เก็บตัวอย่างน้ำตก ก่อนโค้งขึ้นดอยสุเทพ หลังพบปนเปื้อน 7 วันทราบผล

Home » เก็บตัวอย่างน้ำตก ก่อนโค้งขึ้นดอยสุเทพ หลังพบปนเปื้อน 7 วันทราบผล



รุดเก็บตัวอย่างน้ำตก ก่อนโค้งขึ้นดอยสุเทพ หลังหมอหม่องชี้ปนเปื้อน คาด 7 วันรู้ผล ด้านเจ้าของโพสต์โต้ เชื้ออีโคไลสูง เสี่ยงโรค ถ้าแนวสาวกพระบิดา คงรับได้

วันที่ 15 ส.ค.2565 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบหลังนพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ และนักอนุรักษ์เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ได้โพสต์ถึงน้ำตกแห่งหนึ่งก่อนขึ้นดอยสุเทพ ว่า เต็มไปด้วยเชื้ออีโคไล หรือ เชื้อที่มาจากอุจจาระนั่นเอง โดยทางเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเก็บน้ำ จำนวน 3 จุด คือ น้ำตกปีนปักป้าย น้ำตกรับเสด็จ และสะพานวัดผาลาด เพื่อตรวจหาเชื้อ โดยใช้เวลา 7 วัน

นายอรรถพล กล่าวว่า คพ.โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1(สคพ.1) ได้ประสานข้อมูลเพิ่มเติมเจ้าของโพสต์ ทราบข้อเท็จจริงว่า ข้อมูลที่นำเสนออ้างอิงจากผลการวิจัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และไม่มีข้อมูลผลการตรวจสอบ E.coli จากแหล่งอื่น

อ่านข่าว เตือนเห็นใสๆ อย่าไว้ใจ พบน้ำตก-ห้วย ก่อนขึ้นดอยสุเทพ ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระ

จากข้อเท็จจริงข้างต้น หากการโพสต์มีการอ้างอิงเฉพาะรายงานการวิจัยชิ้นดังกล่าวที่ปรากฏเฉพาะข้อมูลผลตรวจแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม (Fecal Coliform Bacteria, FCB) แต่ไม่มีผลตรวจ E.coli โดยตรง การที่ผู้โพสต์สื่อให้สาธารณชนเข้าใจว่าเป็น E.coli จะทำให้สาธารณชนสับสน เข้าใจคลาดเคลื่อนและเกิดความตื่นตระหนก จึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชนรับทราบ

การตรวจค่า E.coli เป็นพารามิเตอร์ที่กำหนดในมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มเพื่อการบริโภค ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต่างจากการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด (Total Coliform Bacteria, TCB) และแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม (Fecal Coliform Bacteria, FCB) เพื่อบ่งชี้การปนเปื้อนจากของเสียที่ออกมาจากสิ่งขับถ่ายของสัตว์เลือดอุ่นหรือมนุษย์ ซึ่งอาจมีการระบายน้ำเสียจากชุมชนหรือครัวเรือนลงแหล่งน้ำ เพื่อนำไปสู่หาแนวทางการจัดการ

สำหรับพารามิเตอร์ปริมาณออกซิเจนละลาย (DO) ภาคสนาม มีค่า 7.24 มิลลิกรัมต่อลิตร (ค่าเป็นปกติ) ทั้งนี้ สคพ.1 ได้ร่วมประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และหากผลการวิเคราะห์พบข้อมูลคุณภาพน้ำมีเชื้อ E.Coli จะแจ้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาโดยเร็วต่อไป

ทั้งนี้ทางนพ. รังสฤษฎ์โพสต์เฟซบุ๊กว่า หลังจากให้ข้อมูลเรื่อง น้ำตก อีโคไล มีคนออกมาแย้งว่า E.coli ไม่ใช่เชื้อก่อโรค ไม่เป็นอันตรายกับคน ก็ถือว่าถูกต้อง เพราะโดยทั่วไป E coli เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้มนุษย์โดยธรรมชาติ (normal flora) ไม่ใช่เชื้อก่อโรคโดยตรง จะมีบางสายพันธุ์เท่านั้น (EHEC) ที่เป็นอันตราย เกิดลำไส้อักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ แต่พบไม่บ่อย

อย่างไรก็ดีการมี E.coli ในปริมาณสูง กรณี น้ำตกรับเสร็จนี้ คือ 92,000 โคโลนี ต่อ น้ำ 100 ml – โดยมาตราฐานน้ำใช้ ต้องไม่เกิน 126 , มาตราฐานน้ำดื่ม = 0) มันเป็นตัวชี้วัดว่า มีการปนเปื้อนจากอุจจาระ มนุษย์หรือสัตว์ ซึ่งอาจมีเชื้อโรคอื่นๆ ปะปน ที่เราไม่ได้ตรวจวัด เช่น แบคทีเรียลำไส้อักเสบ salmonella shigella โปรโตซัว Giardia หรือ ไวรัส ตับอักเสบ A เป็นต้นได้ แต่ถ้าเป็นแนวสาวกพระบิดา ก็คงรับได้กับ E.coli

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ