เกษตรกร ชี้ขยับราคาไข่ไก่เหมาะสมแล้ว หลังขาดทุนมานาน-อาหารแพง จ่อเลิกเลี้ยง

Home » เกษตรกร ชี้ขยับราคาไข่ไก่เหมาะสมแล้ว หลังขาดทุนมานาน-อาหารแพง จ่อเลิกเลี้ยง


เกษตรกร ชี้ขยับราคาไข่ไก่เหมาะสมแล้ว หลังขาดทุนมานาน-อาหารแพง จ่อเลิกเลี้ยง

เกษตรกร ชี้ขยับราคาไข่ไก่เหมาะสมแล้ว หลังขาดทุนมานาน-อาหารแพง จ่อเลิกเลี้ยง หันไปทำอาชีพอื่น แนะรัฐเร่งแก้ปัญหา ควบคุมราคาอาหารสัตว์

หลัง สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ได้ประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ฟองละ 20 สตางค์ หรือที่ 6 บาทต่อแผง

วันที่ 10 ม.ค.65 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่พบ นายรังสรรค์ ตู้แก้ว อายุ 58 ปี ต.คุ้งพยอม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพื่อพูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย

โดย นายรังสรรค์ พาไปดูโรงเรือนไก่ไข่ที่อดีตเคยใช้เลี้ยงกว่า 3,000 ตัว แต่ปัจจุบันจำต้องปลดระวางไก่ออก แล้วปล่อยทิ้งร้างไว้ไม่นำไก่สาวเข้ามาเลี้ยงต่อ เหตุสู้ต้นทุนค่าอาหารไม่ไหว

นายรังสรรค์ เปิดเผยว่า ตนเริ่มต้นอาชีพเลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลามาตั้งแต่ปี 2547 และจะใช้วิธีสั่งซื้อไก่สาวมาเลี้ยงในราคาตัวละ 150 – 155 บาท แบ่งพื้นที่เลี้ยงแบบหมุนเวียนจำนวน 2 โรงเรือน โรงเรือนละ 3,000 ตัว แต่ละวันสามารถเก็บไข่ได้เฉลี่ย 4,800 ฟอง หรือประมาณ 160 แผง ขายส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ไปจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง

จนกระทั่งเมื่อประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา ราคาต้นทุนค่าอาหารสัตว์มีการขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก ประมาณกระสอบละ 350 บาท ปัจจุบันกระสอบละกว่า 400 บาท คิดเป็นต้นทุนค่าอาหารเฉลี่ย 1.80 บาทต่อไก่ 1 ตัว ซึ่งยังไม่ได้รวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ในขณะที่ราคาจำหน่ายไข่ไก่มีแต่ความผันผวนขึ้นลงตลอดทั้งปี จึงสู้สภาวะขาดทุนไม่ไหว ต้องลดปริมาณการเลี้ยงลงเหลือเพียง 1,500 ตัว เพื่อใช้มูลไก่ไปลดต้นทุนหมุนเวียนในการเลี้ยงปลาในบ่อ โดยตั้งใจว่าเมื่อครบกำหนดปลดระวางไก่รอบนี้ตนก็จะเลิกกิจการ และหันไปทำอาชีพอื่นแทน

ทั้งนี้ ตนมองว่าการประกาศปรับราคาขึ้นของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ถือว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสม เพื่อให้ราคาต้นทุนการผลิตมีความสอดคล้องกับราคาขายตามท้องตลาด เพราะเกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าอาหารมานานมากแล้ว

โดยภาครัฐควรแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการไปควบคุมราคาต้นทุนอาหารสัตว์ และไม่ควรให้ราคาไข่ไก่คละขนาดหน้าฟาร์มต่ำกว่า 75 บาทต่อแผง เพราะหากทำไม่ได้ เกษตรกรรายย่อยจะต้องล้มหายไปจากวงจรการเลี้ยงไก่ไข่ จะเหลือแต่เพียงกลุ่มนายทุนรายใหญ่ที่ควบคุมตลาด สุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ