรางวัล 1 แสนบาท อันดับ 2 สัญชัย นามเขต 2.24.24 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 3 ณัฐวุฒิ อินนุ่ม 2.27.07 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 30,000 บาท

ระยะมาราธอน 42.195 กิโลเมตร หญิงทั่วไป (โอเวอร์ออล) แชมป์ได้แก่ เชลมิธ มูริวกี จากเคนยา 2.39.38 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมเงินรางวัล 1 แสนบาท อันดับ 2 อเล็กซานดรา โมโรโซว่า จากรัสเซีย 2.49.07 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 3 มากาเร็ต เอ็นจูกูน่า จากเคนยา 2.50.14 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 30,000 บาท

ประเภท มาราธอน 42.195 กิโลเมตร นักวิ่งสถิติดีที่สุดชาวไทย ชาย อันดับ 1 สัญชัย นามเขต 2.24.24 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 2 ณัฐวุฒิ อินนุ่ม 2.27.07 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 30,000 บาท อันดับ 3 ธนาทิพย์ ดีฉิม 2.36.13 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 20,000 บาท

ประเภท มาราธอน 42.195 กิโลเมตร นักวิ่งสถิติดีที่สุดชาวไทย หญิง อันดับ 1 ลินดา จันทะชิด 2.55.30 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 2 โสรยา ต๊ะวงศ์ 3.12.15 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 30,000 บาท, อันดับ 3 ระเบียง รังเพียง 3.16.00 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 20,000 บาท

ระยะฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร ชายทั่วไป (โอเวอร์ออล) แชมป์ได้แก่ เกปา ออนเจรี ออนดิมา จากเคนยา 1.04.07 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 2 อเล็กซานเดอร์ เอนจาย จากเคนยา 1.04.09 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 25,000 บาท อันดับ 3 คินดู ซิวเมออน จากเอธิโอเปีย 1.04.24 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 15,000 บาท

ระยะฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร หญิงทั่วไป (โอเวอร์ออล) แชมป์ได้แก่ มาร์ทา ไบฮาน จากเอธิโอเปีย 1.19.47 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท อันดับ 2 แอน มูกูฮี จากเคนยา 1.20.36 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 25,000 บาท อันดับ 3 ฟายา ฮัสเซน จากเคนยา 1.21.50 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 15,000 บาท


ประเภท ฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร นักวิ่งสถิติดีที่สุดชาวไทย ชาย อันดับ 1 ณัฐวัฒน์ อินนุ่ม 1.09.58 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท อันดับ 2 ชุติเดช ถนอมทรัพย์ 1.13.47 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 15,000 บาท อันดับ 3 วงศ์บวร พัศดี 1.15.03 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 10,000 บาท

ประเภท ฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร นักวิ่งสถิติดีที่สุดชาวไทย หญิง อันดับ 1 อรอนงค์ วงศร 1.24.17 ชั่วโมง ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท อันดับ 2 อรนุช เอี่ยมเทศ 1.27.40 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 15,000 บาท อันดับ 3 ณัฐธยาน์ ธนรณวัฒน์ 1.28.06 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 10,000 บาท

การแข่งขัน อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน Amazing Thailand Marathon Bangkok 2022 ได้รับการรับรองและยอมรับจากสมาคมกรีฑาโลก ให้เป็น 1 ใน 5 ของมาราธอนในเมืองหลวงที่จัดได้ดีที่สุดในทวีปเอเชีย ซึ่งภายหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการจัดการแข่งขันวิ่งเทรลภูเขาชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 1 ณ ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2565 และ การประชุมสัมมนากรีฑาโลก “เวิลด์ แอธเลติก โกลบอล รันนิ่ง คอนเฟอเรนซ์ 2022” วันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2565 ที่ รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิ่งฮาล์ฟมาราธอนชิงแชมป์โลก และมีโอกาสจะได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกรีฑาระดับโลกอีกครั้งในปี 2025 (พ.ศ.2568)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การแข่งขันอะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน Amazing Thailand Marathon Bangkok 2022 จัดได้อย่างยอดเยี่ยม ตนเองได้ร่วมวิ่งด้วยพบว่า ตลอดเส้นทางได้มาตรฐาน การปิดถนนทำได้ดี และปลอดภัย เรื่องของน้ำดื่ม ขนม มีตลอดเส้นทาง ไฟสว่าง ห้องน้ำมีตลอดทาง ต้องขอบคุณผู้จัดการแข่งขันอย่างมาก โดยจากนี้ กรุงเทพมหานคร จะได้หารือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และผู้จัด เพื่อเตรียมยกระดับการแข่งขันครั้งต่อไปให้ยิ่งใหญ่สมกับเป็นอีเวนท์ระดับโลก

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ