เรื่องราวของอีวา กอร์ มีจุดเริ่มต้นไม่ต่างจากผู้ตกเป็นเหยื่อเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรปคนอื่น ๆ นั่นก็คือการถูกจับกุมเพียงเพราะเป็นกลุ่มชนที่ถูกจงเกลียดจงชัง
“วันหนึ่งในปี 1944 ฉันและคนในครอบครัวถูกจับ พวกเราถูกเอาตัวขึ้นรถไฟที่ใช้บรรทุกสัตว์ พวกเราไม่ได้ดื่มน้ำหรือกินอาหาร” เธอบอกกับบีบีซีไอเดียส์ (BBC Ideas)
“พวกเขาพาเราไปโปแลนด์ และปล่อยทิ้งไว้ตรงชานชาลาที่ค่ายมรณะเอาช์วิทซ์”
จังหวะนั้นเองที่ผู้คุมคนหนึ่งเห็นความพิเศษของเธอ
“เขาเห็นฉันและมิเรียมน้องของฉัน กอดแม่แน่นไม่ยอมปล่อย”
มีการแยกตัวคนที่เพิ่งเดินทางถึงค่ายเอาท์วิทซ์ ใครที่อยู่ในข่ายอ่อนแอ จะถูกส่งตัวเข้าห้องอบแก๊สทันที ใครที่แข็งแรงก็ถูกบังคับใช้แรงงาน
แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับ ดร.โจเซฟ แมงเกเลอ และผู้ช่วยของเขา
“เขากระชากเราไปจากอ้อมแขนของแม่ ฉันจำได้ว่าฉันมองแม่ แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่า จะไม่ได้พบหน้าแม่อีกแล้ว”
- นาซีส่งทีมแกะรอยหาแหล่งที่มาของชาวอารยันในทิเบต
- นาซี : เหตุใดสวัสดิกะจึงเป็นเครื่องหมายแห่งความชิงชัง
อีวาและน้องสาววัย 10 ขวบ รอดชีวิตมาได้ เพราะทั้งสองเป็นคู่แฝดเหมือน
“บนพื้นที่สกปรกมีร่างของเด็กผู้หญิงสามคนนอนอยู่ พวกเธอไม่ได้สวมเสื้อผ้า ดวงตาเบิกโพลง มันน่ากลัวมาก ฉันไม่เคยเห็นคนตายมาก่อนเลย”
“มันสะเทือนใจฉันมาก…ฉันสัญญากับตัวเองเงียบ ๆ ว่าจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อไม่ให้มิเรียมและฉันต้องกองอยู่บนพื้นแบบนั้น และเราจะต้องไม่ตาย ต้องออกไปจากค่ายแห่งนี้โดยที่ยังมีชีวิตอยู่”
ดร. แมงเกเลอ เป็นผู้ช่วยของนักวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับฝาแฝด ที่สถาบันพันธุกรรมและสุขอนามัยทางเชื้อชาติ ในนครแฟรงค์เฟิร์ต และเริ่มทำงานในค่ายเอาท์วิทซ์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 1943
มีฝาแฝดถูกส่งมาให้ศึกษามากมายหลายคู่ และจะไม่มีปัญหาอะไรเลยหากอีวากับมิเรียมจะตายไป
ตอนที่ทำงานในค่ายเอาท์วิทซ์ ดร.แมงเกเลอ ทำการทดลองอย่างโหดร้ายกับฝาแฝดมากกว่า 1,000 คู่ และนักโทษอีกจำนวนมาก ในโครงการวิทยาศาสตร์ที่วิปริตของเขา
“พวกเขาปล่อยให้เราแก้ผ้าอยู่แบบนั้นนานหลายชั่วโมง เพื่อที่จะตรวจวัดทุกสัดส่วนของร่างกาย สิ่งนี้มันทั้งเลวร้ายและน่าละอาย”
“พวกเขาเอาเราไปตรวจเลือดที่ห้องแล็บสามครั้งต่อสัปดาห์ ฉันถูกมัดแขนทั้งสองข้างและเจาะเอาเลือดออกไปจากแขนข้างซ้าย บางทีเจาะเอาเลือดไปมากจนฉันเป็นลม พวกเขาต้องการรู้ว่าคนจะทนเสียเลือดได้มากเท่าไหร่ โดยที่ยังไม่ตาย”
“พวกเขายังฉีดยาให้เรา อย่างน้อย ๆ 5 เข็มบนแขนข้างขวาของฉัน ยาพวกนี้อันตรายถึงชีวิต”
วันหนึ่งหลังจากถูกฉีดยา อีวามีอาการป่วยหนัก
“แย่จัง เธอยังเด็กมาก แต่จะมีชีวิตอยู่ได้อีกแค่ 2 สัปดาห์’ แมนเกเลอ บอก “ฉันรู้ว่าเขาพูดไม่ผิด แต่ฉันไม่ยอมตาย”
“เพราะถ้าฉันตาย พวกเขาก็จะฉีดยาฆ่ามิเรียมให้ตายไปด้วย เพื่อจะได้ผ่าชันสูตรศพของเราเปรียบเทียบกัน”
“สองสัปดาห์ถัดจากนั้น ฉันอยู่ระหว่างความเป็นและความตาย สิ่งที่ฉันจำได้คือฉันต้องคลานอยู่บนพื้นในค่ายนั้นเพราะฉันเดินไม่ได้อีกต่อไปแล้ว”
“ระหว่างที่คลานอยู่บนพื้น ฉันก็ค่อย ๆ หมดสติ แล้วก็ฟื้นคืนมาอีก แต่ฉันบอกกับตัวเองตลอดเวลาว่า ‘ฉันจะต้องไม่ตาย ฉันต้องรอดชีวิต’”
อีวาและน้องสาวรอดชีวิตมาได้ และได้รับการปล่อยตัวจากค่ายเอาท์วิทซ์ในปี 1945
จนกระทั่งพวกเธอเดินทางกลับไปที่บ้าน
“เก้าเดือนต่อมา พวกเรากลับไปที่บ้าน เพื่อที่จะพบว่าไม่มีใครรอดชีวิตเลย เราพบภาพถ่ายยับ ๆ 3 ใบ เป็นของสิ่งเดียวของครอบครัวที่เหลืออยู่”
อีวาแต่งงานและเริ่มต้นครอบครัวในสหรัฐฯ แต่ผลจากการต้องตกเป็นเหยื่อทดลองในค่ายนาซี ทำให้สุขภาพของน้องสาวของเธอแย่ลงเรื่อย ๆ
“ในปี 1987 ฉันบริจาคไตข้างหนึ่งเพื่อช่วยชีวิตเธอ แต่เธอก็ตายไปในปี 1993 ฉันเศร้าเสียใจที่สุด เพราะเธอเป็นคนเดียวในครอบครัวที่มีชีวิตอยู่”
“ฉันรู้สึกโกรธแค้น”
เมื่อเวลาผ่านไป อีวาได้พยายามเยียวยาบาดแผลและความบอบช้ำที่เกิดกับเธอ และทำในสิ่งที่ไม่ธรรมดา นั่นก็คือการติดต่อ ฮานส์ มุนช์ หมอคนหนึ่งที่เคยประจำที่ค่ายนาซี
เธอเดินทางไปเยอรมนี ในวันที่ 20 สิงหาคม 1993 เพื่อไปพบเขา
“ฉันตื่นเต้นและกลัวมาก ตอนนั้น ดร.มุนช์ อายุ 82 ปี เขาต้อนรับฉันอย่างโอบอ้อมอารีและให้ความเคารพ ฉันแปลกใจมากที่นาซีปฏิบัติต่อฉันด้วยความเคารพ”
“ฮานส์ มุนช์ เป็นนักแบคทีเรียที่ค่ายเอาท์วิทซ์ แต่เขาก็มีงานอื่นด้วย เขายืนรอที่หน้าห้องอบแก๊ส พอมีคนตาย เขาก็จะเซ็นใบมรณบัตร ไม่มีชื่อ มีแต่หมายเลขของคนที่ถูกฆ่า”
“และเขาบอกฉันว่า ‘นั่นเป็นปัญหาของผม เป็นฝันร้ายที่ผมต้องอยู่กับมัน’
“ฉันถามเขาว่าอยากจะไปที่ค่ายเอาท์วิทซ์และกล่าวคำพูดอย่างที่เขาบอกกับฉันไหม เขาบอกว่าเขาอยากจะไป”
ดร.มุนช์ เดินทางไปที่ห้องอบแก๊สกับอีวาและเซ็นชื่อรับรองว่ามันเกิดขึ้นจริง
อีวากล่าวขอบคุณเขา
“ฉันรู้ว่าการกล่าวขอบคุณนาซีเป็นความคิดที่บ้าคลั่ง เหยื่อผู้รอดชีวิตจากค่ายเอาท์วิทซ์ขอบใจนาซี! คนคงคิดว่าฉันบ้าไปแล้ว”
“ฉันหาทางว่าจะขอบคุณเขายังไง และหลังจากเวลาผ่านไป 10 เดือน ฉันก็คิดอะไรง่าย ๆ ออก…เขียนจดหมายเพื่อยกโทษให้จากเหยื่อคนหนึ่งของค่ายเอาท์วิทซ์…ฉันรู้ว่ามันจะเป็นของขวัญที่มีความหมายสำหรับเขา”
“แต่สิ่งที่ฉันพบว่าเกิดกับฉันก็คือประสบการณ์ที่พัฒนาไปต่อจากนั้น ฉันพบว่าฉันมีพลังพอที่จะให้อภัยได้”
“ไม่มีใครจะมอบพลังนั้นให้ฉันได้ และไม่มีใครจะเอามันไปจากฉันได้เช่นกัน”
“เพื่อที่จะท้าทายตัวเอง ฉันตัดสินใจว่าฉันอาจจะให้อภัยแมนเกเลอ คนที่ทำให้ฉันตกนรกทั้งเป็นได้”
แมนเกเลอถูกทหารสหรัฐฯ จับกุม แต่หน่วยหนึ่งกองกองทัพปล่อยตัวเขา เพราะไม่รู้ว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในรายชื่ออาชญากรคนสำคัญ
เขาเคยทำงานเป็นเกษตรกรในแคว้นบาวาเรียก่อนที่จะหนีไปอาร์เจนตินาในปี 1949
แม้ทางการเยอรมนีตะวันตกออกหมายจับเขาในปี 1959 แต่แมนเกเลอยังอยู่ในอเมริกาใต้จนกระทั่งเสียชีวิตเพราะจมน้ำ หลังจากเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตก ที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งในบราซิล ในปี 1979
ศพเขาถูกฝังไว้ที่นครเซาท์เปาโล ในชื่อของวอล์ฟกัง เกอร์ฮาร์ด
แต่สำหรับอีวาแล้ว เธอพร้อมให้อภัย ไม่ว่าแมนเกเลอจะมีชีวิตอยู่หรือไม่
“มันไม่ง่ายเลย แต่ฉันรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอก ฉันรู้สึกเป็นอิสระ”
“ใครเป็นคนชี้ว่าฉัน ในฐานะคนที่เป็นเหยื่อ จะต้องรู้สึกโศกเศร้า แค้นเคือง สิ้นหวัง ไปตลอดชีวิต”
“ฉันไม่ยอมรับหรอก”
“คุณเปลี่ยนอดีตไม่ได้ สิ่งที่คุณทำได้คือเปลี่ยนสิ่งที่คุณปฏิบัติกับมัน”
“ทั้งน้องสาวและฉันต้องตกเป็นหนูทดลอง ครอบครัวของเราถูกฆ่าตายหมด”
“แต่ฉันมีอำนาจพอที่จะให้อภัยได้”
“คุณก็เหมือนกัน”
อีวาร์ กอร์ เสียชีวิตขณะมีอายุ 85 ปี ตอนที่เดินทางไปโปแลนด์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2019
………………………………..
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว