เกษตรกรหัวหิน เพิ่มพื้นที่ปลูกสับปะรด พัฒนาผลสด ส่งตลาดต่างประเทศ

Home » เกษตรกรหัวหิน เพิ่มพื้นที่ปลูกสับปะรด พัฒนาผลสด ส่งตลาดต่างประเทศ


เกษตรกรหัวหิน เพิ่มพื้นที่ปลูกสับปะรด พัฒนาผลสด ส่งตลาดต่างประเทศ

ประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกรหินเหล็กไฟ 30 ราย เพิ่มพื้นที่ปลูกสับปะรด พร้อมพัฒนาผลสด พันธุ์เอ็มดีทู รสชาติดี หวานอมเปรี้ยว ส่งตลาดต่างประเทศ ผู้บริโภคนิยม

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.นายรุ่งเรือง ไล้รักษา ประธานศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. หมู่ที่ 11 ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เผยว่า ปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในพื้นที่ ต.หินเหล็กไฟ จำนวน 30 ราย พื้นที่กว่า 400 ไร่ บริหารจัดการในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ มีการวางแผนการผลิตร่วมกัน

ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้คุณภาพมาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาดและช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต โดยที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่จัดสรรงบประมาณให้ 3 ล้านบาท นำไปจัดซื้อรถไถและรถตักดินใช้งานภายในกลุ่ม

นอกจากนี้ทางกลุ่มยังมีแนวทางปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกสับปะรดผลสดพันธุ์เอ็มดีทูในไร่ให้มากขึ้นทดแทนพื้นที่ปลูกสับปะรดโรงงานพันธุ์ปัตตาเวีย โดยใช้ตราสัญลักษณ์ทางการค้าของ จ.ประจวบฯ คือ “สยามโกลด์”

ปัจจุบันมีราคารับซื้อสับปะรดผลสดอยู่ที่ กก.ละ 25 บาท ขณะที่สับปะรดโรงงานอยู่ที่ กก.ละ 6 บาท โดยมีตลาดรองรับสับปะรดผลสดอยู่ที่ตลาด อตก. กรุงเทพฯ และวางจำหน่ายในพื้นที่ อ.หัวหิน ที่ศูนย์การค้าบลูพอร์ต ศูนย์การค้ามาร์เก็ต วิลเลจ ศูนย์โอทอปประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) ผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

“ขณะนี้กำลังสร้างโรงเก็บรวบรวมผลผลิตสับปะรดผลสด หรือ ล้ง และพัฒนาให้ได้มาตรฐาน GMP เตรียมพร้อมสำหรับการส่งออก โดยมีตลาดประเทศจีนให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากสับปะรดผลสดพันธุ์เอ็มดีทู มีรสชาติดี หวานอมเปรี้ยวเป็นที่นิยมของผู้บริโภค การปลูกการดูแลก็ไม่ได้แตกต่างจากสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียมากนัก

อย่างไรก็ตามเกษตรกรยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเกี่ยวกับการสนับสนุนส่งเสริมช่องทางการตลาด เพราะบางส่วนยังมีความกังวลว่าเมื่อปลูกสับปะรดผลสดแล้ว จะไม่สามารถหาตลาดรองรับผลผลิตได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงตลาดยังมีความต้องการเป็นจำนวนมาก

หากเกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ในไร่ร้อยละ 20 มาปลูกสับปะรดผลสด จะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงด้านราคาจากการปลูกสับปะรด เพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูปเพียงอย่างเดียว” นายรุ่งเรือง กล่าวในตอนท้าย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ