ฮือฮาค้นพบ “ลูกแก้วใส” บนด้านไกลของดวงจันทร์-คาดเกิดจากการแระแทกชน
ฮือฮาค้นพบ “ลูกแก้วใส” – ซินหัว รายงานว่า ยานสำรวจดวงจันทร์อวี้ทู่ 2 (Yutu-2) ในภารกิจ ฉางเอ๋อ-4 ของจีน ค้นพบวัตถุทรงกลมโปร่งแสง (glass globule) ซึ่งมองเห็นด้วยตาเปล่าจำนวนสองลูกขณะทำการสำรวจด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งอาจช่วยเปิดเผยประวัติศาสตร์ในยุคแรกของการถูกกระแทกของดวงจันทร์ได้
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในสารไซเอนซ์ บูลเลติน ระบุว่ายานอวี้ทู่-2 ซึ่งเป็นยานโรเวอร์ จับภาพของลูกแก้วโปร่งแสงสองลูกเอาไว้ได้ผ่านการใช้กล้องพาโนรามา
นักวิจัยกล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่ได้รับข้อมูลด้านองค์ประกอบของวัตถุดังกล่าว แต่ลักษณะทางสัณฐานวิทยาและบริบทท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะของวัตถุเหล่านี้บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นวัตถุที่เกิดจากการกระแทก อันเป็นเศษหลอมละลายที่เกิดจากการพุ่งชน
และมีลักษณะเป็นหินอะนอร์โทไซต์ (Anorthosite) พบมากบนที่สูงของดวงจันทร์ (lunar highlands) ซึ่งก่อตัวขึ้นในทะเลแมกมาของดวงจันทร์ (Lunar Magma Ocean) ที่อาจเย็นตัวลงระหว่างเกิดเหตุอุกกาบาตพุ่งชน แต่ไม่น่าจะมาจากแหล่งกำเนิดภูเขาไฟบนดวงจันทร์หรือมาจากเทห์วัตถุของดาวเคราะห์ดวงอื่น
นักวิจัยระบุอีกว่าวัตถุที่พบนั้นแตกต่างจากลูกแก้วขนาดเล็ก (Glass beads) ที่เก็บได้จากภารกิจอะพอลโล เนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่าและมีสี และคาดการณ์ว่าลูกแก้วโปรงแสงเช่นนี้อาจมีอยู่มากมายทั่วที่สูงบนดวงจันทร์ และอาจจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคแรกในการถูกกระแทกของดวงจันทร์ได้
ยานสำรวจฉางเอ๋อ-4 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2018 และลงจอดอย่างนุ่มนวลครั้งแรกบนปากปล่องภูเขาไฟฟอน คาร์เมน (Von Karman Crater) บริเวณแอ่งขั้วใต้-เอตเคนที่ด้านไกลของดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2019 และจนถึงปัจจุบันยานอวี้ทู่ของยานฉางเอ๋อ-4 ได้เดินทางในด้านไกลของดวงจันทร์เป็นระยะทางมากกว่า 1,000 เมตรแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ครั้งแรก! ทีมนักบินอวกาศแดนมังกรส่งคำอวยพร “ตรุษจีน” จากนอกโลก (คลิป)
- จีนเปิดตัว “สเปซโอเอส 3” ระบบปฏิบัติการใหม่สำหรับยานอวกาศ