พวกเขาคือเจ้าฟุตบอลอาเซียน รองแชมป์เอเชีย และเจ้าของเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2 สมัย รวมถึงเคยผ่านเข้าไปเล่นในโอลิมปิก รอบสุดท้ายที่มิวนิค ประเทศเยอรมันตะวันตก
แต่วันนี้มันกลับเหลือเพียงแค่อดีต เกิดอะไรขึ้นกับ พม่า อดีตยอดทีมของเอเชีย ? ร่วมค้นหาคำตอบกับ Chronicles
พื้นฐานจากญี่ปุ่น
ฟุตบอลถือเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมมาของ เมียนมา หรือ พม่า ในอดีต มันเป็นกีฬาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และถูกนำเข้ามาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1880s สมัยที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จากนักสำรวจที่ชื่อว่า เจมส์ จอร์จ สก็อต
คนพม่าค่อนข้างเปิดรับกีฬาชนิดนี้ เนื่องจากมันมีลักษณะคล้ายกับ “ชิ่นโล่น” กีฬาพื้นบ้านของพวกเขา ซึ่งเป็นการเตะลูกหวายขึ้นไปบนอากาศ (คล้ายตะกร้อวงของไทย) และทำให้มันแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว
“ความนิยมของฟุตบอลได้กระจายไปทั่วทั้งประเทศพม่า ทั้งในหมู่คนพม่าและชาวยุโรป มันได้รับความนิยมมาก” นักเขียนชาวอังกฤษบันทึกไว้ในปี 1910
Photo : adcochrane.wordpress.com
หลังจากนั้น ฟุตบอลก็กลายเป็นกีฬาที่คนเล่นกันทุกหัวระแหง ไม่ว่าจะเป็นในตรอกซอกซอยกรุงย่างกุ้ง, ค่ายทหารอังกฤษ หรือในโรงเรียนของมิชชั่นนารี แต่ก็เป็นแบบไม่มีทิศทาง จนกระทั่งการมาถึงของ อู ควอ ดิน ที่เป็นเหมือนผู้วางรากฐานให้กับฟุตบอลพม่า
เขาเป็นคนพม่าที่เกิดในปี 1900 แต่ได้ย้ายไปอยู่ที่ญี่ปุ่น และได้มีโอกาสเป็นโค้ชให้กับทีมฟุตบอลในโรงเรียนมัธยมปลายญี่ปุ่น ในช่วงทศวรรษที่ 1920s แถมยังพาทีมคว้าแชมป์ระดับประเทศ รวมถึงยังได้คุมทีมระดับมหาวิทยาลัยเช่นกัน
เขาคือคนที่เอาเทคนิคการเล่นบอลสั้นมาปรับใช้กับฟุตบอลญี่ปุ่น และมีส่วนสำคัญที่ทำให้การเล่นฟุตบอลของชาวซามูไรเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น หลังเพิ่งก่อตั้งสมาคมฟุตบอลในปี 1921
Photo : JFA
นอกจากนี้ ในปี 1923 ควอ ดิน ยังได้เขียนหนังสือสอนการเล่นฟุตบอลที่ชื่อว่า “How to Play Association Football” ที่ทำให้มันเป็นเหมือนไบเบิลของนักฟุตบอลและโค้ชชาวญี่ปุ่น ในยุคนั้น จนทำให้เขาได้รับการบรรจุเข้าไปอยู่ในหอเกียรติยศของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นในปี 2007
เช่นกันสำหรับชาวพม่า หนังสือ How to Play Association Football ได้กลายเป็นคัมภีร์ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตนักฟุตบอลพม่าฝีเท้าดีในเวลาต่อมา
Photo : BT SPORTS
หลังจากนั้นฟุตบอลกับชาวพม่า ก็กลายเป็นสิ่งที่คู่กัน พวกเขาก่อตั้งสมาคมฟุตบอลในปี 1947 หรือหนึ่งปี ก่อนได้รับเอกราช ก่อนจะมาบูมอย่างมาก หลังสมาคมฯ เปิดตัว States and Divisions Football Tournament หรือศึกชิงแชมป์ระดับประเทศในปี 1952
แต่คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่ฟุตบอลของพม่าจะรุ่งเรืองไปกว่าทศวรรษที่ 1960s
ยุคทองของฟุตบอลพม่า
ฟุตบอลของพม่า เรียกได้ว่าเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังได้รับเอกราช จนกระทั่งในปี 1954 ความสำเร็จแรกในระดับนานาชาติของพวกเขาก็มาถึง เมื่อสามารถคว้าเหรียญทองแดงมาคล้องคอได้สำเร็จ ในกีฬาเอเชียนเกมส์ ที่ฟิลิปปินส์
แต่นั่นเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น เมื่ออีก 11 ปีต่อมา ภายใต้การนำของ อู เซง ไหลง์ กุนซือระดับตำนาน ก็ทำให้ พม่า ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของเอเชีย และไปไกลถึงระดับโลก
เมื่อขุนพล “เทวดาขาว” ที่มีที่มาจากชุดแข่งของทีมในช่วงนั้น คือหนึ่งในทีมสุดแกร่งของภูมิภาคและทวีป พวกเขาเดินหน้าคว้าความสำเร็จมาประดับตู้โชว์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแชมป์ซีเกมส์ 5 สมัย แชมป์เอเชียนเกมส์ 2 สมัย และรองแชมป์เอเชียนคัพอีก 1 สมัย
นอกจากนี้ในปี 1972 พวกเขายังทำให้โลกได้รู้จักชื่อของ “พม่า” เมื่อสามารถผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโอลิมปิก รอบสุดท้ายที่ มิวนิค ประเทศเยอรมันตะวันตก แถมยังเก็บชัยชนะกลับมาได้หนึ่งนัด
Photo : Medium | Matt Roebuck
กุญแจของความสำเร็จของพม่าในยุคนั้น คือการเต็มไปด้วยนักเตะฝีเท้าดี ไม่ว่าจะเป็น สุข บาฮาดูร์ ดาวยิงกัปตันทีม เจ้าของฉายา “เปเล่แห่งพม่า”, เมียว วิน ญุน ที่เล่นได้ทั้งกองหลังและกองกลางตัวรับ หรือ อ่อง ทิน ผู้รักษาประตูจอมหนึบ จนทำให้ทีมยุคนี้ถูกขนานนามว่า “ยุคทองของพม่า”
“เรารู้ว่าคุณคือมหาอำนาจของเอเชีย เราจึงอยากมาที่นี่เพื่อเรียนรู้จากคุณ” บ็อบ แคป โค้ชของ ดัลลัส ทอร์นาโด สโมสรในสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงฟุตบอลพม่า ตอนพาทีมมาเตะในปี 1967
ในขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ พม่า ทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง และสามารถยืนหยัดอยู่ในแถวหน้าของเอเชีย คือความเป็นนักสู้ และความมุ่งมั่นในชัยชนะอยู่เสมอ
Photo : Exhibits – UNT
“นักเตะยุคปัจจุบันเก่งนะ แต่พวกเขาต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และมีความปรารถนา ย้อนกลับไปตอนนั้น เราอาจจะไม่ได้มีรายได้มาก แต่เรามีความปรารถนาที่จะชนะ” อู่ บา พู อดีตปีกซ้ายของทีมในยุคทองแห่งพม่า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 70 กว่าปี กล่าวกับ Mizzima Business Weekly
ในขณะที่ อู เอ มาว จี อดีตกองกลางของขุนพลเทวดาขาว ที่รับใช้ทีมชาติในช่วงปี 1966–74 ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็น ประธานบริหารของ ชเวกาบิน ยูไนเต็ด สโมสรในเมียนมา เนชั่นแนลลีก ก็เห็นด้วยในเรื่องนี้
“มันเป็นการแข่งขันของทีม เรามีนักเตะที่เล่นร่วมกันได้ดีและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว เรามีความเข้าใจกันและกันและมีสปิริต” อดีตผู้บริหารกล่าวเสริม
“เป้าหมายของเราคือต้องการชนะเสมอ เราประสบความสำเร็จเพราะสิ่งนี้ เพื่อประเทศของเรา”
อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นไม่นาน ความสำเร็จของพวกเขาก็กลายเป็นแค่อดีต
เทวดาตกสวรรค์
ว่ากันว่าความสุขมักอยู่กับเราได้ไม่นาน ความรุ่งเรืองของฟุตบอลพม่าก็เช่นกัน ยุคทองของพวกเขา เริ่มต้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960s แต่หลังจากปี 1974 พวกเขาก็ไม่สามารถกลับมาอยู่ในจุดเดิมได้อีกเลย
เหตุผลสำคัญมันเริ่มตั้งแต่การรัฐประหารของนายพลเนวิน ในปี 1962 ต่อเนื่องมาจนถึงตอนที่เขาได้เป็นประธานาธิบดีในปี 1974 ที่ทำให้ พม่า กลายเป็น “ฤๅษีแห่งเอเชีย” จากนโยบายที่เกือบจะเรียกได้ว่าปิดประเทศ ด้วยเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเอง และติดต่อกับต่างชาติเท่าที่จำเป็น ซึ่งสิ่งนี้ก็ส่งผลกระทบต่อฟุตบอลของพวกเขาในเวลาต่อมา
เนื่องจากในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970s ถือเป็นยุคบุกเบิกของนักเตะเอเชียกับการย้ายไปเล่นในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็น วิทยา เลาหกุล ของไทยที่ย้ายไป ยันมาร์ ดีเซล (เซเรโซ โอซากา ณ ปัจจุบัน) ในปี 1977 และ แฮร์ธา เบอร์ลิน ในปี 1979 หรือ ยาสุฮิโกะ โอคุเดระ นักเตะชาวญี่ปุ่นที่ย้ายไป เอฟซี โคโลญจน์ ของเยอรมันในปี 1977
Photo : Goal
แต่สำหรับพม่า นโยบายโดดเดี่ยวตัวเองของพวกเขากลายเป็นอุปสรรคสำหรับเรื่องนี้ มันทำให้พวกเขาทำได้เพียงเล่นอยู่ในประเทศ ที่ทำให้แม้ว่าพวกเขาจะมีนักเตะฝีเท้าดีแค่ไหน แต่ถ้าขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มาตรฐานโดยรวมก็ไม่สามารถสู้ชาติอื่น ๆ ได้
“ในตอนที่ฟุตบอลเมียนมาถูกโดดเดี่ยว เราต่างทำได้เพียงแข่งกันเอง ในขณะที่ผู้เล่นจากประเทศอื่นเริ่มย้ายไปเล่นในต่างประเทศ” อู เอ มาว จี อธิบายกับ Mizzima Business Weekly
“ในยุคสมัยของเรา เราดีกว่าไทยเสียอีก แต่พวกเขาเรียนรู้ที่จะพัฒนาฟุตบอลของพวกเขา พวกเขาสร้างอคาเดมีพิเศษ ด้วยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศอย่าง เบ็คเคนเบาเออร์ อคาเดมี”
Photo : Medium | Matt Roebuck
นอกจากนี้ การที่ไม่ได้ลงเล่นในการแข่งขันระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่องหลังปี 1974 ไม่ว่าจะเป็น เอเชียนคัพ ที่ไม่ได้ลงเตะในรอบคัดเลือกอีกเลยตั้งแต่ปี 1972 หรือฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกที่ไม่ได้เข้าร่วมเลย จนถึงปี 1990 ก็มีส่วนขัดขวางการพัฒนาฟุตบอลของประเทศ
“เราซ้อม ซ้อม และซ้อม และถ้าเราไปแข่ง และอาจจะแพ้ 1 หรือ 2 ลูก โอเค เราไม่เป็นไร แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราแพ้เยอะ เราอาจจะอายตัวเอง รัฐบาลอาจจะโกรธ ฟุตบอลจะหยุด และเราก็จะจบ มันคือความกังวลของเรา” อู เอ มาว จี ให้ความเห็น
“ทีมของเราไม่แข็งแกร่งมานานมาก ดังนั้นเราจึงไม่ไปไหน”
“ผมคิดว่า พวกเขา (ผู้มีอำนาจในวงการฟุตบอล) อยากจะรักษาภาพว่าเราคือชาติที่เก่งฟุตบอล ถ้าเราออกไปเล่นทีมเยือนแล้วแพ้ ผู้คนก็จะถามว่าเกิดอะไรขึ้น นั่นคือสิ่งที่สมาคมฟุตบอลของเรากำลังทำ”
Photo : xtratime.org
ในขณะเดียวกัน ด้วยนโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเอง ทำให้เม็ดเงินที่จะเข้ามาสนับสนุนฟุตบอลมีน้อยมาก บวกกับการบริหารงานของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ทำให้พม่าประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ก็ทำให้งบประมาณในส่วนนี้ที่น้อยอยู่แล้ว ยิ่งน้อยลงไปอีก
“ผมคิดว่าบางทีเราอาจจะมีปัญหาเรื่องเงินด้วย บางทีพวกเขาอาจจะคิดว่าในขณะที่ทีมของเราไม่ได้อยู่ในระดับสูง การไปเล่นเป็นทีมเยือน อาจจะเสียเงินเปล่า” เมียว วิน ญุน กล่าว
ทำให้หลังปี 1974 พม่า มีฟอร์มการเล่นที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ผลงานที่ดีที่สุดของพวกเขาคือการคว้าเหรียญทองแดงในฟุตบอลซีเกมส์ 1975 และ 1977 ส่วนนอกนั้นมักจะลงเอยด้วยการตกรอบแรกเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้วงการฟุตบอลของพวกเขาตกต่ำ
โครงสร้างพื้นฐานที่ล่มสลาย
อันที่จริงความสำเร็จก่อนหน้านั้นของพม่า ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ มันเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ปี 1961 หลังผงาดคว้าแชมป์ เอเอฟซี ยูธคัพ ที่กรุงเทพฯ และกลายเป็นปฐมบทที่ทำให้พวกเขาเป็นเจ้าในรายการนี้ ด้วยการคว้าแชมป์อีก 7 สมัยใน 11 ปี
แน่นอนว่าความสำเร็จเยาวชน ได้ส่งผลไปถึงทีมชุดใหญ่ เมื่อนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดีหลายคน จะถูกดันขึ้นมารับใช้ทีมชาติ และมันก็ทำให้ พวกเขามีนักเตะใช้งานอย่างไม่ขาดมืออยู่กว่าทศวรรษ
Photo : Frontier Myanmar
“ในช่วงเวลานั้นนักเตะในทีมชาติทุกคนล้วนมาจากระดับฟุตบอลที่ต่างกัน ประเภทแรกคือพวกนักเตะเยาวชน ส่วนประเภทหลังคือนักเตะระดับเขตและตำบล” เมียว วิน ญุน อธิบาย
“การพัฒนาทักษะและเทคนิคของพวกเขาสู่เยาวชนทีมชาติหรือทีมชุดใหญ่จึงถูกสร้างขึ้นมาอย่างช้า ๆ”
“ด้วยทัวร์นาเมนต์ที่มากมาย ทำให้เรามีประสบการณ์ในการแข่งขันมากขึ้น และนี่คือองค์ประกอบสำคัญในความสำเร็จของเราในเวลาต่อมา”
“อีกปัจจัยหนึ่งคือโรงเรียนสอนฟุตบอลของเรา นักเรียนทุกคน ทุกโรงเรียน และการแบ่งชั้นเรียน จะมีพื้นฐานมาจากส่วนสูงมากกว่าอายุ”
“เรายังมีทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลมัธยมปลายในระดับรัฐและระดับที่แบ่งแยกไปด้วยการเลือกนักเตะที่เก่งที่สุดให้มาอยู่ที่ย่างกุ้ง และเป็นตัวแทนของภูมิภาค นักเตะที่โดดเด่นจริง ๆ จะถูกค้นพบและเข้าไปสู่ทีมในลีกของประเทศ”
Photo : Frontier Myanmar
อย่างไรก็ดี การหายไปของโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970s ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้วงการฟุตบอลของพม่าต้องล่มสลาย
“สักช่วงหนึ่งระหว่างปี 1970-74 นี่แหละ พวกเขาก็หยุดไป” เมียว วิน ญุน กล่าวต่อ
“มันมีการทะเลาะวิวาทกันระหว่างโรงเรียนในทัวร์นาเมนต์ ผมคิดว่าพวกเขา (ผู้จัดการแข่งขัน) กังวลว่ามันอาจจะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ทัวร์นาเมนต์จึงต้องหยุด”
อู บา พู เห็นด้วยว่าการยกเลิกทัวร์นาเมนต์ระดับเยาวชน ทำให้ยุคทองของทีมชาติพม่าต้องสิ้นสุดลง แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ตั้งข้อสังเกตว่าการหายไปของพื้นที่สำหรับเล่นฟุตบอลในเขตเมือง อันเนื่องมาจากการพัฒนาพื้นที่ที่อยู่อาศัยในกรุงย่างกุ้ง ก็มีส่วนไม่น้อยที่ทำให้การพัฒนาของพวกเขาต้องชะงัก
Photo : Medium | Matt Roebuck
“ครั้งหนึ่งมันเคยมีพื้นที่เล่นฟุตบอลดี ๆ มากมายในเมือง แต่ในช่วงกลางทศวรรษที่ 70 นักพัฒนาเมืองได้เริ่มสร้างเมืองทับมัน กระทรวงกีฬาก็ไม่ได้ทำอะไร และตอนนี้สนามที่มีก็เป็นแบบไม่มีหญ้า” อดีตปีกซ้ายทีมชาติพม่ากล่าว Mizzima Business Weekly
“เราจะประสบความสำเร็จได้อย่างไรถ้าเราขาดโครงสร้างพื้นฐาน ย้อนกลับไปตอนนั้น เรามีนักเตะดี ๆ เพราะเราได้เรียนรู้จากการแข่งขัน ตอนนี้นักเตะเยาวชนอยากเล่นฟุตบอลแต่พวกเขาไม่มีที่ให้เล่น”
และมันก็ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความมืดมนอยู่หลายสิบปี
อนาคตต่อจากนี้
แม้ว่าพม่าจะเริ่มกลับมาลงเตะในเวทีระดับนานาชาติอีกครั้งในปี 1996 หรือ 8 ปีหลังการลาออกของนายพลเนวิน แต่การห่างหายไปจากการแข่งขันระดับสูงกว่า 20 ปี ทำให้ฟุตบอลของพวกเขาตามหลังชาติอื่นไปมาก
เมื่อหลังจากนั้น พม่า หรือภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เมียนมา ไม่เคยเข้าใกล้ความสำเร็จเดิมได้อีกเลย ไม่ว่าจะเป็นการตกรอบคัดเลือกเอเชียนคัพทุกครั้งที่เข้าร่วม เช่นกันกับฟุตบอลโลกและโอลิมปิก ในขณะที่ซีเกมส์ แม้จะมีเหรียญติดมือ แต่ก็ไม่เคยไปได้ถึงเหรียญทองแม้แต่ครั้งเดียว
อย่างไรก็ดี พวกเขายังไม่ยอมแพ้ ในปี 2009 เมียนมา เพิ่งจะก่อตั้ง เมียนมา เนชั่นแนลลีก ลีกอาชีพแบบเต็มตัวลีกแรกของพวกเขาได้สำเร็จ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตนักเตะฝีเท้าดีสู่ทีมชาติ
Photo : ABS-CBN News
“ก่อนปี 2009 เรายังเล่นฟุตบอลสมัครเล่นกัน แต่ตอนนี้เราเป็นมืออาชีพแล้ว สปอนเซอร์ส่วนใหญ่สนใจสโมสรของเรา และจ่ายเงินให้สูงมาก” เมียว วิน ญุน ที่เป็นอาสาสมัครควบคุมการแข่งขัน เมียนมา เนชั่นแนลลีก กล่าว
ในขณะเดียวกัน พวกเขายังโฟกัสไปที่รากฐาน นั่นคือการสร้างนักเตะเยาวชน และกำลังได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทั้ง ฟีฟ่า ที่ให้เงินสนับสนุนสำหรับการสร้างอคาเดมี หรือ บริติชเคานซิล ที่นำผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษ มาช่วยอบรมโค้ช
“ในรอบ 10 ปี เราต้องมีทีมชาติหรือทีมเยาวชนที่สามารถแข่งขันได้จริง ๆ คุณต้องเริ่มจากฐาน และสร้างเส้นทางที่นำไปสู่ทีมชาติได้” เมียว วิน ญุน กล่าวต่อ
Photo : FIFA U-20 World Cup
และมันก็เริ่มผลิดอกออกผล เมื่อทีมเยาวชนของเมียนมา เริ่มทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในเวทีระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก U20 ที่นิวซีแลนด์ เมื่อปี 2015 รองแชมป์ AFF U19 เมื่อปี 2018 หรือรองแชมป์ AFF U16 เมื่อปี 2015
แม้ว่าวันนี้มันอาจจะยังไม่ใกล้เคียงกับความรุ่งโรจน์ในอดีต แต่พวกเขาก็กำลังเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มุ่งมั่นในสิ่งที่กำลังทำอยู่ และเพื่อหวังว่าวันหนึ่งจะกลับมาทวงบัลลังก์ได้อีกครั้ง
“เมียนมาหลงทางมานาน มันจึงต้องใช้เวลาพอสมควรในการสร้างใหม่ ต่อจากนี้เราจึงควรโฟกัสไปกับเยาวชนของเรา” อู่ บา พู ทิ้งท้าย