![เกิดอะไรขึ้น? นักวิจัยกังวล เกาหลีใต้ กำลังเผชิญภาวะวิกฤต "กิมจิ" หายไปจากประเทศ เกิดอะไรขึ้น? นักวิจัยกังวล เกาหลีใต้ กำลังเผชิญภาวะวิกฤต "กิมจิ" หายไปจากประเทศ](https://s.isanook.com/ns/0/ud/1927/9638090/gew.jpg?ip/crop/w1200h700/q80/jpg)
สำนักข่าว รอยเตอร์ส รายงานว่า คุณภาพและปริมาณของกะหล่ำปลีในเกาหลีใต้ ที่นำมาใช้ทำเมนูยอดนิยมอย่าง “กิมจิ” กำลังลดลง จากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
กิมจิ กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนักวิทยาศาสตร์, เกษตรกร และ ผู้ประกอบอาหาร ต่างกล่าวว่า คุณภาพและปริมาณของกะหล่ำปลีดองที่นำมาทำเป็นอาหารยอดนิยมนี้กำลังลดลง เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น
เนื่องจากกะหล่ำปลีจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่เย็นกว่า และมักปลูกในพื้นที่ภูเขา ซึ่งอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญในการปลูกกะหล่ำปลีนั้นแทบจะไม่เคยสูงเกิน 25 องศาเซลเซียสแต่การศึกษาแสดงให้เห็นว่า สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามพืชผลเหล่านี้อย่างมาก จนทำให้เกาหลีใต้อาจไม่สามารถปลูกกะหล่ำปลีได้ในอนาคตจากความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น
อี ยอง-กยู นักพยาธิวิทยาพืชและนักไวรัสวิทยา กล่าวว่า “เราหวังว่าคำทำนายเหล่านี้จะไม่เป็นจริง กะหล่ำปลีชอบสภาพอากาศเย็นและปรับตัวให้เข้ากับช่วงอุณหภูมิที่แคบมาก อุณหภูมิที่เหมาะสมคือระหว่าง 18 ถึง 21 องศาเซลเซียสเท่านั้น”
ในไร่นาและในครัว ทั้งเชิงพาณิชย์และในครัวเรือน เกษตรกรและผู้ผลิตกิมจิต่างสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยมีการทำกิมจิจากผักชนิดอื่นๆ เช่น หัวไชเท้า, แตงกวา และ ต้นหอม แต่ที่ได้รับความนิยมยังคงเป็นกิมจิที่ทำจากกะหล่ำปลีอี ฮา-ยอน ผู้ได้รับตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านกิมจิจากกระทรวงเกษตร อธิบายถึงผลกระทบของอุณหภูมิที่สูงขึ้นว่า รากของกะหล่ำปลีจะเละและเน่าเสีย
เธอเสริมว่า “หากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป เราอาจต้องเลิกทำกิมจิกะหล่ำปลีในช่วงฤดูร้อน”
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติของรัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่า พื้นที่ปลูกกะหล่ำปลีบนที่สูงในปีที่แล้วมีพื้นที่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว โดยลดลงจาก 8,796 เฮกตาร์ (เกือบ 55,000 ไร่) เหลือเพียง 3,995 เฮกตาร์ (เกือบ 25,000 ไร่)
ขณะที่ตามรายงานของสำนักงานพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านการเกษตรของรัฐ ระบุว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดการณ์ว่า พื้นที่เพาะปลูกจะลดลงอย่างมากภายใน 25 ปีข้างหน้า เหลือเพียง 44 เฮกตาร์ (275 ไร่) และภายในปี 2090 จะไม่มีการปลูกกะหล่ำปลีบนพื้นที่สูงอีกเลยนักวิจัยระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้น ฝนตกหนักที่คาดเดาไม่ได้ แมลงศัตรูพืชที่ควบคุมได้ยากขึ้น และฤดูร้อนที่อบอุ่นและยาวนานขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้พืชผลลดลง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมกิมจิของเกาหลีใต้ ซึ่งเดิมทีกำลังต่อสู้กับการนำเข้ากิมจิราคาถูกจากจีนอยู่แล้ว
ข้อมูลศุลกากรที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 ก.ย. แสดงให้เห็นว่า การนำเข้ากิมจิจากต่างประเทศจนถึง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2024 เพิ่มขึ้น 6.9% เป็น 98.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 พันล้านบาท) ในปีนี้ ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากจีน ทำให้นักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งพัฒนาพันธุ์กะหล่ำปลีที่สามารถเติบโตได้ในสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น และทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและการติดเชื้อ
เกษตรกรอย่าง คิม ซี-กัป วัย 71 ปี ที่ทำงานในไร่กะหล่ำปลีทางตะวันออกของคังนึงมาตลอดชีวิต กลัวว่าพันธุ์กะหล่ำปลีเหล่านี้จะมีราคาแพงกว่า และอาจมีรสชาติที่ไม่ค่อยดี เผยว่า “เมื่อเราเห็นรายงานที่บอกว่า ในอนาคตจะมีช่วงเวลาที่เกาหลีใต้ไม่สามารถปลูกกะหล่ำปลีได้อีกต่อไป มันเป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่าเศร้าในเวลาเดียวกัน”
“กิมจิกำลังจะกลายเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถนำมาเสิร์ฟบนโต๊ะได้อีกแล้ว เราจะทำอย่างไรหากสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง?”