คงไม่มีใครคาดคิดว่า การโจรกรรมข้ามชาติจะทำให้เกิดการค้นพบแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศขึ้นมาได้ แต่นั่นก็เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสมัยก่อนของหมู่บ้านเล็กๆ อันเป็นที่ตั้งของเทือกเขาสูงรูปร่างประหลาดที่มีชื่ออันสื่อความหมายว่า “อัปลักษณ์”
เรือประมงลำน้อยล่องไปตามลำคลองราบเรียบสีเขียวหม่นที่ขนาบด้วยป่าโกงกาง จุดหมายเบื้องหน้า คือ แนวเทือกเขาทะมึนสลับซับซ้อนที่เห็นอยู่ไกลลิบๆ ซึ่งเมื่อเข้าใกล้ในระยะสายตา ก็พบกับรูปทรงบิดเบี้ยว ไร้ระเบียบหรือรูปแบบตายตัวของภูเขาหินปูนตะปุ่มตะป่ำ แทรกแซมด้วยพืชพรรณ ตามซอกหลืบอันเว้าแหว่ง ทำให้ชาวบ้านขนานนามภูเขาริมทะเลแห่งนี้ว่า “กาโร๊ะ” ซึ่งเป็นภาษายาวี มีความหมายว่า ขี้เหร่ หรือ ไม่สวย ก่อนเพี้ยนมาเป็น “กาโรส” ในปัจจุบัน
ว่ากันว่าในอดีตชาวประมงในหมู่บ้านล่องเรือไปเจอชาวต่างชาติเข้ามาลักลอบตัดหินบริเวณภูเขา เมื่อนายอำเภอเข้าไปสำรวจความเสียหายจึงค้นพบว่า บริเวณเทือกเขาแห่งนี้ มีภาพเขียนสีโบราณอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี ขณะที่ความขี้ริ้วขี้เหร่ของพื้นผิวหยาบขรุขระนั้น บางจุดสามารถเติมแต่งจินตนาการเป็นใบหน้าของภูติผีปีศาจได้ แทบไม่ต่างจากการสร้างสรรค์ประติมากรรม ที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิแอ็บสแตรก
หลังจากมีหน่วยงานรัฐเข้าไปสำรวจ พบว่าพื้นที่บริเวณเทือกเขากาโรส สามารถประยุกต์เป็นเส้นทาง การท่องเที่ยวได้ มีความหลากหลาย ทั้งหน้าผา ถ้ำ อ่าวเล็กๆ คลองลอดไปสู่ลากูนส่วนตัว ส่วนโขดหินประหลาด ในแต่ละจุดถูกยกให้เป็นจุดขาย มีการตั้งชื่อไปตามลักษณะเด่น เช่น หุบเขาปีศาจ หินแม่มด ผีสองอารมณ์ ผีตาโขน
จากนั้นชุมชนได้จัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวชุมชนเขากาโรส โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ คอยสลับปรับเปลี่ยน นำผู้มาเยือนโดยสารไปกับเรือประมงพื้นบ้านออกไปศึกษาเส้นทางธรรมชาติ บ้างก็เพิ่มทางเลือกให้แก่นักพายฝีมือฉมังด้วยเรือแคนู
รายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวของชุมชนนับเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้ตำบลเล็กๆที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก กลายเป็นจุดหมายในสายตานักท่องเที่ยว แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้น คือ การทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงการอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่ง ตลอดจนช่วยกันดูแลสอดส่องไม่ให้ใครเข้ามาทำการประมงที่ผิดกฎหมายนั่นเอง
เขากาโรส ต.อ่าวลึกน้อย อ.อ่าวลึก จ.กระบี่