.jpg?ip/crop/w1200h700/q80/jpg)
สาวต้มไข่ เจอเม็ดเล็กๆ สีน้ำตาล เกาะกันเป็นกลุ่มๆ อยู่ในเนื้อ “ไข่ขาว” ทำเอาไม่กล้ากิน ล่าสุด อ.เจษฎ์ โพสต์อธิบายแล้ว มันคืออะไร?
จากกรณีสมาชิกลุ่มเฟซบุ๊ก “นี่ตัวอะไร” ได้โพสต์ภาพไข่ไก่ต้ม ที่ในเนื้อของไข่ขาวมีเม็ดเล็กๆ สีน้ำตาลจำนวนมาก เกาะกันอยู่เป็นกลุ่มๆ พร้อมบรรยายว่า “ต้มไข่ไก่ทานแต่แกะเปลือกออกมา มีแบบนี้อยู่ตรงไข่ขาว 1 จุดคืออะไรคะ ไม่กลัาทานต่อเลย”
เวลาต่อมา อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์อธิบายเรื่องดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant โดยระบุว่า จากรูปดังกล่าว คิดว่าเป็น “calcium deposit” เป็นเม็ดก้อนแคลเซี่ยม ซึ่งมักจะเกิดจากแม่ไก่ มีธาตุแคลเซี่ยมสะสมในร่างกายมากเกินปรกติ แล้วทำให้ไปสะสมอยู่ในไข่ด้วย เป็นแบบเดียวกับที่หลายคนเคยเจอเป็นเม็ดเล็กๆ แบบเดียวกันนี้ แต่อยู่ที่ผิวนอกของเปลือกไข่
เคยมีการโพสต์รูปของเม็ดเล็กๆ คล้ายเม็ดกรวดทรายจำนวนมากที่พบในไข่ขาว ลงในเว็บ Reddit พร้อมกับคำถามว่ามันคืออะไร? เป็นไข่จิ๋วๆ ที่บังเอิญถูกปล่อยออกจากรังไข่ มาเป็นจำนวนมาก แล้วบังเอิญมารวมอยู่ในไข่อีกใบหรือเปล่า? หรือว่าเป็นพวกปรสิตในไข่ไก่? แต่ความจริงแล้ว ไข่ที่เพิ่งออกจากรังไข่ของไก่นั้นจะเล็กมากจนตาเปล่ามองไม่เห็น (จึงไม่ใช่สมมติฐานนี้) และมันก็ไม่ใช่ปรสิตของไก่ด้วย
แต่พวกเม็ดที่เห็นนั้น จริงๆ แล้ว คือ calcium deposit เป็นก้อนของแคลเซี่ยม ซึ่งเป็นองค์ประกอบเดียวกันกับที่กลายมาเป็นเปลือกไข่ calcium deposit นี้่บางครั้งก็ไม่ค่อยแข็ง ดูเป็นผงๆ และขัดออกได้ แต่บางครั้งก็พบที่แข็งเหมือนกับเปลือกไข่เลย และส่วนมากมักจะพบอยู่บนผิวของเปลือกไข่ แต่ก็มีพบอยู่ข้างในเนื้อไข่ อย่างภาพที่เห็น
calcium deposit จึงเหมือนกับเปลือกไข่ ที่เราอาจจะพยายามเคี้ยวกลืนเข้าได้โดยไม่เป็นอันตราย แต่แข็ง และไม่ได้น่ากินอะไร
มีหลายเหตุผลที่ทำให้ไข่เกิด calcium deposit ขึ้น ตัวอย่างเช่น แม่ไก่เกิดการตกไข่มากกว่าปรกติ (over-ovulation) ทำให้มีไข่สองฟองเกิดขึ้นพร้อมกัน แล้วแคลเซี่ยมจากฟองหนึ่งไปเกาะอยู่บนเปลือกไข่อีกฟองหนึ่ง ทำให้ไข่ใบแรกนั้นมีเปลือกบางหรือไม่มีเปลือกเลย ขณะที่ไข่ใบที่สองนี้ผิวเปลือกนอกที่หนาหยาบ และมีเม็ดเล็กๆ เกาะอยู่
หรือในกรณีที่แม่ไก่ขาดวิตามิน D3 ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซี่ยมได้ตามปรกติ เกิดภาวะขาดแคลเซี่ยมขึ้นในร่างกาย เกิดอาการป่วยหรือขาดสารอาหาร ทำให้วางไข่ที่เปลือกบางและดูเป็นตะปุ่มตะป่ำ นอกจากนี้ โรคบางโรค เช่น หลอดลมอักเสบ (bronchitis) และโรคกล่องเสียงอักเสบติดเชื้อ (laryngotracheitis) ก็ทำให้แม่ไก่วางไข่ที่มี calcium deposit เกิดขึ้นได้เช่นกัน
ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยแล้ว ไข่ไก่ประมาณ 2% จากทั้งหมด มักจะมีลักษณะที่ผิดปรกติไป บางฟองก็แทบจะสังเกตไม่เห็น ในขณะที่บางฟองก็อาจจะมีลักษณะแปลกประหลาดมาก แต่ส่วนมาก ยังสามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัย เพียงแต่รูปร่างลักษณะไม่น่ารับประทาน