กระแสชวนกันย้ายประเทศ พร้อมกับการเกิดขึ้นของกรุ๊ปเฟซบุ๊กชื่อ “ย้ายประเทศกันเถอะ” (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โยกย้าย ส่ายสะโพกโยกย้าย”) ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา กลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตกใจ เมื่อมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนคนในช่วงเวลาเพียง 3 วัน และทะลุ 1 ล้านคนแล้วในวันนี้ (13 พ.ค. 64) จนกลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ ทั้งเสียงสนับสนุนและวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคมเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม การย้ายประเทศของคนไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม เพราะตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา คนไทยโยกย้ายไปขายแรงงานและใช้ชีวิตในต่างประเทศจำนวนมาก แล้วอะไรที่ทำให้การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ครั้งนี้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เขย่าสังคมและสร้างความกังวลให้กับหลายภาคส่วน Sanook ขอร่วมมองปรากฏการณ์ #ย้ายประเทศกันเถอะ ที่กำลังสะท้อนปัญหาที่ฝังรากลึกของสังคมไทย และหาทางหนีทีไล่หากคนรุ่นใหม่จะย้ายออกจากประเทศไทยกันจริง ๆ
ปัญหามากมายทำคนรุ่นใหม่อยากย้ายประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทย เพื่อไปทำงาน เรียนต่อ ใช้ชีวิต หรือมีชีวิตคู่ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องส่วนบุคคล และเราคงไม่สามารถเหนี่ยวรั้งให้ใครอยู่ในประเทศต่อไปได้ หากเขาคนนั้นมีความตั้งใจจะย้ายประเทศ แต่หากเราลองมองให้ลึกลงไปมากกว่าเรื่องของปัจเจก เราจะพบว่ามี “ปัญหาทางสังคม” มากมายที่เป็นตัวกระตุ้นให้คนตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน ไปเสาะแสวงหา “ชีวิตที่ดีกว่า” ในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังเผชิญหน้ากับความบีบคั้นทางสังคมที่รุนแรงในปัจจุบัน
“เรามองว่ามันเป็นเรื่องการตัดสินใจของปัจเจกที่เขาอยากไป เขาก็ไป คือเราไม่ค่อยมองในเชิงโครงสร้างว่าทำไมเขาถึงอยากไป เพราะเขาหาเงินในประเทศไทยและดูแลครอบครัวไม่ได้หรือเปล่า หรือว่าสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มันไม่เอื้อให้เขาอยากอยู่ในประเทศของเราหรือเปล่า” ดร.ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดประเด็น
ขณะที่ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เขียนหนังสือเรื่อง “สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว” ก็ตั้งข้อสังเกตว่าความต้องการย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่กำลังสะท้อน 3 เรื่องด้วยกัน นั่นคือ การออกไปใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นไปได้จริง ความรู้สึกสิ้นหวังและมองไม่เห็นโอกาสว่าประเทศไทยจะปรับตัวได้ต่อโลกที่ยากขึ้น และปัญหาเฉพาะหน้าที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
“ปัญหาเศรษฐกิจของโควิด-19 รอบที่ 3 ซึ่งครั้งนี้เป็นการบอกจริง ๆ ว่าความหวังของเศรษฐกิจไทยที่จะโงหัวขึ้น ที่คิดภาพกันไว้ มันเป็นไปไม่ได้ ความหวังที่ว่าหลายอย่างจะดีขึ้น หรือรัฐบาลจะทำได้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในช่วง 1-2 ปีนี้ แล้วยังซ้ำเติมด้วยอีก 2 เรื่อง ก็คือมาตรการแก้ปัญหาโควิด-19 และเรื่องวัคซีน เหล่านี้คือปัจจัยเฉพาะหน้าที่ทำให้เขาตกใจมากว่าไม่มีความหวังแล้ว” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว
สอดคล้องกับอาจารย์ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่าปัจจัยหลักที่ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกสิ้นหวังและอยากย้ายออกจากประเทศคือ ระดับเสรีภาพของสังคมไทย ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และวัคซีนโควิด-19
“จริง ๆ คนไทยมีจินตภาพเกี่ยวกับการอยากย้ายประเทศไปอยู่ประเทศที่พัฒนาแล้วมาเนิ่นนาน มันไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ หรือไม่กี่ปีที่ผ่านมา มันเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ อยู่แล้ว คนไทยอยากย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศเพื่อเก็บเงิน เพื่อใช้ชีวิตในโลกที่พัฒนาแล้ว แต่ก็ยังไม่เข้มข้นเท่ากับยุคปัจจุบัน มันสะท้อนได้เลยว่า ปัจจัยภายในอย่างเรื่องความล้มเหลวของรัฐบาล เป็นปัจจัยสำคัญมากในการกระตุ้นให้คนอยากออกไป อยากเผ่นแน่บไปให้เร็วที่สุด” อาจารย์ติณณภพจ์ชี้
เรื่องปากท้องสอดคล้องการเมือง
แม้ความต้องการย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่ที่เข้มข้นมากในขณะนี้จะเกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันมีความเชื่อมโยงกับ “เรื่องการเมือง” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งอาจารย์ติณณภพจ์กล่าวว่า
“ทุกเรื่องในชีวิตของเรามีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับเรื่องทางการเมืองไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว สุดท้ายแล้วสาเหตุที่คุณค้าขายไม่ออก เลิกกิจการ ตกงาน ในแง่หนึ่งมันอาจเป็นผลจากโควิด-19 แต่คุณปฏิเสธไม่ได้เลยว่า รัฐบาลเองก็มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบ เพราะว่ารัฐบาลล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ถ้ารัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลย เราจะมีรัฐบาลไปเพื่ออะไร ในเมื่อเราทราบกันอยู่แล้วว่าการเลือกตั้งนำมาซึ่งรัฐบาล ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน มีหน้าที่ในการทะนุบำรุงความสุข ความกินดีอยู่ดีของประชาชน แล้วก็บรรเทาทุกข์ หรือแก้ไขปัญหา”
แน่นอนว่าการย้ายประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรืื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะเมื่อตลาดแรงงานของประเทศโลกตะวันตกกำลังเปิดกว้าง นั่นจึงทำให้ปรากฏการณ์อยากย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่กลายเป็นเรื่องที่น่ากังวล และอาจนำไปสู่ “ภาวะสมองไหล (Brain Drain)” หรือการไหลบ่าของแรงงานอย่างหนักที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ซึ่ง ดร.ภัทราภรณ์ระบุว่า หากคนที่เป็นวัยแรงงานออกจากประเทศไปเยอะ ประเทศก็จะไม่มีคนมาดูแลผู้สูงอายุในประเทศ
“เราไม่เห็นวันนี้หรอก เพราะประเทศเรายังไม่ได้ต้องการแรงงานเยอะขนาดนั้น คือมันอยู่ในช่วงการฟื้นฟูจากเศรษฐกิจหลังโควิด-19 แต่สิ่งที่จะพบคือในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อสังคมกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) กลายเป็นประเทศที่ไม่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า เราจะกลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคนแก่ คนแก่หมายถึงเขาไม่สามารถจ่ายภาษีได้ เราจะไม่มีคนที่เป็นแรงงานรุ่นใหม่ที่จะมาทำงานและเสียภาษีให้กับรัฐไทย ที่จะมาเลี้ยงดูคนแก่ในอนาคต เพราะฉะนั้นตอนนี้ เรากำลังพูดถึงอนาคตในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องตลก คนพวกนี้อาจจะยังไปไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้ามันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในเวลาไม่ช้า เขาจะไปกันมากขึ้น” ผศ.ดร.กนกรัตน์เสริม
แค่อยากออกไป ไฉนเป็น “คนชังชาติ”
ท่ามกลางความกระตือรือร้นของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากย้ายออกจากประเทศไทย เพื่อแสวงหาชีวิตใหม่ในต่างแดน ก็ปรากฏคนอีกกลุ่มที่ใช้วาทกรรม “ชังชาติ” มาตีตรากลุ่มคนอยากย้ายประเทศ ซึ่ง ผศ.ดร.กนกรัตน์ชี้ว่า หากมองให้ดีที่สุด นี่คือวิธีการของ “ผู้ใหญ่ที่รักเด็ก” หรือเป็นวิธีจัดการเด็กดื้อแบบเก่า ที่ผู้ใหญ่จะไล่เด็กออกจากบ้านเพื่อให้เด็กกลัว เมื่อเด็กไร้ที่ไปก็จะกลับมาหาผู้ใหญ่เหมือนเดิม แต่ในทางกลับกัน หากเด็กเลือกจะออกไปจริง ๆ ผู้ใหญ่จึงต้องขู่ให้กลัว และใช้กรอบวิธีคิดแบบบุญคุณ ระบบผู้ใหญ่ผู้น้อย หรือทำให้เด็กรู้สึกผิด ซึ่งวิธีนี้เคยใช้ได้ผลในรุ่นของผู้ใหญ่เหล่านี้
“แต่ถ้ามองให้เลวร้ายก็คือ เขากำลังพยายามทำให้คนที่คิดแตกต่างกับรัฐ แตกต่างกับผู้มีอำนาจ ไม่มีที่ยืนในสังคม มันคือวิธีการจัดการของรัฐไทย นั่นคือลดทอนความชอบธรรมของคนที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อชนชั้นนำไทย เพราะสิ่งที่พวกคุณกำลังทำมันน่ากลัว มันกำลังคุกคามความชอบธรรมและการดำรงอยู่ของปรัชญาฐานคิดของสังคมที่ชนชั้นสูงทำให้มันถูกต้อง คือประเทศไทยดีที่สุด ไม่มีที่ไหนดีเท่าประเทศไทย มันก็คือชาตินิยมแบบปกตินั่นแหละ มันเป็นฐานคิดที่ถูกใช้ เพื่อที่จะลดทอนความชอบธรรมของกลุ่มที่ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจของผู้มีอำนาจ และสร้างความชอบธรรมให้กับผู้มีอำนาจในสังคมว่าเขาคือผู้ที่รักชาติ แต่พวกคุณไม่ใช่” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว
การลดทอนความชอบธรรมของกลุ่มคนรุ่นใหม่สามารถสะท้อนความคิดเรื่อง “ความเป็นชาติ” ที่แตกต่างกันของคนในสังคมด้วยเช่นกัน โดยอาจารย์ติณณภพจ์มองว่า ในขณะที่คนรุ่นหนึ่งผ่านช่วงเวลาของ “การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)” ที่กล่อมเกลาให้เขายึดมั่นในความเป็นชาติ ศาสนา และสถาบันกษัตริย์ คนรุ่นใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับความคิดเชิงวิพากษ์ และเติบโตมาพร้อมกับข้อมูลที่ไม่ได้เป็นองค์ความรู้ชุดเดียวอีกต่อไป กอปรกับโลกออนไลน์ที่รวดเร็วและกระตุ้นให้คนรับข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น จึงทำให้ความคิดเรื่องความเป็นชาติของคนรุ่นใหม่มีความลื่นไหลและมีความเป็นสากลมากขึ้น
“เรามีความคิดเรื่องความรักชาติที่ไม่เหมือนคนรุ่นเก่าแล้วไง” ดร.ภัทราภรณ์เสริม “สำหรับพวกเขา ชาติคือพื้นที่ คือสถาบัน แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้มองชาติในเชิงนั้น เขามองชาติเป็นความเท่าเทียม ถ้าเรารักชาติ เราต้องทำให้คนในประเทศเราเท่าเทียมกัน มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรได้เหมือนกัน มีความยุติธรรมในสังคม แต่ตอนนี้สภาพสังคมทั้งหลายมันไม่ตอบโจทย์ แล้วโซเชียลมีเดียทำให้เขาเห็นประสบการณ์ของต่างประเทศว่า คนที่อยู่เมืองนอกใช้ชีวิตดี สวัสดิการก็มี ถนนก็เรียบ รถเมล์ก็ขึ้นง่าย อากาศดี ไม่มี pm2.5”
#ย้ายประเทศกันเถอะ คือการต่อสู้ทางการเมือง
ปรากฏการณ์อยากย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่กำลังเกิดขึ้นเป็นคู่ขนานไปกับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มอื่น ๆ ที่ใช้วิธีการ “ลงถนน” เพื่อเรียกร้องสังคมที่ดีกว่า ในแง่หนึ่งมันอาจดูเป็นการหนีปัญหาและทิ้งประเทศไทยที่กำลังบอบช้ำไว้เบื้องหลัง แต่อาจารย์ทั้ง 3 ท่าน แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ การย้ายประเทศเป็น “สิทธิ์” ของมนุษย์ทุกคนที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดและทำให้ตัวเองมีความสุขที่สุด กล่าวคือ มันอาจเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ไม่ได้แปลว่าคนกลุ่มนี้ไม่สนใจประเทศ
“มันเป็นขั้นต่าง ๆ ของการต่อสู้ทางการเมือง ปีที่แล้วเราเห็นกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ขยายตัว ซึ่งมันคือกลุ่มที่เอาไว้ตะโกนให้รัฐไทยเข้าใจว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และเราไม่พอใจเรื่องอะไร หรือแม้แต่การมีม็อบปีที่แล้ว นั่นคือขั้นแรกของการต่อสู้ ตะโกนให้เขาได้ยิน ให้รู้ว่าเรามีตัวตนอยู่จริง ๆ แต่การเกิดขึ้นของกลุ่มอยากย้ายประเทศ มันเป็นเรื่องของทางออกทางการเมือง คือในเมื่อมันยังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตอนนี้ไม่ได้ แต่ฉันไม่มีงานทำ มันเป็นทางออกระยะสั้นของคนที่ไม่พอใจในการเมือง” ผศ.ดร.กนกรัตน์อธิบาย
“ย้ายหรือไม่ย้ายไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่หากคุณกลายมาเป็นคนที่เพิกเฉยทางการเมือง เช่น ยังอยู่ในประเทศไทยนะ แต่พี่เลิกสนใจทางการเมืองแล้วค่ะ หรือย้ายไปแล้ว ก็รู้สึกว่าไม่มีเวลามานั่งสนใจการเมืองไทยหรอกค่ะ ต้องทำมาหากิน กรอบแบบนี้จะเป็นตัวการสำคัญเลยที่ทำลายความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น การย้ายหรือไม่จึงไม่สำคัญ เท่ากับว่าคุณยังคงรักษาระดับความเข้มข้นของความตื่นตัวทางการเมืองไว้ได้หรือเปล่า” อาจารย์ติณณภพจ์กล่าว
ทางออกป้องกันสมองไหล
แม้ในแง่หนึ่ง การย้ายประเทศจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่คงจะดีไม่น้อยหากสังคมไทยจะตระหนักรู้ถึงปัญหารุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า และหาทางรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นก่อนที่จะสายเกินไป ซึ่ง ผศ.ดร.กนกรัตน์ แสดงความคิดเห็นว่า รัฐไทย ชนชั้นนำไทย หรือกลุ่มทุนไทย ต้องยอมรับว่า “สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาของคนธรรมดาที่ต่อสู้เพื่อปากท้องของพวกเขา” และไม่มองว่าการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เป็นภัยคุกคาม จากนั้นรัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าสังคมนี้จะดีขึ้นได้จริง เช่น เรื่องวัคซีนโควิด-19 หรือการปลดแอกเบียร์เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่สามารถผลิตสินค้ามาสู้กับกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศได้ เป็นต้น
“แก้ยังไงก็พูดยาก แต่ขอแนะนำดีกว่าว่า อย่าไล่เขาออกไป เราเห็นผู้ใหญ่บางคนโพสต์บอกว่า อยากไปก็ไปเลย แล้วก็บอกว่าประเทศไทยนี่แหละดีที่สุด นั่นคือประเด็นของเขา แต่เขาไม่ถามว่า แล้วอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนพวกนี้อยากไป คือมาบอกว่าประเทศไทยดีที่สุดแล้ว คุณต้องรักประเทศไทย มันไม่พอ คุณไปบอกแบบนั้น คนรุ่นใหม่ก็จะถามว่า แล้วยังไง ชีวิตของฉันดีขึ้นไหม ถ้าฉันรักประเทศไทยแล้วชีวิตของฉันดีขึ้นหรือเปล่า ก็ไม่ ดังนั้น นี่ปี 2021 แล้ว เราควรเปิดกว้างได้แล้ว การที่คุณไปผลักไสคนเหล่าออกไป สมองไหลแน่นอน แล้วใครจะมาพัฒนาประเทศในอนาคต” อ.ภัทราภรณ์ตั้งคำถาม