อ.เจษฎา อธิบายชัด ทำไมเจอ ‘คนจมน้ำ’ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยตัวเปล่า

Home » อ.เจษฎา อธิบายชัด ทำไมเจอ ‘คนจมน้ำ’ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยตัวเปล่า

อ.เจษฎา อธิบายชัด ทำไมเจอ ‘คนจมน้ำ‘ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยตัวเปล่า ชี้ ควรลงไปก็ต่อเมื่อมีอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ เพราะไม่งั้นอาจจะพากันจมทั้งคู่

จากกรณีที่ดาราสาว แตงโม นิดา ได้เสียชีวิตขณะล่องเรือสปีดโบ๊ทกับเพื่อน ๆ ในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเป็นการลื่นตกเรือทำให้จมหายไปกลางแม่น้ำเจ้าพระยา โดยก็มีชาวเน็ตหลายท่านออกมาแสดงคิดเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับการช่วยคนที่จมน้ำ หรือกำลังจะจมน้ำ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มี.ค 65 รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ อ.เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยอ.เจษฎาได้อธิบายว่า “คนจมน้ำ ห้ามโดดลงไปช่วยครับ”

อาจจะฟังแล้วขัดกับความรู้สึก หรือความเชื่อของหลายๆ คน แต่คำแนะนำทั่วไป เมื่อพบคนจมน้ำ คือ ไม่ควรกระโดดตัวเปล่า ๆ ลงไปช่วยคนครับ จะลงไปได้ก็ต่อเมื่อมีอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ เช่นห่วงยางหรือชูชีพ เพราะคนจมน้ำอาจจะตะเกียกตะกายและเหนี่ยวรั้งคนไปช่วยจนพากันจมไปด้วย

ขอสรุปจากที่ โค้ชเป้ง “สาธิก ธนะทักษ์” นักวิทยาศาสตร์การกีฬา แนะนำไว้ในเพจสุขภาพชื่อ Ez2fit ไว้ดังนี้ครับ

  • ในออสเตรเลีย มีคนเสียชีวิตราว 5 คนต่อปี จากการกระโดดลงไปช่วยคนตกน้ำ
  • ถ้าเราไม่มีความชำนาญพอ ร่างกายไม่แข็งแรงพอ การกระโดดลงไปช่วยคนจมน้ำ กลับจะทำให้เรากลายเป็นผู้เสียชีวิตไปอีกราย
  • ถ้าคนตกน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็น จะเกิดความกลัว ตะเกียกตะกาย กอดรัดเรา ทำให้จมน้ำไปด้วย
  • คนทั่วไป ไม่น่าจะมีความแข็งแรงและทักษะพอ ที่จะสามารถพาคนจมน้ำลอยตัว หรือพาเข้าฝั่งได้
  • ต่อให้มีทักษะและร่างกายแข็งแรง ก็ยังจำเป็นที่ต้องประเมินความลึก ความแรงของกระแสน้ำ คลื่น อุณหภูมิ ทัศนวิสัย
  • ในกรณีที่จำเป็นต้องลงไปช่วย กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ได้แนะนำว่า “ห้ามให้คนตกน้ำสัมผัสคนช่วยเหลือ โดยจะลงไปได้ก็ต่อเมื่อมีอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย และใช้อุปกรณ์นั้นโยนให้คนตกน้ำจับ”
  • คำแนะนำจาก “สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ” ในการให้ความช่วยเหลือ มีหลักคือ “ยื่น โยน พาย ลาก”
    • ยื่นอุปกรณ์ให้จับ ไม่ว่าจะไม้ เข็มขัด เสื้อ
    • โยนสิ่งที่ลอยน้ำให้เกาะ เช่น ถังพลาสติก ห่วง/เสื้อชูชีพ
    • พาย ใช้พาหนะลอยน้ำ เช่น เรือ พายไปรับ
    • ลาก โยนเชือกให้เกาะแล้วดึงเข้ามา

พร้อมทั้งตะโกน หรือโทรศัพท์ให้คนช่วยได้อีกด้วย



แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ