อ.เจษฎ์ ตอบชัด ๆ กินไก่ทำให้เป็น “โรคเก๊าต์” จริงหรือ? วอนเลิกเชื่อเรื่องผิด ๆ พร้อมเปิดชื่ออาหาร ที่พิวรีนสูง เสี่ยงต่อการเป็นเก๊าต์จริง ๆ
ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้ในหัวข้อ “จริงหรือ ? กินไก่แล้วจะเป็นโรคเก๊าต์” ผ่านทางรายการ SciFind EP 92 ค้นแบบวิทย์ คิดแบบ อ.เจษฎ์
โดยระบุดังนี้ ยังเป็นความเข้าใจที่ผิด ๆ ที่ฟังกันมาตั้งแต่เด็กจนโต สำหรับเรื่องกินไก่กับเก๊าต์
โรคเก๊าต์ เกิดจากการสะสมผลึกเกลือ (โมโนโซเดียมยูเรต) ในน้ำไขข้อและเนื้อเยื่อต่าง ๆ เพราะมีระดับกรดยูริกในเลือดสูง มีอาการปวดบวมที่ข้อ พบก้อนโทฟัสร่วมด้วย ทำให้เกิดอาการข้ออักเสบขึ้น
เมื่อระดับกรดยูริกอยู่ในเลือดเราสูง แล้วร่างกายขับไม่ได้ อวัยวะที่คนไทยให้ความสำคัญน้อยคือไต ถ้าไตมีปัญหากรดยูริกในเลือดสูง จะทำให้ไขข้อเราเกิดอาการบวม จุดที่เด่นสุดคือข้อนิ้วโป้งเท้า นิ้วมือ หรือตามร่างกายต่าง ๆ ซึ่งคนเป็นเก๊าต์ จะปวดตามตัวเหมือนมีเข็มตำอยู่ตลอดเวลา
การกินไก่ ไม่ได้ทำให้เป็นเก๊าต์ แต่อาหารที่ทำให้กรดยูริกในเลือดสูงมาส่วนใหญ่อยู่ในประเภทอาหารที่มี “พิวรีน” จำนวนมาก เพราะพิวรีน สามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นกรดยูริก อาหารจำพวกนี้ได้แก่ เครื่องในสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น ตับหมู เซ่งจี๊ มันสมองวัว ตับอ่อน ปลาไส้ตัน ปลาอินทรีย์ ปลาซาร์ดีน ปลาดุก ไข่ปลา กะปิ กุ้งชีแฮ หอย
เช่นเดียวกับผักธัญพืช ได้แก่ ชะอม กระถิน ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ เห็ด ยีสต์ รวมถึง เบียร์ ที่ดื่มกันก็มีพิวรีนสูง