เก่งเล็กไม่เก่งใหญ่ : ไขปัจจัยทำไมเวียดนามผลงานดีในซีเกมส์แต่ไปไม่ไกลในโอลิมปิก?

Home » เก่งเล็กไม่เก่งใหญ่ : ไขปัจจัยทำไมเวียดนามผลงานดีในซีเกมส์แต่ไปไม่ไกลในโอลิมปิก?
เก่งเล็กไม่เก่งใหญ่ : ไขปัจจัยทำไมเวียดนามผลงานดีในซีเกมส์แต่ไปไม่ไกลในโอลิมปิก?

เวียดนาม นับเป็นชาติที่มีศักยภาพด้านกีฬาที่สูงในลำดับต้นๆของอาเซียน โดยเฉพาะในศึกซีเกมส์ครั้งล่าสุดที่สามารถแซงประเทศไทยขึ้นไปรั้งอันดับ 2 บนตารางเหรียญ แถมยังครองเจ้าเหรียญทองหากนับเฉพาะกีฬาสากลได้อีกด้วย

ทว่าในมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิก เกมส์ ผลงานพวกเขากลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ยิ่งใน “โตเกียวเกมส์” ที่ผ่านมา ถือเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 17 ปี จากการกลับบ้านมือเปล่า โดยไม่ได้เหรียญรางวัลแม้แต่เหรียญเดียว

สาเหตุอะไรที่ทำให้เป็นเช่นนั้น และแท้จริงแล้ววงการกีฬาเวียดนามพัฒนามากขึ้นจริงหรือ ? ร่วมหาคำตอบได้ที่ Main Stand

พระเอกแห่งซีเกมส์ 

หากใครเป็นแฟนฟุตบอลคงจะรับรู้ถึงความเก่งกาจและการพัฒนาของทีมชาติเวียดนามเป็นอย่างดีในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ทัพนักเตะ “ดาวทอง” สถาปนาตัวเองขึ้นเป็น “เจ้าอาเซียน” จากผลงานอันโดดเด่นทั้งรองแชมป์ศึกยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย 2018, แชมป์เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018, แชมป์ซีเกมส์ 2019 รวมถึงการผ่านเข้าสู่รอบ 12 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย พร้อมรั้งอันดับ 1 ของอาเซียนในฟีฟ่า แรงกิ้ง

1ขณะเดียวกันกีฬาประเภทอื่น ๆ ก็เริ่มโดดเด่นขึ้นมาเรื่อย ๆ  โดยเฉพาะในศึกซีเกมส์ การชิงชัยแห่งศักดิ์ศรีของชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นับตั้งแต่เวียดนามได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งแรก และครองเจ้าเหรียญทองได้สำเร็จ เมื่อปี 2003 หลังจากนั้นอีก 8 ครั้งต่อมา พวกเขาก็ไม่เคยหลุดจากท็อป 3 บนตารางเหรียญเลยแม้แต่ครั้งเดียว โดยแทบทุกครั้งจะเป็นรองแค่เพียงเจ้าภาพและประเทศไทยเท่านั้น 

ยิ่งครั้งล่าสุดในปี 2019 เวียดนามสามารถก้าวขึ้นมารั้งอันดับ 2 ด้วยผลงาน 98 เหรียญทอง 85 เหรียญเงิน 105 เหรียญทองแดง เป็นรองเพียง “เจ้าภาพ” ฟิลิปปินส์ (149-117-121) เท่านั้น พร้อมส่งให้ไทยตกมาอยู่ในอันดับ 3 เป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปี (92-103-123)

ที่สำคัญหากวัดกันเฉพาะกีฬาสากล เวียดนามถือเป็นอันดับ 1 ด้วยผลงาน 70 เหรียญทอง จากกีฬาอย่าง กรีฑา, ยิงธนู, มวยสากลสมัครเล่น, จักรยาน, แคนู, ฟันดาบ, ฟุตบอล, ยิมนาสติก, ว่ายน้ำ, เทเบิลเทนนิส, เทควันโด, ยกน้ำหนัก ฯลฯ

2พัฒนาการเหล่านี้ทำให้แฟนกีฬาในประเทศเริ่มมีความหวัง และมองไกลไปถึงการประสบความสำเร็จในโอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนามได้วนมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง โดยเดิมทีจะแข่งขันกันในปลายปี 2021 (แต่ถูกเลื่อนออกไปอีกปี เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19)

ทว่าผลงานใน “โตเกียวเกมส์” ที่ผ่านมานั้นแทบจะลบความฝันที่มีทั้งหมดทิ้งไป เพราะนอกจากจะเป็นอีกครั้งที่เวียดนามไปไม่ถึงฝั่งฝันแล้ว ยังนับเป็นครั้งที่ล้มเหลวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติในรอบ 17 ปี อีกด้วย

ตัวประกอบในโอลิมปิก 

ตลอดระยะเวลา 69 ปี นับตั้งแต่เข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1952 ที่ประเทศฟินแลนด์ มีนักกีฬาเวียดนามเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น ที่คว้าเหรียญรางวัลมาคล้องคอได้สำเร็จ

เจิ่น เหียว เงิน นักเทควันโดหญิง ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ก้าวแรกให้กับประเทศบนมหกรรมกีฬาระดับโลก ด้วยการคว้าเหรียญเงิน ในรุ่น 57 กิโลกรัม ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2000 

3จากนั้นเส้นทางดูเหมือนจะสดใส นับจากปี 2008 เวียดนามมีเหรียญติดมือกลับบ้านทุกครั้ง โดยปี 2008 ได้เหรียญเงินจาก ฮว่าง อัญ ต๋วน นักยกน้ำหนักรุ่น 56 กิโลกรัม ต่อด้วยปี 2012 เจิ่น เล โกว๊ก ตว่าน จะคว้าเหรียญทองแดง จากยกน้ำหนักในรุ่นเดียวกัน

กระทั่งปี 2016 ที่ประเทศบราซิล หลังเฝ้ารอมานานกว่า 64 ปี ในที่สุดเพลงชาติเวียดนามก็ได้บรรเลงกึกก้องเป็นครั้งแรก จากการคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ของ ฮว่าง ซวน วินห์ นักยิงปืนหนุ่ม ประเภทปืนลม 10 เมตร และเจ้าตัวยังพ่วงเหรียญเงินในประเภท 50 เมตรด้วยอีกรายการ

4ทว่า 5 ปีต่อมาที่โตเกียว พวกเขากลับบ้านมือเปล่า…

โอลิมปิกเกมส์ 2020 เวียดนามส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันทั้งสิ้น 18 คน จาก 11 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย ว่ายน้ำ, ยกน้ำหนัก, ยูโด, ยิงปืน, แบดมินตัน, มวย, ยิมนาสติก, เทควันโด, ยิงธนู, กรีฑา, และพายเรือ โดยตั้งความหวังไว้ว่าน่าจะมีสตาร์ตัวเก่งอย่างน้อย 1-2 ราย ที่จะได้ก้าวขึ้นโพเดียม

ฮว่าง ซวน วินห์ แชมป์เก่าเป็นหนึ่งในนั้น นักแม่นปืนวัย 46 ปี ได้สิทธิ์เข้ามาป้องกันตำแหน่งอีกครั้งด้วยโควต้ารับเชิญจากสหพันธ์ยิงปืนนานาชาติ เนื่องจากผลงานในรอบปีที่ผ่านมาย่ำแย่จนไม่ติดโควต้า และสุดท้ายก็ต้องยุติเส้นทางในโอลิมปิกเพียงรอบแรก โดยได้อันดับ 22 จากทั้งหมด 36 คน

เช่นเดียวกับ ทักห์ คิม ต๋วน (Thach Kim Tuan) นักยกน้ำหนักที่เป็นความหวังสูงสุดของชาติ จากการกวาดรางวัลมาแล้วมากมายในรุ่น 56 กิโลกรัม ทั้งแชมป์โลกปี 2017, แชมป์เยาวชนโลก ปี 2014, เหรียญทองยูธ โอลิมปิก 2010 และเหรียญทองซีเกมส์ 2 สมัย

ครั้งนี้จอมพลังวัย 27 ปี ขยับน้ำหนักขึ้นไปยกในพิกัด 61 กิโลกรัม แต่สุดท้ายก็ไม่ถูกจัดอันดับในการแข่งขัน เนื่องจากยกท่า คลีน แอนด์ เจิร์ก ไม่ผ่านทั้ง 3 ครั้ง ต้องกลับบ้านอย่างชอกช้ำ

5เบ็ดเสร็จรวมทุกสมัย เวียดนามคว้ามาได้เพียง 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง รั้งอันดับ 4 ของอาเซียน ตามหลัง ไทย (10 เหรียญทอง 8 เหรียญเงิน 17 เหรียญทองแดง), อินโดนีเซีย (8 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน 15 เหรียญทองแดง), ฟิลิปปินส์ (1 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง) และไล่เลี่ยกับ สิงคโปร์ (1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง)

“เหรียญทองจากกีฬายิงปืนโอลิมปิก 2016 เป็นกรณีพิเศษและไม่ได้สะท้อนภาพกีฬาทั้งหมดในเวียดนาม บางทีเราอาจจะอยู่ในอันดับต้น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในเวทีทวีป เวียดนามยังตามหลังอยู่มาก” ผู้จัดการด้านกีฬารายหนึ่งของประเทศที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ กล่าวกับ vnexpress สื่อดังของประเทศ

ความล้มเหลวครั้งนี้ได้สะท้อนกลับไปที่วงการกีฬาของเวียดนาม พร้อมคำถามก้อนโตว่า แท้จริงแล้วพวกเขาประสบความสำเร็จจริงหรือ ? และอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จ?

ปัญหา

การที่นักกีฬาจะประสบความสำเร็จใน โอลิมปิก เกมส์ ได้นั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือฝีมือของตัวนักกีฬาเอง แต่อีกสิ่งที่จะขาดไม่ได้และสำคัญไม่แพ้กันก็คือการสนับสนุนที่จริงจังจากภาครัฐ

นักกีฬาระดับท็อปทั่วโลกในยุคปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่นำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การฝึกซ้อม การดูแลร่างภาย โภชนาการ เวทเทรนนิ่ง ตลอดจนวิทยาศาสตร์การกีฬาต่าง ๆ

ขณะที่ เวียดนาม แม้จะถูกยกย่องว่าเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตก้าวหน้าอย่างมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดย GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ไตรมาส 2/64 มีการเติบโตถึง 6.61% โดดเด่นมากที่สุดในอาเซียน แต่การสนับสนุนด้านกีฬากลับสวนทาง… 

6“การลงทุนด้านกีฬาของเวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีจำกัดมาก โดยมุ่งเป้าไปที่ความสำเร็จในการแข่งขันระดับภูมิภาค เช่น ซีเกมส์ แต่ยังไม่ถึงระดับนานาชาติ ดังนั้น แฟน ๆ สามารถทำนายความล้มเหลวได้ก่อนที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะเริ่มขึ้นเสียอีก กีฬาเวียดนามต้องได้รับทุนสนับสนุนอย่างเหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะต้องอยู่ที่เดิมตลอดไป” ด่วน มินห์ ซวง (Doan Minh Xuong) ผู้เชี่ยวชาญด้านฟุตบอลของเวียดนาม กล่าว

ในปี 2020 เวียดนามมีรายได้จากงบประมาณของรัฐทั้งหมดสูงถึง 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.1 ล้านล้านบาท) โดยรายจ่ายส่วนใหญ่นำไปใช้กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การป้องกันประเทศ ความมั่นคง การจัดการของรัฐ การชำระหนี้ ตลอดจนการป้องกันและควบคุมโรคระบาด

ในทุกปีการกีฬาของเวียดนามจะได้งบสนับสนุนเพียงไม่กี่ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนักกีฬาเวียดนามมีรายได้เพียงวันละ 17 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 560 บาทเท่านั้น สำหรับค่าโภชนาการและการฝึกซ้อม ซึ่งไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างเช่น ในนครโฮจิมินห์ งบรายเดือนของนักกีฬาทีมชาติจะอยู่ที่ประมาณ 500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 16,500 บาท ซึ่งนั่นเพียงพอสำหรับแค่ค่าครองชีพพื้นฐานเท่านั้น 

นอกจากนี้นักกีฬาเวียดนามส่วนใหญ่ ยังต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนจากครอบครัวและความพยายามของตัวเอง เช่น เหวียน ธิ อันห์ เวียน นักว่ายน้ำสาวเบอร์ 1 ของประเทศ เจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ 25 เหรียญ ที่ต้องฝึกซ้อมเองโดยไม่มีโค้ชมาเป็นเวลากว่าครึ่งปีก่อนลงแข่งขันในโอลิมปิก ส่งผลให้มีผลงานย่ำแย่ แตะขอบสระเป็นอันดับสุดท้าย จนต้องยุติเส้นทางเร็วกว่ากำหนด

7หรือแม้แต่ เหวียน ทุ่ย ลิน นักแบดมินตันดาวรุ่ง ที่มีทักษะดีแต่ขาดความแข็งแกร่ง และไม่ได้รับการฝึกฝน รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีดั่งเช่นนักกีฬาระดับท็อปของประเทศควรจะได้

ด้าน เหวียน ฮง มินห์ อดีตคณะกรรมการกีฬา ที่มีส่วนสำคัญต่ออุตสาหกรรมกีฬาของเวียดนามมากว่า 40 ปี เชื่อว่า การขาดการสนับสนุนทางการเงินนับเป็น “โรคเรื้อรัง” ในวงการกีฬาเวียดนามมาอย่างยาวนาน 

และแม้ว่านักกีฬาจะพยายามอย่างเต็มที่ขนาดไหน แต่ก็ไม่สามารถลดช่องว่างกับคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่งจากประเทศอื่นได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการตั้งเป้าหมายถึงเหรียญโอลิมปิกจึงไม่เป็นจริง

“เราต้องยอมรับความจริงอันเจ็บปวดว่า เวียดนามล้มเหลวในการแข่งขันโอลิมปิก 2020 เพราะปัญหาเดิม ๆ ปัญหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนากีฬาในเวียดนามที่มีมาหลายสิบปีแล้ว และยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างละเอียด” 

“เราไม่มีการเตรียมพร้อมในระยะยาว มันต้องมีการจัดการที่ยอดเยี่ยม สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ​​การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันอย่างเหมาะสม เช่น โภชนาการ การฝึกอบรม การฟื้นฟู และการรักษาอาการบาดเจ็บ กระบวนการเหล่านี้ต้องโฟกัสไปที่การลงทุน ซึ่งหมายถึงการสนับสนุนทางการเงินจำนวนมาก” 

“โอลิมปิกเป็นการแข่งขันระดับสูง ไม่ใช่การแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาคอย่างซีเกมส์ นักกีฬา 11,500 คน ที่แข่งขันกันในโตเกียวส่วนใหญ่เป็นแชมป์ระดับทวีป ที่ได้ฝึกฝนในประเทศที่มีวัฒนธรรมด้านกีฬาที่แข็งแกร่ง เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร รัสเซีย จีน เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอื่น ๆ แต่เราขาดเงินทุนสำหรับการฝึกซ้อม และนี่คือสาเหตุหลักของความล้มเหลวในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก” เหวียน ฮง มินห์ เผย

ทางออก

หากมองที่สาเหตุข้างต้น เป็นที่แน่ชัดว่าปัญหาหลักที่ทำให้เวียดนามไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในโอลิมปิกก็คือเรื่อง “เม็ดเงิน” และการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ยังไม่ดีพอ

8ประเทศเวียดนาม ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว และมีตำแหน่งสำคัญ 4 ตำแหน่ง ที่ช่วยกันบริหารประเทศ ได้แก่ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์, นายกรัฐมนตรี, ประธานาธิบดี และประธานสภาแห่งชาติ

แต่สิ่งที่พวกเขาแตกต่างจากจีนและเกาหลีเหนือก็คือ แม้จะมีการผูกขาดทางการเมืองแต่ก็ไม่มีการผูกขาดทางด้านเศรษฐกิจ โดยธุรกิจในเวียดนามเกือบทั้งหมดดำเนินการในตลาดเสรีที่มีการควบคุมของรัฐบาลเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น 

สิ่งนี้ช่วยดึงดูดให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนและค้าขายด้วย จนทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่านักลงทุนเหล่านั้นจะมาลงทุนสนับสนุนด้านกีฬา

ขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้ถูกกุมบังเหียนไว้ในมือของใครคนเดียวเหมือนประเทศคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ที่จะมีอำนาจสั่งการให้ทุ่มงบประมาณสนับสนุนการกีฬาได้เต็มที่เมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการ

เหวียน ฮง มินห์ จึงแนะนำว่า ควรจะต้องหาหน่วยงานด้านเอกชนมาช่วยสนับสนุนให้มากขึ้น เมื่อกีฬากลายเป็นเรื่องของสังคม และถ้าสามารถระดมการลงทุนจากแหล่งต่าง ๆ ได้ ก็จะทำให้มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการพัฒนา

“ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ได้รับทุนทรัพย์มากมายจากการสนับสนุนทางสังคมและภาคเอกชน สิ่งนี้ได้กลายเป็นเส้นทางการพัฒนาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับกีฬาระดับโลก แต่ไม่ใช่ในเวียดนาม ถึงเวลาแล้วที่สหพันธ์กีฬาในเวียดนามต้องเปลี่ยนมุมมองและวิธีการปฏิบัติงานเสียใหม่ เพื่อระดมการสนับสนุนจากสังคมให้มากขึ้น” เหวียน ฮง มินห์ เผย

ผลพวงจากการถูกหมางเมินจากภาครัฐ ยังทำให้เกิดปัญหาด้านทรัพยากรนักกีฬาที่มีจำนวนจำกัด 
เมื่อไม่มีเงินสนับสนุน พวกเขาก็ไม่มีเงินทุนที่จะใช้สนับสนุนนักกีฬาในหลาย ๆ ประเภทให้ได้ดีไปพร้อมกัน และเยาวชนในประเทศส่วนใหญ่ก็เลือกเดินเส้นทางอื่นที่ได้รับผลตอบแทนและดูมีอนาคตสดใสมากกว่า 

อดีตหัวหน้าคณะนักกีฬาทีมชาติเวียดนามในโอลิมปิก เกมส์ ยังคงเชื่อมั่นว่า ประเทศของเขานั้นมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ หากใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นไปที่การเลือกฝึกนักกีฬาที่มีฝีมือโดดเด่นและเป็นจุดแข็งในบางชนิดกีฬาแทน

9“ผมต้องบอกก่อนว่ามาตรฐานคุณสมบัติของนักกีฬาเวียดนามนั้นไม่ได้สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เรามีนักกีฬาดี ๆ เพียงไม่กี่คน และในแง่ของระดับโอลิมปิก พวกเขายังตามหลังคู่แข่งอยู่มาก”

“เวียดนามเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่มีศักยภาพจำกัด ไม่สามารถแข่งขันกีฬาได้เทียบเท่ากับประเทศใหญ่ที่แข็งแกร่งได้ ดังนั้นกลยุทธ์ของเราคือการเลือกกีฬาที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถแข่งขันเพื่อชิงเหรียญรางวัลมาได้”

“เรามีนักกีฬาที่มีความสามารถจำนวนมาก เช่น ยกน้ำหนัก ศิลปะการต่อสู้ ว่ายน้ำ กรีฑา ยิมนาสติก และยิงปืน แต่เราขาดเงินทุนในการฝึกนักกีฬาหลายร้อยคนสำหรับกิจกรรมเหล่านี้” เหวียน ฮง มินห์ ทิ้งท้าย

แม้จะมีปัญหาภายในมากมาย แต่ยังเป็นที่น่าจับตาว่าในอนาคต หากเวียดนามที่กำลังก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจหันมาให้ความสำคัญด้านกีฬาอย่างจริงจังมากขึ้น วงการกีฬาของพวกเขาจะเติบโตและพัฒนาขึ้นได้มากขนาดไหน หรือจะต้องทนอยู่กับปัญหาเหล่านี้ไปตลอดอีกหลายสิบปี

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ