กรณีที่แชร์กันในโลกโซเชียลว่า กระดาษทิชชู 1 บาท หรือทิชชู่ที่มีราคาถูกและขายดีเกลื่อนร้านค้าออนไลน์ คือทิชชูที่ใช้แล้วนำกลับมารีไซเคิลฟอกขาว ไม่เหมาะที่จะนำมาเช็ดปาก เช็ดมือ เช็ดก้น จุดซ่อนเร้น หรือสัมผัสผิว โดยยังบอกว่า ตัวเลขลงท้าย 810 คือทิชชูรีไซเคิล แต่หากลงท้าย 808 สามารถเช็ดปากทำความสะอาดร่างกายได้นั้น
ล่าสุด ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าวในเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ระบุว่า เลขดังกล่าว คือเลขรหัส ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศจีน (GB standards) ใช้พิจารณากับกระดาษทิชชูจากจีนเท่านั้น กฎหมายบังคับให้ทำตามเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ ซึ่ง GB/T 20810-2018 เป็นมาตรฐานของ กระดาษชำระในห้องน้ำ ขณะที่ GB/T 20808-2022 เป็นมาตรฐานของ กระดาษทิชชู่ทั่วไป (เลข 2018 และ 2022 เป็นปี ค.ศ. ที่ปรับปรุงมาตรฐานนั้นล่าสุด)
เหมือนประเทศไทย ที่มีเลขรหัสมาตรฐานสำหรับกระดาษทิชชูแบบต่างๆ มอก 214-2560 สำหรับกระดาษชำระ, มอก 215-2560 สำหรับกระดาษเช็ดหน้า, มอก 239 กระดาษเช็ดมือ, มอก 240 กระดาษเช็ดปาก และ มอก 2925 กระดาษอเนกประสงค์
ถ้ากระดาษทิชชูจากประเทศจีน ห่อไหนบอกว่าผลิตตามมาตรฐาน GB/T 20810-2018 แสดงว่ามันผลิตบนมาตรฐานสำหรับ “กระดาษชำระในห้องน้ำ” และถ้าเขียนว่าผลิตตามมาตรฐาน GB/T 20808-2022 แสดงว่ามันใช้มาตรฐานสำหรับ “กระดาษทิชชูทั่วไป” แน่นอนว่าการนำไปใช้งานก็จะต่างกันด้วย คือ กระดาษชำระในห้องน้ำ ก็ไม่ได้จะมีคุณสมบัติสูง เท่ากับกระดาษที่ทำมาสำหรับเช็ดมือ เช็ดปาก เช็ดหน้า โดยเฉพาะในแง่ของมาตรฐานสุขอนามัย (hygiene standards)
ตามมาตรฐานของประเทศจีนนั้น กระดาษทิชชูทั่วไป จะผลิตจากเยื่อกระดาษชนิด “เยื่อบริสุทธฺ์ (Virgin Pulp)” เท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้เยื่อกระดาษชนิด “เยื่อเวียนใหม่ (Recycled Pulp)”
ในขณะที่ กระดาษชำระในห้องน้ำ สามารถใช้เยื่อเวียนใหม่ เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ดังนั้น กระดาษทิชชูที่ผลิตต่างมาตรฐานกัน อย่าง มาตรฐาน GB/T 20810 และ GB/T 20808 ก็จะมีทั้งวัตถุดิบที่ต่างกัน มีคุณสมบัติที่ต่างกัน รวมทั้งสารปนเปื้อนด้วย ซึ่งก็ควารนำมาพิจารณาในการเลือกซื้อเลือกใช้ ตัวอย่างเช่น กระดาษทิชชูมาตรฐาน GB/T 20808 ก็จะไม่มีพวกสารเรืองแสง (Fluorescent agent) ปนอยู่เลยเนื่องจากใช้เยื่อกระดาษใหม่ และจะความขาว ความสว่าง ต่ำกว่าด้วย เนื่องจากไม่ได้เติมสารเรืองแสงลงไป
ซึ่งถ้าซื้อกระดาษจากประเทศจีน จะเห็นเลขรหัส GB15979-2002 อีกตัวด้วย (เพิ่มจาก GB/T 20808 ) ซึ่งก็คือ มาตรฐานสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์อนามัยที่ใช้แล้วทิ้ง “Hygiene Standards for Disposable Hygiene Products” ซึ่งกำหนดให้มีเชือจุลินทรีย์ได้ไม่เกิน 200 cfu/กรัม ขณะที่กระดาษชำระในห้องน้ำ จะมีได้ไม่เกิน 600 cfu/กรัม
วิธีการเลือกซื้อกระดาษทิชชู่ให้เหมาะสม
- ควรเลือกซื้อกระดาษทิชชู่ชนิดต่างๆ ตามลักษณะงานที่จะใช้ ไม่ใช่เลือกเพราะราคาถูก และควรเลือกยี่ห้อที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี
- สังเกตรายละเอียดของผลิตภัณฑ์จากฉลาก พิจารณาถึงวัตถุดิบ วิธีการผลิต และระดับความพรีเมียม ของสินค้า
- กระดาษทิชชู่ที่ดี เนื้อต้องนุ่มละเอียด เวลาลองถูแล้ว ไม่มีเศษผง ขุยกระดาษ หรือผงแป้งออกมา ลองทดสอบความเหนียวของเนื้อกระดาษ โดยการใช้มือจับกระดาษแล้วลองดึงดูว่าขาดง่ายหรือไม่
- ลองดมกลิ่นของกระดาษ ซึ่งต้องไม่ได้กลิ่นของสารเคมีปนมาด้วย (ถ้าเป็นไปได้ จึงไม่ควรซื้อกระดาษทิชชู่ที่ใส่กลิ่นหอมมากลบ) และเวลานำไปเช็ดปาก ต้องไม่ได้รสชาติอะไรปนมา ซึ่งอาจมาจากสารเคมีปนเปื้อน